จีน ให้คำมั่น ยกระดับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จีน ให้คำมั่น ยกระดับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ภาพจาก pixabay

จีนให้คำมั่นทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศจีน ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างมั่นคง ในการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

การประชุมสิทธิมนุษยชนใต้-ใต้ (South-South Human Rights Forum) เป็นการประชุมซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี และในปี 2564 เป็นการจัดงานครั้งที่สาม ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้หัวข้อ “ประชาชนต้องมาก่อน และธรรมาภิบาลด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก”

ในจดหมายแสดงความยินดีกับการจัดงาน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เน้นย้ำว่า แนวทางปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนมีความแตกต่างหลากหลาย และจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมค่านิยมร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

ความสำเร็จของจีนในด้านสิทธิมนุษยชน

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเลือกและควรเลือกเส้นทางการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

เขากล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ พร้อมกับย้ำว่าแนวคิดประชาชนต้องมาก่อน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศ

ADVERTISMENT

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนมีความก้าวหน้าในการยกระดับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการบรรเทาความยากจน

“ขณะนี้ชาวจีนรู้สึกว่าได้รับประโยชน์ มีความสุข และมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นในแง่ของการปกป้องสิทธิมนุษยชน” นายสี จิ้นผิง กล่าว

ADVERTISMENT

นับตั้งแต่จีนปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2521 ประชาชนในชนบทกว่า 770 ล้านคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของจีน ก็ได้รับการฉุดขึ้นมาเหนือเส้นแบ่งดังกล่าว โดยข้อมูลนี้ระบุไว้ในสมุดปกขาวว่าด้วยความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการสร้างความเจริญระดับปานกลาง ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานสารนิเทศของสภาแห่งรัฐจีน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สมุดปกขาวดังกล่าวระบุว่า จีนสามารถบรรเทาความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติ ได้เร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี

ในเดือนกันยายน จีนได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน (ปี 2564-2568) โดยแจกแจงเป้าหมายและภารกิจเกือบ 200 ประการ ครอบคลุมตั้งแต่สิทธิและมาตรฐานการครองชีพ การมีส่วนร่วมของสาธารณชนในด้านการตัดสินใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

ความร่วมมือใต้-ใต้ในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น ประเด็นการรับมือกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลังยุคโควิดของประเทศกำลังพัฒนา จึงกลายเป็นวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า ความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเทคนิคและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ถือเป็นโครงการริเริ่มอันยิ่งใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านความเป็นเอกภาพ

เมื่อครั้งที่จัดการประชุมสิทธิมนุษยชนใต้-ใต้ ครั้งแรกในปี 2560 นายสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำว่าการยกระดับสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้หากปราศจากความพยายามร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของประชากรโลกทั้งหมด

จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งนอกจากจะมีการเจรจาทางการเมืองและการสร้างความร่วมมือทางการเงินแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญผ่านโปรแกรม โครงการ และแนวคิดริเริ่มต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ

นับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 จีนได้สนับสนุนประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระยะยาวกับประเทศเหล่านี้

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนสนับสนุนความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation Assistance Fund) ที่จัดตั้งขึ้นโดยจีน ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศนับสิบแห่งเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนรวมกว่า 100 โครงการ ในกว่า 50 ประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนกว่า 20 ล้านคน

ในการประชุมปีนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้สำรวจความเป็นไปได้ของระบบสิทธิมนุษยชนระว่างประเทศในอนาคต ท่ามกลางความท้าทายอันเป็นผลมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์หรือออฟไลน์เกือบ 400 คน ทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักการทูตจากกว่า 100 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