ชีคมานซูร์ เจ้าของแมนซิตี้ ถูกครหา ช่วยมหาเศรษฐีรัสเซีย ย้ายสมบัติเข้ายูเออี

ชีคมานซูร์
ชีค มานซูร์ / REUTERS

สโมสรฟุตบอลอังกฤษ ถูกลากเข้าไปพัวพันศึก รัสเซีย-ยูเครน อีกหนึ่งแล้ว ต่อเนื่องจากเชลซี คราวนี้ แมนซิตี้ถูกสื่อสหรัฐแฉว่า ชีคมานซูร์ เจ้าของสโมสร แอบช่วยมหาเศรษฐีรัสเซียย้ายความร่ำรวยเข้าไปหลบในยูเออี

วันที่ 29 เมษายน 2565 บลูมเบิร์ก สื่อข่าวธุรกิจชื่อดังของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เจ้าของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรฟุตบอลชั้นนำแห่งเกาะอังกฤษ ถูกครหาว่า มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการช่วยมหาเศรษฐีรัสเซีย ย้ายทรัพย์สินเข้ามายังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้รอดพ้นจากมาตรการลงโทษของชาติตะวันตก จากเหตุรัสเซียยกทัพบุกยูเครน

บลูมเบิร์กรายงานว่า แม้คนภายนอกทั่วไปจะรู้จัก ชีค มานซูร์ ในฐานะเจ้าของสโมสรแมนซิตี้ แต่ภายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี บุรุษท่านนี้คือรองนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพล ก่อนหน้านี้มีบทบาทเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง ยูเออี-รัสเซีย มาตลอด

ชีคมานซูร์
เป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้จัดการทีมแมนซิตี้ สนทนากับชีค มานซูร์ (กลาง) เจ้าของสโมสร (Credit: Manchester City)

กระทั่งเมื่อเกิดสงครามที่รัสเซียยกทัพบุกยูเครน และถูกต่อต้านจากชาติตะวันตกอย่างหนัก ความสำคัญและความซับซ้อนในบทบาทของชีคมานซูร์ ยิ่งมีมากขึ้น

ยูเออีรักทุกฝ่าย-ไม่แซงก์ชั่น

แม้ว่าสหรัฐอเมริกา ชาติยุโรป และประเทศอื่นๆ จะรุมกันลงโทษเศรษฐกิจรัสเซีย ด้วยบัญชียาวเป็นหางว่าว แต่ยูเออีกลับไม่ประกาศมาตรการใดๆ เพื่อเข้าร่วมเล่นงานรัสเซียเลย

เจ้าหน้าที่ของยูเออีแสดงจุดยืนตามรัฐบาลอาบูดาบี ว่าเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ต้องไม่ถูกบีบให้ใช้มาตรการตามชาติใดชาติหนึ่ง และยูเออีมีสิทธิที่จะตั้งนโยบายของตนเอง ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นเป็นเช่นนั้น

ประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่แสดงท่าทีคล้ายกันนี้ ยังมีอิสราเอล และอินเดีย

อย่างไรก็ตาม การแสดงจุดยืนดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกวิตกว่าจะเป็นช่องโหว่ให้มาตรการและโครงการต่างๆ ที่ตนเองใช้บีบรัสเซีย

เมื่อต้นเดือนเมษายน วิลลี อาเดเยโม รมช.คลังสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐติดต่อเจ้าหน้าที่ยูเออีเพื่อแสดงความวิตกว่าบรรดามหาเศรษฐีรัสเซียโยกย้ายทรัพย์เข้าไปในยูเออี 

ภาพ: REUTERS/Ahmed Jadallah

รัสเซียแห่ซื้อเพนต์เฮาส์-รถหรู

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐยังระบุว่า บรรดาผู้บริหารการเงินและนักธุรกิจผู้ร่ำรวยจากรัสเซียพยายามเข้าหาชีคมานซูร์ และคณะทำงานของชีค เพื่อให้ช่วยจัดการตามกระบวนการของรัฐ

นักธุรกิจรัสเซียหลายคนหันมาลงทุนในยูเออีมากขึ้น นับจากกองทัพรัสเซียบุกยูเครน ในจำนวนนี้ บางคนซื้อเพนต์เฮาส์ในดูไบ ส่วนอีกที่เหลือซื้อรถหรูหรือขอความช่วยเหลือให้ขายบัญชีธนาคารและบริษัทการเงินให้

แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า กระทรวงกิจการประธานาธิบดีที่ชีคมานซูร์คุมอยู่ได้ให้ความช่วยเหลือชาวรัสเซียกลุ่มนี้มากขึ้น

AFP PHOTO / KARIM SAHIB

ส่วนเจ้าหน้าที่ยูเออีมองว่า ความพยายามของชีคมานซูร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการดึงดูดธุรกิจจากภายนอก และรักษาความสัมพันธ์กับชาติในภูมิภาคทั้งตะวันตกและตะวันออกไว้

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเออี ส่วนใหญ่มาจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรที่ผลิตน้ำมันส่งออก

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของรัฐบาลยูเออี รัสเซียรั้งอันดับ 4 ชาติที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนยูเออีมากที่สุดในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 หรือคิดเป็น 137,000 คน สูงขึ้นสองเท่าจากปีก่อนหน้า แม้ว่าจะน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ก่อนโควิดระบาด

ทำไม ชีคมานซูร์ ทรงอิทธิพล

ชีคมานซูร์ วัย 51 ปี เป็นอนุชาของ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด หรือ MBZ ผู้ปกครองยูเออี และยังเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของชีค ทาห์นูน บิน ซาเยด จึงนับเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงอิทธิพลสูงสุด

ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ชีคมานซูร์ พบปะตัวแทนบริษัทรัสเซีย ร่วมกับชีคโมฮัมเหม็ด ผู้ปกครองประเทศ บ่อยครั้ง และเมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562) ก็ร่วมคณะกับชีคโมฮัมเหม็ด MBZ ต้อนรับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่กรุงอาบูดาบี

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด หรือ MBZ ผู้ปกครองยูเออี ต้อนรับปูติน เมื่อปี 2019

ถึงวันนี้ MBZ ยังคงเป็นผู้ปกครองรัฐที่รักษาระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นสูงกับปูตินและรัสเซียไว้

ขณะที่ ชีคมานซูร์ นอกจากเป็นมหาเศรษฐีของประเทศแล้ว ยังเป็นประธานธนาคารกลางยูเออี พร้อมกับมีตำแหน่งในบอร์ดของบริษัทอื่นๆ รวมถึง บริษัท น้ำมันแห่งชาติยูเออี หรือ Adnoc และเป็นเจ้าของกองทุน อาบูดาบี อินเวสต์เมนต์ ออธอริตี ที่มีทรัพย์สินในต่างแดนมากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์

ในราชอาณาจักร ชีคมานซูร์ เป็นองค์ประธานนักกีฬาของยูเออี สนับสนุนกิจกรรมและการจัดแข่งขันมากมาย ตั้งแต่ฟุตบอล แข่งม้า ไปจนถึงการวิ่งระยะไกล นับจากซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี (จากทักษิณ ชินวัตร) เมื่อปี 2008 (พ.ศ.2551) สโมสรก็ทะยานขึ้นมาเป็นทีมชั้นแนวหน้าของอังกฤษ คว้าถ้วยชัยมากมาย และเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดทีมหนึ่งของโลก

กระทั่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซียขึ้น ชีคมานซูร์ ถูกจับจ้องในบทบาทที่แตกต่างออกไป

สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ Photo by Nigel French/PA Images via Getty Images

บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

เมื่อศึกรัสเซีย-ยูเครน เกิดขึ้น ยูเออีพยายามดำเนินนโยบายแบบสมดุล แม้ไม่ร่วมวงแซงก์ชั่นรัสเซีย แต่ก็มีสมาชิกของราชวงศ์เอมิเรตส์ช่วยออกหน้ากับชาติตะวันตก เช่น คาลดูร อัล มูบารัก ซีอีโอแห่งกองทุน มูบาดาลา อินเวสต์เมนต์ โค. และยูเซฟ อัล อัลไตบา เอกอัครราชทูตยูเออีประจำกรุงวอชิงตัน ที่ยืนยันกับรัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ว่าจะไม่เข้าไปลงทุนในรัสเซีย

คำมั่นดังกล่าวทำให้บริษัท มูบาดาลาเป็นทุนใหญ่ของตะวันออกกลางรายแรกที่แสดงออกถึงจุดยืนในสงครามครั้งนี้ บางคนมองว่าเป็นแซงก์ชั่นกึ่งหนึ่ง แต่ก็มีผู้ใกล้ชิดกับบริษัทยืนยันว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องธุรกิจล้วน ไม่ใช่การตัดสินใจทางการเมือง

