ชาติยุโรปตื่นแห่ซื้ออาวุธพุ่ง หลังความสัมพันธ์รัสเซียเสื่อมถอย

Photo by jody amiet / AFP

รายงานเผย ชาติยุโรปแห่ซื้ออาวุธมากสุดกว่าภูมิภาคอื่นของโลก นับตั้งแต่ความสัมพันธ์รัสเซียถดถอย สหรัฐครองแชมป์ชาติขายอาวุธเบอร์หนึ่งยอดสั่งซื้อพุ่ง

วันที่ 14 มีนาคม 2565 สำนักข่าว DW ของเยอรมนีรายงานว่า สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศในกรุงสตอกโฮล์ม ของสวีเดน (SIPRI) เผยรายงานที่ระบุว่า

บรรดาชาติในกลุ่มยุโรปมีการนำเข้าอาวุธพุ่งสูงแบบก้าวกระโดดถึง 19% ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคใดของโลก นับตั้งแต่ที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียเสื่อมถอย ก่อนหน้าการเกิดวิกฤตการณ์ยูเครนในปัจจุบัน แม้การค้าอาวุธทั่วโลกหดตัวลง 5% ก็ตาม

ปีเตอร์ เวซมัน นักวิจัยจาก SIPRI กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยรุนแรงระหว่างรัฐส่วนใหญ่ในยุโรป กับรัสเซียนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยุโรปนำเข้าอาวุธมากขึ้น โดยเฉพาะในรัฐที่อุตสาหกรรมอาวุธของตนไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด”

เอียน แอนโทนี ผู้อำนวยการ SIPRI เผยกับ DW ว่าตัวเลขการซื้ออาวุธล่าสุดสะท้อนถึงการตอบสนองของยุโรปต่อการผนวกคาบสมุทรไครเมียของรัสเซียในปี 2557 และการรุกรานของรัสเซียในภูมิภาค Donbas “สิ่งที่คุณเห็นสะท้อนในตัวเลขตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการในอดีต” แอนโทนีกล่าว

รายงานระบุว่า อังกฤษ, นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของยุโรป ขณะที่ยูเครนนำเข้าอาวุธสำคัญในจำนวนจำกัดอย่างยิ่ง แม้จะเป็นช่วงที่เกิดความตึงเครียดกับรัสเซียก่อนเกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกเมื่อเดือนที่แล้ว

“นอกจากนี้ รัฐอื่น ๆ ในยุโรปยังคาดว่าจะนำเข้าอาวุธเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญตลอดทศวรรษหน้าอีกด้วย โดยล่าสุดได้สั่งซื้ออาวุธสำคัญลอตใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องบินรบจากสหรัฐ” SIPRI ระบุ

ทั้งนี้ สหรัฐยังคงเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็น 39% ของทั้งหมด จากเดิม 32% ส่วนรัสเซียซึ่งเป็นชาติส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 มียอดขาดลดลงถึง 26%

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อธิบายได้ด้วย คำสั่งซื้ออาวุธจากเวียดนามและอินเดีย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซียลดลง เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นต้องรัดเข็มขัดจากการระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม นักวิจัย SIPRI คาดว่าอินเดียจะกลับมาซื้ออาวุธจำนวนมากจากรัสเซียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่เยอรมนี เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกแต่การส่งออกอาวุธลดลง 19% ในช่วง 5 ปี และการส่งออกอาวุธของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก เพิ่มขึ้นมากถึง 59%

แอนโทนียังมองว่า ความขัดแย้งจะมีผลที่ตามมานอกเหนือจากการค้าอาวุธในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือ ผลกระทบจากสงครามในยูเครนซึ่งจะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์และการทหารของยุโรปไปอย่างสิ้นเชิง

“ผลของสงครามในยูเครนจะเป็นตัวกำหนดว่าแนวความสัมพันธ์ระหว่างนาโต้ กับรัสเซียจะถูกวาดใหม่ คำถามคือจะเป็นไปรูปแบบใด”