ไม่ใช่ทุกประเทศมองสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในมุม ชาติตะวันตก ด้วยหลายเหตุผล

ชาติตะวันตก
Bucharest, Romania, (AP Photo/Vadim Ghirda)

ชาติตะวันตกรุมประณามและงัดมาตรการลงโทษกับรัสเซียอย่างหนักหน่วง กรณีที่รัสเซียยกทัพบุกยูเครน แต่ยังมีอีกหลายประเทศในโลกที่ไม่ได้มองศึกดังกล่าวนี้เหมือนกับ ชาติตะวันตก

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 บีบีซีไทย รายงานถอดความบทวิเคราะห์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ของ แฟรงก์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวความมั่นคง BBC ใจความส่วนหนึ่งระบุว่า การที่ผู้นำ ชาติตะวันตก เชื่อว่า คนทั้งโลกคิดเหมือนกับนาโต้ที่ว่า รัสเซียคือสาเหตุทั้งหมดของสงครามที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงนี้ กลับไม่ใช่เช่นนั้น

นี่เป็นคำตอบว่าทำไมหลายประเทศจึงเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการที่รัสเซียบุกยูเครน

UNGA ลงมติประณามรัสเซีย
รายชื่อประเทศที่ลงมติประณามรัสเซียบุกยูเครน / REUTERS/Eduardo Munoz

เหตุผลที่อธิบายเรื่องนี้มีหลายเหตุผล ไม่มีเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับทุกฝ่าย ตั้งแต่ผลประโยชน์ด้านการทหารของตัวเอง เรื่องศรษฐกิจ  ไปจนถึงการกล่าวหาว่า สิ่งที่ชาติตะวันตกทำนั้นขัดแย้งกับอดีตสมัยอาณานิคมของยุโรป

แต่ละประเทศต่างก็มีเหตุผลเฉพาะของตัวเองที่ไม่อยากจะประณามรัสเซียอย่างเปิดเผย หรือโดดเดี่ยวประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย 

ศัตรูของมิตรคือศัตรู

จีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1,400 ล้านคน คนส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับยูเครนจากสื่อที่รัฐควบคุม เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในรัสเซีย

ก่อนรัสเซียบุกยูเครน วันที่ 24 ก.พ. จีนต้อนรับประธานาธิบดีปูตินที่เข้าร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง จากนั้นออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีขีดจำกัดในการร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ”

ปูตินร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง วันที่  4 ก.พ. 2565 / AP Photo/Sue Ogrocki

คำถามว่า ปูตินบอกประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หรือไม่ว่า รัสเซียกำลังจะบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ แม้จีนบอกว่า ไม่อย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องยากที่จะนึกว่า จะไม่มีการบอกอะไรเป็นนัยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญขนาดนี้เลยหรือ

จีนและรัสเซียคือหุ้นส่วนและเผชิญกับการถูกประณามเช่นเดียวกัน โดยอยู่ตรงข้ามกับนาโต้, ชาติตะวันตก และคุณค่าทางประชาธิปไตยของฝั่งตะวันตก

มิตรภาพแนบแน่น จีน-รัสเซีย (REUTERS/Evgenia Novozhenina)

จีนขัดแย้งกับสหรัฐ เรื่องการขยายอิทธิพลทางการทหารของจีนในทะเลจีนใต้ ขัดแย้งกับรัฐบาลของชาติตะวันตกเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในจีน อีกทั้งปราบปรามกลุ่มประชาธิปไตยในฮ่องกง และเน้นย้ำบ่อย ๆ ว่า จะใช้กำลังในการ “นำไต้หวันกลับคืนมา” หากจำเป็น

ดังนั้น จีนและรัสเซียมีศัตรูร่วมกันคือ นาโต้ และมุมมองที่มีต่อโลกของรัฐบาลจีนและรัสเซียก็ส่งต่อไปยังประชาชนในทั้งสองประเทศ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงความชิงชังของชาติตะวันตกที่มีต่อการบุกยูเครนของรัสเซีย และการกล่าวหาว่า รัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม

อินเดีย-ปากีฯพึ่งพาอาวุธรัสเซีย

ด้านสองประเทศคู่อริในเอเชียใต้ อินเดียและปากีสถาน ต่างมีเหตุผลของตัวเองในการที่ไม่อยากจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย ต่างงดออกเสียงในการลงมติประณามการรุกรานยูเครนของสหประชาชาติ

อินเดียได้อาวุธจำนวนมากมาจากรัฐบาลรัสเซีย และหลังจากเกิดการปะทะกับจีนเมื่อไม่นานนี้บริเวณเทือกเขาหิมาลัย อินเดียก็มั่นใจว่า สักวันหนึ่งอินเดียจำเป็นต้องมีรัสเซียเป็นพันธมิตรและผู้คุ้มครองอย่างแน่นอน

สุดซี้ ปูติน-นเรนทรา โมดี / Yuri Kadobnov/Pool via REUTERS

ส่วนปากีสถานได้รับอาวุธจากรัสเซียเช่นเดียวกัน และจำเป็นต้องพึ่งพารัฐบาลรัสเซียในการรักษาเส้นทางการค้าเข้าไปในเอเชียกลาง ภูมิภาคที่อยู่ห่างจากทะเลออกไป

