เยอรมนีประกาศซื้อเครื่องบินรบ F-35A จากสหรัฐ รับศึกรัสเซีย-ยูเครน

F 35A / Lockheed Martin photo by Liz Lutz

ศึกรัสเซีย-ยูเครน กระตุ้นยอดใช้จ่ายกลาโหม เยอรมนีประเดิมเสริมเขี้ยวเล็บแล้ว อาวุธชุดแรกสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องบินรบ F-35A รุ่นบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ได้ 

วันที่ 16 มีนาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า รัฐบาลเยอรมนี ประกาศซื้อเครื่องบินรบ เอฟ-35 เอ จำนวน 35 ลำ จากสหรัฐอเมริกา เป็นการสั่งซื้ออาวุธหลักชุดแรกที่นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหม จากสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครน

รัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจเรื่องนี้ต่อเนื่องจากความพยายามจำกัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย รวมถึงระงับโครงการท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 2 และหันมาเพิ่มเสริมทัพป้องกันตนเองให้ยุโรป

FILE -F-35B aircraft at the Akrotiri Royal air forces base near city of Limassol, Cyprus. (AP Photo/Petros Karadjias,file)

เครื่องบินรบ เอฟ-35 จะประจำการแทนที่ฝูงบินรบทอร์นาโด ซึ่งเยอรมนีใช้งานมานานแล้วตั้งแต่ยุค 1980 และจะปลดประจำการภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) โดยเป็นรุ่นเดียวที่ใช้บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐได้ ซึ่งเก็บไว้ในเยอรมนีสำหรับใช้ในกรณีเกิดสงครามในยุโรป

รายงานระบุว่า การซื้อเอฟ-35 จะทำให้กองทัพอากาศเยอรมนีมีอาวุธที่เข้ากันได้กับชาติสมาชิกในองค์การป้องกันสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ และหุ้นส่วนทางทหารในยุโรปมากขึ้น ในขณะที่ชาติเหล่านี้มีเอฟ-35 แล้ว หรือตั้งใจจะซื้อเอฟ-35 ด้วยเช่นกัน

FILE – An F-35C Lightning II test aircraft taxies on the deck aboard the nuclear powered aircraft carrier USS Dwight D. Eisenhower of the coast of Norfolk, Va., on Oct. 9, 2015 (AP Photo/Steve Helber, File)

กระทรวงกลาโหมสหรัฐแถลงเมื่อต้นปีว่า เครื่องบินเอฟ-35 ในยุโรป จะได้รับการรับรองให้บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ได้ก่อนถึงปี 2023 (พ.ศ. 2566)

สำหรับเครื่องบิน เอฟ-35 มี 3 เวอร์ชั่น คือ A, B และ C ในจำนวนนี้มีเฉพาะเวอร์ชั่น F-35A ที่บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ได้

“เครื่องบินทอร์นาโดออกแบบมาให้ใช้งานป้องกันภัยทางอากาศด้วยการบินในระดับต่ำ และใช้สปีดที่ย่านความเร็วเสียง (ทรานโซนิค) หากต้องทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ การบินต่ำและใช้ความเร็วได้แค่นั้นไม่เหมาะกับปี 2022 อีกแล้ว” จัสติน บรองค์ นักวิจัยเทคโนโลยีและอาวุธทางอากาศ ประจำสถาบัน รอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิส กล่าว 

A U.S. F-35 fighter jet flies over the Eifel Mountains near Spangdahlem, Germany, Wednesday, Feb. 23, 2022.  (Harald Tittel/dpa via AP)

เยอรมนีเพิ่งปรับยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมในช่วงสามสัปดาห์มานี้ ให้เพิ่มศักยภาพทางทหารมากขึ้น จากเดิมที่พยายามหลีกเลี่ยงนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยประกาศจะเพิ่มงบฯทางทหารขึ้นร้อยละ 2 ตามความต้องการของกลุ่มนาโต้

นายกฯโชลซ์กล่าวว่า รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณกองทัพ จาก 47,000 ล้านยูโร (1.7 ล้านล้านบาท) เมื่อปีก่อน มาเป็น 1 แสนล้านยูโร (3.6 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ เยอรมนีต้องลงทุนมากขึ้นในด้านความมั่นคงเพื่อปกป้องอิสรภาพและประชาธิปไตย

 

ด้วยการเพิ่มงบประมาณดังกล่าวจะทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณกลาโหมมากที่สุดในฝั่งยุโรปตะวันตก ส่งสัญญาณว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในด้านความมั่นคงของยุโรป

แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ประเทศอื่น ๆ กังวล เช่น ฝรั่งเศส ที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป และเป็นแกนนำรณรงค์ให้ยุโรปรวมกองทัพกัน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าการเสริมเขี้ยวเล็บของเยอรมนี จะเหมาะกับกองทัพของอียูในระยะยาวหรือไม่ และจะแสดงบทบาทอย่างไรในกลุ่มนาโต้