เงินเฟ้อสหรัฐแตะ 7% พุ่งสุงสุดรอบ 40 ปี

Photo by Robyn Beck / AFP

เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งพรวดรวดเดียวตามคาด มากที่สุดในรอบหลายสิบปี ตัวเลขเดือน ธ.ค. แตะระดับ 7%

วันที่ 13 มกราคม 2565 กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม พุ่งแตะระดับที่ 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2525 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากระดับ 6.8% ในเดือนพฤศจิกายน 2564

ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังไม่รวมถึงราคาอาหารและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น พุ่งขึ้น 5.5% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% จากระดับ 4.9% ในเดือน พ.ย. ซึ่งถือว่าปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี

Photo by Stefani Reynolds / AFP

อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาพุ่งพรวดรวดเร็วที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของชาวอเมริกันตลอดช่วงปี 2654 ที่ผ่านปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายประการ ตั้งแต่ราคารถยนต์ ค่าอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนค่าเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่การอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ กลับยิ่งกระตุ้นให้มีความต้องการสินค้าและข้าวของต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

ไบรอัน ไพรซ์ หัวหน้าฝ่ายการจัดการลงทุนของ Commonwealth Financial Network ให้ความเห็นต่อเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า การเปิดเผยรายงาน CPI ประจำเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นถึง 7% ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนบางรายถึงกับตะลึง เนื่องจากยังไม่เห็นตัวเลขที่สูงขนาดนั้นในรอบเกือบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม หลายคนคาดหวังว่าอาจได้เห็นปฏิกิริยาดังกล่าวของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ลดลง

อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาที่เผชิญในสหรัฐเท่านั้น แต่ประเทศในกลุ่มยูโรโซน ต่างก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมเพิ่มสูงขึ้น 5% เช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเก็บบันทึกมา

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ปัจจัยใหญ่สุดของภาวะเงินเฟ้อคือความไม่เท่ากับระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ประกอบกับปัญหาซัพพลายเชนที่ประสบปัญหาคอขวดอย่างหนัก โดยมองว่าเงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ซึ่งช่วยให้ชาวอเมริกันกลับไปใช้สอยในภาคบริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างอุปสงค์อุปทานลงได้ ทั้งช่วยแก้ไขปัญหาซัพพลายเชนไปได้พร้อมกัน