นายอิมราน ข่าน ที่เพิ่งถูกขับออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วิพากษ์วิจารณ์ตะวันตกอย่างดุเดือดมาโดยตลอด โดยเฉพาะสหรัฐ

เมื่อ 24 ก.พ. วันแรกที่รัสเซียบุกยูเครน นายข่าน ในฐานะนายกฯ ในขณะนั้น เข้าพบประธานาธิบดีปูตินในมอสโก ตามกำหนดการเยือนเดิม

อิมราน ข่าน พบ ปูติน

ชี้สองมาตรฐานกับศึกอิรัก

ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เห็นว่า ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐ ซึ่งเป็นชาติที่ทรงอำนาจที่สุด มีลักษณะของการพูดอย่างทำอย่าง และสองมาตรฐาน

เมื่อปี 2546 สหรัฐและอังกฤษยกทัพบุกอิรักด้วยเหตุผลที่กุขึ้นโดยไม่สนใจสหประชาชาติและความเห็นของประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงนานหลายปี

ทั้งสองมหาอำนาจถูกกล่าวหาด้วยว่า มีส่วนทำให้สงครามกลางเมืองในเยเมนยืดเยื้อออกไป ด้วยการติดอาวุธให้กับกองทัพอากาศของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลเยเมน

สหรัฐเปิดฉากบุกอิรัก เมื่อปี 2546 / BBC

แอฟริกาบอบช้ำยุคอาณานิคม

สำหรับหลายประเทศในแอฟริกา มีเหตุผลด้านประวัติศาสตร์หลายประการร่วมด้วย ในสมัยสหภาพโซเวียต รัฐบาลโซเวียตได้ส่งอาวุธเข้ามาในแอฟริกาจำนวนมาก ช่วงที่แอฟริกาเผชิญกับการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกของสหรัฐตั้งแต่ทะเลทรายซาฮาราไปจนถึงแหลมทางใต้ของทวีป ในหลายพื้นที่

สิ่งที่ตกทอดมาจากการยึดอาณานิคมของชาติวันตกในศตวรรษที่ 19 และ 20 ยังคงสร้างความไม่พอใจต่อชาติตะวันตกมาจนถึงทุกวันนี้

ฝรั่งเศส ซึ่งรีบส่งทหารเข้าไปใน มาลีในปี 2556 เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มอัลไคดายึดครองประเทศทั้งประเทศ ก็ทำให้คนในมาลีซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสไม่พอใจ ตอนนี้ทหารจำนวนมากของฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปแล้ว และทหารรับจ้างจากกลุ่มแวกเนอร์ (Wagner Group) ของรัสเซียที่รัฐบาลรัสเซียให้การสนับสนุน ก็เข้ามาแทนที่

เจ้าซาอุฯ-ยูเออีญาติดีปูติน

ส่วนชาติอาหรับที่เป็นพันธมิตรของฝั่งตะวันตกมายาวนานอย่าง ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าจะสนับสนุนมติของสหประชาชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียมากนัก

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด มกุฎราชกุมารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดีปูติน

ส่วนเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย แม้ทรงมีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนักกับประธานาธิบดีปูติน ตามที่มีรายงานว่า ทั้งสองต่างก็ไม่ยอมรับโทรศัพท์ของอีกฝ่าย แต่เมื่อมกุฎราชกุมารโมฮัมหมัดถูกครหาว่าทรงพัวพันการสังหารนายจามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์อิสระชาวซาอุฯ ของวอชิงตันโพสต์ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป

มกุฎราชกุมารซาอุฯ ทรงทักทายปูติน ในการประชุม จี 20

ในประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ จี 20 ปลายปี 2561 ผู้นำชาติตะวันตกส่วนใหญ่ได้แสดงความเย็นชาต่อพระองค์ แต่ปูตินทักทายพระองค์อย่างเป็นกันเอง นั่นคือเรื่องที่ผู้นำซาอุฯ พระองค์นี้ทรงไม่ลืมเลือนไปอย่างง่ายดาย

ไม่หนุนศึกยูเครนแต่ก็ไม่มองแบบตะวันตก

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 มี 141 ชาติ จาก 193 ชาติสมาชิกลงมติประณามการรุกรานยูเครน มีเพียง 5 ชาติเท่านั้นที่ลงมติสนับสนุนการรุกราน หนึ่งในนั้นคือรัสเซีย ที่เหลือได้แก่ ซีเรีย เกาหลีเหนือ เบลารุส และ เอริเทรีย 

ประเทศขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งเลือกที่จะงดออกเสียง รวมถึงจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ ทั้งยังมีอีกหลายประเทศที่เอ่ยมาไม่อยากเป็นแนวร่วมกับชาติตะวันตก

The results of a vote on a resolution concerning the Ukraine , March 2, 2022. (AP Photo/Seth Wenig)

ประเทศเหล่านั้นไม่ได้สนับสนุนการรุกรานยูเครน ยกเว้นเบลารุส แต่ที่ระบุมาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า มีเหตุผลหลายอย่างที่ชาติตะวันตกไม่สามารถทึกทักได้ว่า ส่วนอื่น ๆ ของโลกมีมุมมองต่อปูตินเช่นเดียวกับชาติตะวันตก

เช่นเดียวกับเรื่องมาตรการคว่ำบาตร และการที่ชาติตะวันตกเต็มใจส่งอาวุธที่รุนแรงสนับสนุนยูเครนให้สู้รบกับรัสเซียอย่างเปิดเผย