‘มินอ่องลาย’ ไล่บี้เศรษฐี สะท้อนกองทัพระแวงคลื่นใต้น้ำ

เมื่อ 24 มีนาคม 2565 โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงจับกุม ขิ่น ฉ่วย (Khin Shwe) มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทก่อสร้างวัย 70 ปี พร้อมบุตรชาย ทั้งสองถูกนำตัวไปฝากขังยังเรือนจำอินเส่ง (Insein) ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเรือนจำไร้มนุษยธรรมและทารุณที่สุด สถานที่ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารมักใช้เป็นที่จองจำนักโทษทางการเมืองและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ซอ มิน ตุน โฆษกของกองทัพ แถลงถึงการจับกุม ขิ่น ฉ่วย ว่าเป็นการจับกุมหลังผลการสืบสวนคดีพิพาทที่เกิดขึ้นในปี 2561 จากที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างของเขา คว้าประมูลโครงการก่อสร้างสถานที่ราชการสำคัญบนที่ดินของกองทัพในย่านบะฮานใจกลางนครย่างกุ้ง

สำนวนคดีของตำรวจซึ่งรั่วไหลและถูกตีแผ่โดยสำนักข่าว “กิต ติต มีเดีย” สื่ออิสระของเมียนมา ระบุว่าเศรษฐีพ่อลูกเจ้าของบริษัทก่อสร้างรายนี้ ถูกจับกุมในข้อหาล้มเหลวในการจ่ายเงินจำนวนกว่า 20 ล้านดอลลาร์ สำหรับการเช่าที่ดินในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีกระทรวงกลาโหมเมียนมาเป็นเจ้าของ อันเป็นการฝ่าฝืนบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น ตลอดจนมีการสั่งรื้อทำลายอาคารอันเป็นมรดกของกลาโหมเมียนมา

ขิ่น ฉ่วย และลูกชายถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 24 ของกฎหมายเมียนมา เรื่อง “การปกป้องและอนุรักษ์โบราณสถาน” ซึ่งมีขึ้นเพื่อปกป้องอาคารที่ถือว่ามีความสำคัญต่อมรดกของชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลทหารในย่างกุ้ง หากถูกตัดสินว่ามีความผิด ข้อหานี้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี

การจับกุม ขิ่น ฉ่วย สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในรัฐบาลเผด็จการกันเอง ระหว่างฝ่ายของมินอ่องลาย กับฝ่ายของ พลเอกเต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีของเมียนมา ผู้ก่อตั้งพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) หรือยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนกองทัพมาโดยตลอด

ย้อนไปช่วงที่เมียนมายังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยพรรคแอลดีพี ของนางออง ซาน ซู จี แม้ว่าฝ่ายพลเรือนจะมีอำนาจบริหาร แต่ต้อง “บาลานซ์” อำนาจกับกองทัพ ผ่านการจับมือกับพรรคยูเอสดีพี ซึ่งให้อดีตนายพลเต็ง เส่ง ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี มี นายพล สุระ ฉ่วย มานน์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และมี ขิ่น ฉ่วย คอยประสานงานภาคธุรกิจ

สำหรับ ขิ่น ฉ่วย ถือว่าเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีแถวหน้าของเมียนมา ในปี 1990 ก่อตั้งบริษัท Zaykabar Company Ltd. ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ธุรกิจก่อสร้าง ด้วยความใกล้ชิดกับกองทัพ บริษัทได้รับเลือกรับงานก่อสร้างสำคัญของกองทัพหลายโครงการ เว็บไซต์เมียนมา นาว ระบุว่า หากบริษัทคว้างานก่อสร้างใด ๆ จะจ่ายให้แก่กองทัพแต่ละงวดจำนวน 20% ก่อนที่ธุรกิจใด ๆ จะสามารถเปิดดำเนินการได้

นักธุรกิจใหญ่รายนี้เป็นสมาชิกคนสำคัญที่ช่วยกองทัพขยายธุรกิจ ทั้งยังสมาชิกสภาฝ่ายสนับสนุนการทหาร ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ช่วงปี 2553 ถึง 2015 การจับขิ่น ส่วยเข้าคุกรอบนี้ย้ำถึงความตึงเครียดภายในระบอบการปกครองเผด็จการทหาร ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาไม่ได้กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาแต่ไหนแต่ไร กองทัพเมียนมามีการแบ่งก๊กแบ่งฝ่ายมานานแล้ว

ทั้ง ขิ่น ฉ่วย และ ส่วย มานน์ เป็นคนใกล้ชิดของ เต็ง เส่ง ทว่าช่วงรัฐบาลออง ซาน ซู จี ท่าทีของ ส่วน มานน์ เปลี่ยนไปหนุนการปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ขณะที่ เต็ง เส่ง ก็เริ่มเสื่อมอำนาจในกองทัพเนื่องจากคนที่คอยทำงานใกล้ชิดทยอยเกษียณ บรรดานายทหารรุ่นใหม่เริ่มขึ้นมามีอำนาจก็ล้วนเป็นพรรคพวกของ นายพลมินอ่องลาย

ตันท์ ซิน เจ้าของธุรกิจชาวพม่าซึ่งใกล้ชิดกองทัพ เผยต่อนิกเคอิ เอเชีย ว่า ขิ่น ฉ่วย และ ส่วย มานน์ ไม่เพียงเป็นมือซ้าย-มือขวาของพรรคพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาที่สนับสนุนกองทัพเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ยังใกล้ชิดในระดับครอบครัว เพราะบุตรสาวของ ขิ่น ฉ่วย แต่งงานกับลูกชายของ ส่วย มานน์

นักธุรกิจชาวเมียนมารายนี้มองว่า นายพลมินอ่องลาย อาจกำลังเดินตามเกมของ “สี จิ้นผิง” จากกรณีมุ่งกำจัดคู่แข่งทางการเมืองที่อาจเป็นคลื่นใต้น้ำทีละคน

การจับ ขิ่น ฉ่วย น่าสังเกตว่า เหตุใดมินอ่องลายต้องจัดการกับผู้ที่เสมือน “กระเป๋าตังค์” ให้กองทัพมายาวนาน ด้วยข้อหา “ทำลายโบราณสถาน” ขณะเดียวกัน ขิ่น ฉ่วย ยังมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักธุรกิจจีนด้วย ซึ่งเป็นแหล่งนักลงทุนที่เมียนมากำลังต้องการท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจดิ่งเหว จากการคว่ำบาตรของนานาชาติ แม้ไม่อาจมีคำตอบอย่างชัดเจน

แต่ที่พอตอบได้คือ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายพล สุระ ส่วย มานน์ ซึ่งแม้ส่วย มานน์ จะไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะนับตั้งแต่มินอ่องลายยึดอำนาจนั้น แต่ท่าทีของส่วย มานน์ ที่สนับสนุนออง ซาน ซู จี ให้แก้กฎหมายปฏิรูปกองทัพ ก่อนที่จะยึดอำนาจ ถือว่าส่วย มานน์ คือ “คลื่นใต้น้ำ” ที่มองข้ามไม่ได้