ส่วนชีคมานซูร์ ถูกมองว่ายังคงพยายามสร้างสมดูลให้ยูเออีในศึกครั้งนี้ ด้านหนึ่งคือยังเปิดรับเงินจากรัสเซียให้ไหลเข้าประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากเหล่ามหาเศรษฐี แต่ส่วนใหญ่มาจากคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย

A picture shows a model of Expo 2020, in Dubai, on December 16, 2020. (Photo by GIUSEPPE CACACE / AFP)

อีกด้านหนึ่ง คณะของชีคมานซูร์ ก็กังวลเช่นกันว่าจะถูกมองไม่ดี จากพันธมิตรตะวันตกที่พยายามระดมการแซงก์ชั่นปูติน และบุคคลรอบข้าง รวมถึงบริษัทของรัสเซียอีกจำนวนมาก

“เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐมีผู้เชี่ยวชาญการเงินคอยจับตาแบบเข้มข้น และยังบอกยูเออีด้วยว่ากำลังเพ่งเล็งอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้ใครเข้าไปติดกับดัก และต้องระวังมากขึ้น” เคิร์สเทน ฟอนเทนโรส ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการตะวันออกกลาง สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าว

การทูตที่ละเอียดอ่อน

 ด้าน อับดุลคาเลก อับดุลลา นักวิชาการเอมิเรตส์ ประจำยูเออี กล่าวว่า ยูเออีเองไม่ต้องการไปขัดใจรัฐบาลสหรัฐ แต่ก็ไม่ต้องการพินอบพิเทา เพราะพูดไปแล้วบรรดาเศรษฐีรัสเซียก็เข้าไปลงทุนในชาติตะวันตกเยอะมากเช่นกัน

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี โฆษกสำนักงานต่อต้านการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายทางการเงินของยูเออี เผยกับบลูมเบิร์ก ว่ายูเอออียังคงให้ความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างประเทศในการจับตาการไหลเข้าออกของเงินระหว่างประเทศ

The sun sets behind the Burj al-Arab hotel in Dubai, United Arab Emirates, Friday, April 22, 2022. (AP Photo/Jon Gambrell)

แม้ยูเออีจะได้ประโยชน์จากการเปิดรับเงินรัสเซีย แต่ก็เริ่มระวังการติดต่อสัมพันธ์กับตัวบุคคลที่ถูกชาติอื่นแซงก์ชั่น เนื่องจากถูกกดดันโดยทีมปฏิบัติการทางการเงิน หน่วยงานต่อต้านการฟอกเงินของโลก มีสำนักงานอยู่กรุงปารีส ซึ่งจับยูเออีเข้าไปอยู่ในกลุ่ม “บัญชีสีเทา” ฐานไม่จับตาเงินที่ไหลเข้าประเทศอย่างเข้มงวด

สัมพันธ์กับสหรัฐไม่ชื่นมื่น

ความสัมพันธ์ระหว่างยูเออีกับสหรัฐ ช่วงหลังๆ มานี้ออกจะขุ่นเคืองกัน เพราะยูเออีและซาอุดีอาระเบียต้องการให้สหรัฐเข้ามาช่วยเหลือมากกว่านี้ ในการต่อต้านขีปนาวุธจากนักรบฮูตีในเยเมนที่มีอิหร่านสนับสนุน แต่ดูเหมือนยังไม่ได้รับการตอบสยอง

ขณะเดียวกัน เมื่อสหรัฐขอให้สองประเทศยักษ์ใหญ่นี้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อช่วยกดราคาลง สองชาติอาหรับนี้จึงไม่ตอบสนอง

โจดี วิตโทรี นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า ความเห็นของสองฝ่ายที่ไม่ตรงกันในเรื่องนโยบายแซงก์ชั่นกลายเป็นเรื่องยากลำบากมากต่อไป

 “ถ้าโลกยังเดินหน้ากวาดล้างการไหลของกระแสเงินรัสเซียที่ผิดกฎหมาย รวมถึงฐานของเศรษฐกิจเหล่านี้ สหรัฐอาจต้องทำใจยอมรับว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตที่จะเดินหน้าต่อไปจะมีประโยชน์น้อยลง”