วิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบราคาอาหารโลกพุ่ง 22%

ตปท.

สถานการณ์สู้รบระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ราคา “น้ำมันดิบโลก” ที่พุ่งสูงเท่านั้น แต่ยังทำให้ราคาอาหารทั่วโลกมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 22% และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผู้คนจะประสบภาวะอดอยากเพิ่มมากขึ้น

บลูมเบิร์กรายงานว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ออกรายงานฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2022 ระบุว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนกำลังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบอาหารทั่วโลก และคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะยาวนานไปจนถึงปี 2023

การปะทะกันระหว่างสองชาติทำให้การส่งออกสินค้าอาหารและการเกษตรของทั้งสองประเทศต้องหยุดชะงักลง จากระบบการขนส่งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ พื้นที่ทางการเกษตรของยูเครนที่ถูกทำลายหรือไม่สามารถเพาะปลูกได้ รวมถึงข้อจำกัดการส่งออกของรัสเซีย

“ฉู ตงหยู” ผู้อำนวยการเอฟเอโอ ระบุว่า “รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ยูเครนก็เป็นรายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก โดยทั้งสองประเทศส่งออกข้าวบาร์เลย์รวมกันคิดเป็น 19% ของการส่งออกทั่วโลก ขณะที่ข้าวสาลีคิดเป็น 14% และข้าวโพด 4% ซึ่งโดยรวมแล้วการส่งออกธัญพืชของสองชาติมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของการส่งออกทั่วโลก”

นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนยังเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าการเกษตรอื่น ๆ อย่างน้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันเรปซีด (rapeseed) รวมถึงปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยมียุโรปและเอเชียกลางเป็นผู้นำเข้าหลัก

เอฟเอโอประเมินว่า สถานการณ์การสู้รบจะทำให้ยูเครนสูญเสียผลผลิตจากพื้นที่เพาะปลูกราว 20-30% ทั่วประเทศในปีนี้ ทั้งจากที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้หรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งการอพยพหนีภัยสงครามของชาวยูเครนยังทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ขณะที่ภาคเกษตรของรัสเซียแม้ไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ แต่ก็ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เนื่องจากมาตรการแซงก์ชั่นที่หลายประเทศประกาศ ส่วนภาคเกษตรทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลมายังราคาอาหารที่ต้องปรับตัวขึ้นตาม

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดของรัสเซียและยูเครนรวมกันคาดว่าจะลดลงถึง 25 ล้านตัน ขณะที่การส่งออกเมล็ดพืชน้ำมันลดลงราว 3 ล้านตัน ทำให้ปริมาณอาหารในตลาดโลกลดลงอย่างฉับพลัน โดยที่หลายประเทศไม่สามารถหาแหล่งอาหารทดแทนได้ในทันที และมีส่วนทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น

รายงานของเอฟเอโอระบุว่า ราคาอาหารทั่วโลก รวมถึงสินค้าทางการเกษตรและอาหารสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 22% ในช่วงปี 2022-2023 โดยความรุนแรงของปัญหาก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สู้รบที่หากยืดเยื้อต่อไปก็จะยิ่งทำให้ช่องว่างอุปสงค์-อุปทานในตลาดอาหารโลกขยายตัวมากขึ้น ด้วยปริมาณอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ฉู ตงหยู ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีประเทศยากจนในแอฟริกาเหนือ เอเชีย และตะวันออกใกล้กว่า 50 ประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าธัญพืช โดยเฉพาะข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนเป็นหลัก

เอฟเอโอประมาณการว่า ในกรณีที่ปริมาณอาหารลดลงในระดับปานกลางจะส่งผลให้มีผู้คนประสบภาวะอดอยากราว 8 ล้านคน แต่หากสถานการณ์รุนแรงในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจมีผู้คนขาดแคลนอาหารมากถึง 13.1 ล้านคนภายในปี 2023