ศึกรัสเซีย-ยูเครนหลายประเทศถูกบีบให้เลือกข้าง แต่ทำไมอินเดียกลับอยู่รอดปลอดภัยตรงจุดที่ยังซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียโดยไม่ถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงาน หรือมองตาขวางใส่แบบจีน
วันที่ 24 เมษายน 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานวิเคราะห์การวางตัวของอินเดียบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เดิมทีรัฐบาลสหรัฐแสดงท่าทีไม่พอใจและผิดหวังที่อินเดียยังคบค้าอยู่กับรัสเซีย ไม่ลงมติร่วมประณาม และไม่ร่วมแซงก์ชั่นรัสเซีย แต่จู่ ๆ ทั้งสหรัฐและอังกฤษก็เปลี่ยนเสียงไปเฉย ๆ
เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐพบปะหารือกับนายกฯ นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์วันที่ 11 เม.ย. มีแต่บรรยากาศพึงพอใจและถ้อยคำจับใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และมีหลักการร่วมกัน
จากนั้นนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็เดินทางมาพบนายโมดีที่นิวเดลี เพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ทางการค้า พร้อมถ่ายรูปกันอย่างชื่นมื่น แม้ว่าจะเห็นไม่ตรงกันหลายประเด็นในเรื่องรัสเซีย
ชั้นเชิงการทูตระดับปรมาจารย์
สำหรับอินเดียจุดยืนเรื่องยูเครนยังเหมือนเดิม อินเดียยังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และเฉพาะช่วงไม่กี่เดือนมานี้ของปี 2022 ซื้อในปริมาณที่มากเท่ากับทั้งปี 2021 นอกจากนี้ อินเดียยังไม่ออกเสียงในที่การประชุมสหประชาชาติที่มีการโหวตให้รัสเซียพ้นจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
เหล่านักวิเคราะห์การเมืองต่างมองว่า อินเดียกำลังสอนชาติตะวันตกให้รู้จักชั้นเชิงการทูตระดับปรมาจารย์ในการทูตระหว่างประเทศ เพราะอินเดียสำคัญมากต่อสหรัฐเพื่อจะต้านทานการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งสหรัฐมองว่าอาจเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดยิ่งกว่ารัสเซีย ดังนั้น ชาติตะวันตกก็ต้องกัดฟันไว้
ฮาร์ช วี. แพนต์ อาจารย์วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ กรุงลอนดอนกล่าวว่า สหรัฐรู้ดีว่าต้องปฏิบัติต่ออินเดียในฐานะหุ้นส่วนใหม่ที่จำเป็นต้องเอาอกเอาใจ
รัฐบาลอินเดียและรัฐบาลสหรัฐต่างเผชิญสถานการณ์ไม่ง่ายกับการที่จีนเสริมทัพ ขยายการอ้างสิทธิเป็นเจ้าของผืนดินและน่านน้ำทางทะเล ทั้งยังเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อเพื่อนบ้านที่เล็กกว่า
กองทัพจีนภายใต้การบังคับบัญชาของสี จิ้นผิง ยกระดับเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเครื่องบินรบล่องหนไฮเทค และยังเพิ่มอายุนิวเคลียร์กับปืนใหญ่ด้วย
สหรัฐ-อินเดียต่างพิพาทกับจีน
อ.แพนต์ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการศึกษายุทธศาสตร์ ประจำมูลนิธิการวิจัยและสำรวจ กรุงนิวเดลี กล่าวว่า แผนการต้านทานจีนของสหรัฐ ต้องอาศัยอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในนามเดอะ ควอด (สี่เหลี่ยมจัตุรัส)
ขณะที่อินเดียมีประเด็นพิพาทของตนเองกับจีน ทหารสองฝ่ายเคยเผชิญหน้าและปะทะกันจนบาดเจ็บล้มตายไปหลายสิบชีวิตที่พรมแดนหิมาลัยในช่วง 2-3 ปีมานี้ ดังนั้น สิ่งที่ไม่รอดพ้นสายตารัฐบาลสหรัฐก็คือ อินเดียต้องพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียมาเสริมเขี้ยวให้กองทัพ รวมถึงทหารที่ประจำอยู่ในพื้นที่หิมาลัย
มาโนช เกวัลรามานี นักวิชาการจีนศึกษาประจำสถาบันตักศิลาในอินเดียกล่าวว่า เมื่อสหรัฐและอินเดียต่างต้องเผขิญกับการรุกกร้าวของจีน สิ่งที่ชัดเจนหลังการหารือระหว่างไบเดน-โมดี ปรากฏตอนที่นายลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐเตือนว่า จีนกำลังเปลี่ยนโฉมภูมิภาคและระบบการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ ดังนั้น สหรัฐกับอินเดียจึงต้องสร้างโอกาสขยายปฏิบัติการเพื่อไปถึงกองทัพร่วมกัน แม้ว่าจะเห็นแตกต่างกันเรื่องยูเครนก็ตาม
“ทั้งสองประเทศต่างก็เข้าใจจุดยืนของกันและกันอยู่” เกวัลรามานีกล่าว
ต่อว่าแต่จีน เงียบกับอินเดีย
ด้วยเงื่อนไขและเป้าหมายดังกล่าว จึงเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมสหรัฐจึงยังคงวิพากษ์วิจารณ์จีนที่ยังนิ่งเงียบกับการที่รัสเซียบุกยูเครน แต่กับอินเดียแล้ว ก็ไม่ได้ว่าอะไร
