ซีอีโอโมเดอร์นาเตือน วัคซีนโควิดประสิทธิภาพลด เมื่อเจอโอไมครอน

ซีอีโอโมเดอร์นาเตือนวัคซีนเอาไมครอนไม่อยู่
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

ผู้บริหารโมเดอร์นาเตือน วัคซีนโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์โอไมครอน 

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 แชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า “โมเดอร์นา” ผู้ผลิตยาและวัคซีน ได้เริ่มส่งสัญญาณเตือนตลาดการเงิน โดยผู้บริหารบริษัทชี้ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่น่าจะได้ผลกับสายพันธุ์โอไมครอน เหมือนกับที่เคยได้ผลกับสายพันธุ์เดลต้า

หลัง “สเตฟาน บ็องเซล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโมเดอร์นา แสดงความเห็นดังกล่าว สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบร่วงลงมากกว่า 1 เหรียญสหรัฐ ส่วนสกุลเงินออสเตรเลียร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปี และดัชนีนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลที่ว่าความสามารถในการต้านวัคซีนของโอไมครอน อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยและการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ส่งผลให้การระบาดใหญ่กินเวลายาวนานขึ้น

“ผมคิดว่าไม่มีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับเดียวกับวัคซีนป้องกันสายพันธุ์เดลต้าที่เรามี” บ็องเซล ซีอีโอโมเดอร์นาให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียลไทม์ส

“ผมคิดว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง แต่ไม่รู้ว่าลดลงมาเท่าไร เราจำเป็นต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม แต่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ผมพูดคุยด้วยบอกว่า มันน่าจะไม่ค่อยดี” บ็องเซลกล่าว

โอไมครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ได้จุดชนวนให้เกิดสัญญาณเตือนทั่วโลก หลายประเทศประกาศปิดพรมแดน จนเกิดความมืดมัวในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ในช่วงสองปี

ข่าวการระบาดของโอไมครอนทำให้มูลค่าหุ้นทั่วโลกหายไปราว 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเมื่อวันศุกร์ แม้ว่าสัปดาห์นี้จะเริ่มฟื้นตัวแล้ว เนื่องจากนักลงทุนรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอไมครอน

คำพูดของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐที่ยืนยันว่าจะไม่กลับไปล็อกดาวน์ ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง ก่อนที่ผู้บริหารโมเดอร์นาจะทำให้นักลงทุนกลับไปตื่นตระหนกอีกครั้ง

ไบเดนเรียกร้องให้เร่งฉีดวัคซีนมากขึ้น ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐเรียกร้องให้ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนอังกฤษได้ขยายโครงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ท่ามกลางความกังวลเรื่องโอไมครอน

หลายประเทศคุมเข้มการเข้าประเทศ

ความกังวลเรื่องสายพันธุ์โอไมครอนทำให้หลายประเทศทั่วโลกเพิ่มการควบคุมพรมแดน เพราะเกรงว่าจะต้องกลับไปล็อกดาวน์เหมือนปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ทางการฮ่องกงเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางสำหรับผู้เดินทางจากหลายประเทศ แต่ผู้ที่เดินทางมาจากแองโกลา เอธิโอเปีย ไนจีเรีย และแซมเบีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้ที่เคยเดินทางไปออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เยอรมนี อิสราเอล และอิตาลี ในช่วง 21 วันที่ผ่านมา จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม

ฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท โมซัมบิก นามิเบีย และซิมบับเว แล้ว

ในออสเตรเลีย นักเดินทาง 5 คน ตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เจ้าหน้าที่เผยว่าพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และตอนนี้กำลังกักตัว พร้อมระบุว่าผู้ติดเชื้อเหล่านี้ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงมากนัก

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์เผยว่า ผู้เดินทาง 2 รายจากโยฮันเนสเบิร์ก ที่แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินชางงีมีผลตรวจโควิดเป็นบวกสายพันธุ์โอไมครอน หลังเดินทางถึงนครซิดนีย์

ด้านออสเตรเลียเผยว่า มีนักเดินทาง 6 ราย ที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อโอไมครอน และเคยอยู่ในชุมชน

ทางการออสเตรเลียประกาศเลื่อนเปิดพรมแดนอีกครั้งสำหรับนักศึกษาต่างชาติและผู้อพยพและแรงงานที่มีทักษะ โดยออกคำสั่งไม่ถึง 36 ชั่วโมงก่อนที่คนเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศ

“พวกเราดำเนินการสิ่งนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่ตามมุมมองของเราแล้ว โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่สามารถจัดการได้” เกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียกล่าวในการแถลงข่าว

ข้อจำกัดและข้อกังวล

มีรายงานการพบเชื้อโอไมครอนครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปัจจุบันโอไมครอนได้แพร่กระจายไปกว่าสิบประเทศแล้ว

WHO เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาความเสี่ยงเพื่อปรับมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ทั่วโลกใช้ ได้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางวัคซีน

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ชาวแอฟริกาไม่ควรถูกกล่าวโทษกรณีที่แอฟริกามีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ และพวกเขาไม่ควรถูกลงโทษจากการค้นพบและแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพให้กับโลก

อินเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกและได้รับการอนุมัติให้จัดหาวัคซีนโควิดให้กับหลายประเทศในแอฟริกา เผยว่า อินเดียพร้อมที่จะเร่งส่งวัคซีนให้แอฟริกาเพิ่มเติม ส่วนจีนได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาควัคซีน 1 พันล้านโดสให้แอฟริกา