COVID ZERO สั่นคลอน “ฮับการเงิน” ฮ่องกง

ฮ่องกง

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง นับเป็นเป็นเพียงไม่กี่พื้นที่ในเอเชียที่รอดพ้นวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 จากทั้ง 4 ระลอก ด้วยนโยบายคุมเข้มตามยุทธศาสตร์ “โควิดเป็นศูนย์” (COVID Zero) ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกับที่รัฐบาลจีนปักกิ่งใช้คุมการระบาดของโควิดในแผ่นดินใหญ่ แต่สถานะของฮ่องกงต่างจากแผ่นดินใหญ่ ด้วยความที่เป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” ของเอเชีย นโยบายคุมโควิดแบบเข้มข้นที่รัฐบาลฮ่องกงกำลังปฏิบัติอย่างเคร่งครัดนี้อาจกำลังทำให้ฮ่องกงสูญเสียสถานะสำคัญทางเศรษฐกิจนี้

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน เป็นปัจจัยเขย่ายุทธศาสตร์โควิดซีโร่ จากความยากลำบากในการควบคุมและไม่แสดงอาการ นอกเหนือจากการสั่งปิดบาร์ ยิม โรงภาพยนตร์แล้ว “โควิดซีโร่” ยังกระทบต่อธุรกิจฮ่องกง มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอันเข้มงวด โดยเฉพาะภาคค้าปลีกและร้านอาหาร ขณะเดียวกันทั้งสองภาคธุรกิจก็เผชิญปัญหาซัพพลายเชนตึงตัวจากการลดเที่ยวบินซึ่งภาคค้าปลีกเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าทางอากาศจากการที่ต้องนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากต่างแดน

ช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ภาคธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากการคลายข้อจำกัด ทว่าเมื่อฮ่องกงเจอโอมิครอน ส่อเค้าให้หลายธุรกิจพลาดเป้าโกยกำไรจากการใช้จ่ายช่วงตรุษจีน โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้วการจับจ่ายของทั้งสองเซ็กเตอร์มีมูลค่าถึง 3.26 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง

แต่ตัวเลขปีนี้อาจเลวร้ายที่สุดกว่าช่วงเกิดเหตุประท้วงเมื่อปี 2018 เสียอีก เนื่องจาก “ห่วงโซ่โลจิสติกส์กำลังพังทลาย” คือสิ่งที่บรรดาเอกชนทั้งภาคค้าปลีกและร้านอาหารกำลังกังวล เนื่องจากกฎคุมเข้ม ด้านโควิดที่สอดคล้องกับแผ่นดินใหญ่ แต่ฮ่องกงยังต้องพึ่งพาสินค้านำเข้า สินค้าหลายอย่างที่แผ่นดินใหญ่หาให้ไม่ได้

ฮ่องกงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์มาตั้งแต่ระบาดช่วงแรก ๆ แม้รอดพ้นจากโควิดหลายสายพันธุ์ ทว่ามาตรการนี้กำลังสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของพลเมือง ฮ่องกงบังคับให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศต้องเข้ากักตัว 21 วัน กระทั่งตัดสินใจยอมลดเหลือ 14 วัน มีผลบังคับใช้ 4 ก.พ.นี้เป็นต้นไป แม้จะลดวันกักตัว แต่ก็ยังถือว่าเข้มงวดต่อวันกักตัวท่ามกลางชาติอื่นในเอเชียที่ลดวันกักตัวไม่ถึง 14 วันแล้ว

หอการค้ายุโรป เปิดเผยในรายงานว่า ฮ่องกงอาจไม่เปิดพรมแดนจนถึงต้นปี 2024 หรือจนกว่าวัคซีนโควิดชนิด mRNA ของจีนจะพัฒนาแล้วเสร็จและแจกจ่ายอย่างทั่วถึง นั่นทำให้บรรดาธุรกิจต่างชาติในฮ่องกง กำลังพิจารณาย้ายฐานลงทุนหรือสำนักงานออกจากฮ่องกง

เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจเขตพิเศษ หลังเที่ยวบินที่เดินทางมายังฮ่องกงลดลงมากถึง 90% ในเดือน ม.ค. 2565“เราคาดว่าจะเกิดการอพยพของชาวต่างชาติ ซึ่งอาจจะเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของฮ่องกง และเป็นหนึ่งในครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคในประวัติศาสตร์” หอการค้ายุโรประบุ

ด้านหอการค้าอเมริกันในฮ่องกง ได้เปิดเผยผลสำรวจช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ผลพวงจากการคุมเข้มเดินทาง ทำให้บรรดาบริษัทเอกชนในฮ่องกงกังวลมากที่สุด เนื่องจากความยุ่งยากจากการกักตัว ผู้ตอบแบบสำรวจ 44% มีแนวโน้มย้ายสำนักงานจากฮ่องกง เสี่ยงต่อภาวะสมองไหลของพนักงานและผู้บริหารจำนวนมาก บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่มีแผนย้ายฐานสำนักงาน และฐานการลงทุนไปยังเมืองอื่นในเอเชียแทน

“เอ็กซ์แพท” หรือชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คือกลุ่มใหญ่ของต่างชาติที่ทำงานในตำแหน่งสูงในฮ่องกง “บริทาเนีย ซีบรี” หนึ่งในเอ็กแพทชาวออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวต่างชาติที่ตัดสินใจหันหลังให้ฮ่องกง เธอลาออกจากงานในตำแหน่งทนายความบริษัทการเงิน ที่แม้ค่าตอบแทนจะสูงลิ่วถึงขั้นเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมย่านหรูของเมืองได้ แต่เธอเลือกกลับไปประเทศบ้านเกิด แทนที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อภายใต้ข้อจำกัดโควิด

“ไต้หวัน” เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ของทั้งชาวฮ่องกง และเอกชนที่มีแผนย้ายที่ทำการบริษัท จำนวนชาวฮ่องกงที่ย้ายไปไต้หวันเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากข้อมูลสำนักตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน เผยว่า ในปี 2021 ชาวฮ่องกง 11,173 คน ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถพำนักในไต้หวันได้ เพิ่มขึ้น 3.3% หากเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 1991

ประกอบกับไต้หวันมีแผนเศรษฐกิจการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการย้ายถิ่นฐานของต่างชาติมากขึ้น บวกกับการเมืองภายในฮ่องกงที่สืบเนื่องจากการประท้วง ทำให้ชาวฮ่องกงต้องการย้ายหนีไปต่างแดนมากขึ้น

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับการตรวจโควิดด้วยตนเอง พร้อมเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ฮ่องกงยังคงพึ่งพามาตรการบังคับตรวจ บังคับกักตัว มอบอำนาจให้ตำรวจดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนมาตรการโควิด แม้ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์พยายามเสนอมาตรการอยู่ร่วมกับโควิดแบบที่ตะวันตกทำ ก็อาจเสี่ยงถูกดำเนินคดีฐานบ่อนทำลายความมั่นคงภายใน จึงดูเหมือนว่านโยบาย COVID Zero ในฮ่องกง เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าวิทยาศาสตร์