จีนเด็กเกิดใหม่ ต่ำสุด 40 ปี โจทย์ใหญ่สั่นคลอนเศรษฐกิจ

เด็กจีน

อัตราการเกิดใหม่ของประชากรจีนดิ่งต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี สะท้อนปัญหาวิกฤตด้านขาดแคลนแรงงาน รวมถึงสัญญาณเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

ปีนี้นับเป็นปีลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของเศรษฐกิจจากกรณีวิกฤตอสังหาฯเอเวอร์แกรนด์ รวมถึงโควิดที่ทำให้การส่งออกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเพียงปัญหาระยะสั้น หากเทียบกับประเด็นอัตราประชากรเกิดใหม่ที่จะส่งผลในระยะยาวต่อจีน ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก

บิสซิเนส อินไซเดอร์รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า อัตราการเกิดใหม่ของพลเมืองจีนอยู่ที่เพียง 8.5 คนต่อประชากร 1,000 คน นับเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่ที่จีนเคยเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2521

“นโยบายลูกคนเดียว” คือต้นตอของปัญหานี้ แม้รัฐบาลปักกิ่งจะสั่งยกเลิกในปี 2559 ทว่า ด้วยเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตขึ้น สังคมเมืองที่ขยายตัว ทำให้การเลี้ยงลูกในจีนมีราคาแพงกว่ายุคก่อน ประกอบกับผู้หญิงมาให้ความสำคัญด้านอาชีพการงานมากขึ้น สอดคล้องของธนาคารโลกที่เปิดเผยว่า ประชากรจีนที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี ลดลงตั้งแต่ปี 2553

เกรก บอตแฮม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จีนจาก “แพนธีออน แมโครอีโคโนมิกส์” ประเมินว่า 5-10 ปีนับจากนี้ ประเด็นเรื่องประชากรจีนและผลผลิตที่เริ่มชะลอตัว จะเข้ามาเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน

หากนึกถึงวาทะอันโด่งดังที่ว่า “เมื่อจีนจาม เศรษฐกิจโลกจะเป็นไข้” สัญญาณประชากรชะลอตัวนี้คงไม่ใช่แค่ปัญหาภายในของจีน

นับตั้งแต่ปฏิรูปเศรษฐกิจปี 2521 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปี เศรษฐกิจจีนคิดเป็นกว่า 17% ของจีดีพีโลก และมีส่วนแบ่งการค้าโลกอีก 15% ประกอบกับการลงทุนผ่านเส้นทางสายไหมยุคใหม่ การชะลอตัวของแรงงานจีน อาจทำให้การลงทุนในต่างแดนอาจเริ่มชะลอตัว ส่อกระทบโดยตรงต่อชาติกำลังพัฒนา

“การเติบโตเศรษฐกิจจีนที่ช้าลงจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลที่ตามมาคืออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น” ห่าว โจว นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของคอมเมิร์ซแบงก์กล่าว

ด้วยสถานะโรงงานโลก สินค้าราคาถูกของจีนได้ช่วยรักษาอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกให้อยู่ในระดับคงที่ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อแรงงานน้อยลง นั่นหมายถึงค่าแรงที่สูงขึ้น แม้จะเป็นเรื่องดีของแรงงาน แต่จะกระทบต่อเงินเฟ้อที่แข็งค่าขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บอตแฮมกล่าวว่า ข้อสันนิษฐานเงินเฟ้ออาจยังคงห่างไกล แต่ที่แน่ ๆ เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐอย่างที่หลายคนคาดการณ์ อนาคตจีนอาจเดินทางเดียวกับญี่ปุ่น กล่าวคือ ประชากรสูงอายุทำให้การเติบโตช้าในระดับคืบคลาน แม้จีนจะเข็นนโยบายเพื่อพ้นกับดักประชากร แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากค่าครองชีพ สูง ผู้หญิงรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีความคิดวางแผนชีวิตครอบครัวด้วยตัวเอง

สอดคล้องกับ เหอ ตัน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและวิจัยประชากรจีน เตือนว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับประชากรในประเทศจีน ที่จะเข้าสู่การเติบโตแบบติดลบ