ถ้ามองอย่างผิวเผิน อินเดียและจีนต่างมีจุดยินคล้ายกันในสงครามยูเครน ทั้งสองวางตัวเหมือนเป็นผู้เฝ้าดูอย่างเป็นกลาง มากกว่าจะส่งเสียงต่อต้าน ทั้งสองประเทศเรียกร้องสันติและปฏิเสธที่จะประณามการบุกยูเครนของรัสเซีย
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความสัมพันธ์ด้านยุทธศาสตร์กับรัสเซีย และรู้จักวางตัวที่ไม่ทำอะไรที่เป็นอันตราย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศเดินหน้าความสัมพันธ์แบบไร้ขีดจำกัด ส่วนทางอินเดียมีการประเมินว่าอาวุธมากกว่า 50% ของกองทัพอินเดียมาจากรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม เกวัลรามานี กล่าวว่า ความคล้ายคลึงเหล่านี้เป็นเรื่องผิวเผิน ยังมีความแตกต่างอยู่มากระหว่างสองประเทศ
จีนวิพากษ์วิจารณ์การแซงก์ชั่นของชาติตะวันตกและตำหนิสหรัฐและนาโต้กับความขัดแย้ง พร้อมกับสะท้อนมุมมองของรัสเซียต่อนาโต้ว่าเป็นจุดที่เริ่มวิกฤตนี้ขึ้นโดยการขยายอิทธิพลเข้าไปยังฝั่งตะวันออก สื่อของทางการจีนยังป่าวประกาศความคิดและข้อมูลผิด ๆ ของรัสเซียด้วย
แต่กับอินเดียไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์นาโต้ และดูเหมือนจะไม่ย้ำความแตกต่างกับสหรัฐ ทั้งสองฝ่ายต่างก้าวข้ามจุดยืนของอินเดียไปได้แบบเนียน ๆ
ผศ.หลี่ หมิงเหลียง ประจำคณะการศึกษาระหว่างประเทศ เอส. ราชรัตนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง ประเทศสิงคโปร์กล่าวว่า นายกฯโมดีเคยต่อสายคุยกับนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนแต่จีนไม่เคย นอกจากนี้ อินเดียยังวิพากษ์วิจารณ์อาชญากรรมสงครามในยูเครนที่แรงกว่า
กรณีที่เกิดขึ้นในเมืองบูชาของยูเครน เอกอัครราชทูตอินเดียประจำสหประชาชาติ กล่าวถึงการสังหารพลเรือนในเมืองดังกล่าวว่า รบกวนจิตใจอย่างยิ่ง พร้อมประณามและเรียกร้องให้เปิดการสอบสวน แต่นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีน แม้กล่าวว่าความสูญเสียนี้รบกวนจิตใจอย่างยิ่ง แต่ไม่ประณามอะไร พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกล่าวหาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
สหรัฐเพิ่งตระหนักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและรัสเซียนั่นมีมานานตามประวัติศาสตร์ เนื่องจากความแตกต่างกับชาติตะวันตก
นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า อินเดียกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมานานหลายทศวรรษ
หากย้อนไปในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐกับสหภาพโซเวียตเผชิญหน้ากัน ตอนนั้นอินเดียไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อย่างไรก็ตาม อินเดียเริ่มเอนเอียงไปทางโซเวียตช่วงที่สหรัฐส่งอาวุธให้ปากีสถาน เพื่อนบ้านที่เป็นคู่ปรับตลอดกาล
และเมื่อรัสเซียเริ่มส่งอาวุธให้อินเดีย ทำให้อินเดียพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อปี 2561 อินเดียมีดีลซื้ออาวุธรัสเซียราว 5,000 ล้านดอลลาร์ เป็นระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ แม้ว่าการเสริมอาวุธนี้จะเสี่ยงผิดกฎหมายของสหรัฐที่มีผลให้เพิ่มการลงโทษรัสเซียและเกาหลีเหนือมาแล้ว
ส่วนการที่อินเดียต้องพึ่งพาอาวุธรัสเซียจึงทำให้อินเดียประณามรัสเซียมากไม่ได้ในศึกยูเครน อีกทั้งตอนที่ปูตินเดินทางเยือนกรุงนิวเดลีเมื่อเดือนธันวาคม 2021 นายโมดียังเรียกนายปูตินว่า “เพื่อนรัก”
ใคร ๆ ต่างก็เอาใจอินเดีย
ด้วยสถานะของอินเดียขณะนี้ ศ.แพนต์มองว่า ทำให้อินเดียได้รับการเอาอกเอาใจจากทุกฝ่าย อย่างรัสเซียก็ขายน้ำมันให้ในราคาส่วนลด ส่วนนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ก็แถลงชื่นชมอินเดียที่ไม่มองมุมเดียวในศึกยูเครน
ด้านความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ตั้งแต่นายโมดีชนะการเลือกต้ังในปี 2014 ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ การค้าระหว่างอินเดีย-สหรัฐ สูงเกินปีละ 110,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับรัสเซียที่มีเพียง 8,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาอินเดียยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้ออุปกรณ์ทางการทหารของสหรัฐ
ในการพบปะกับนายไบเดนครั้งล่าสุด นายโมดีได้รับคำร้องขอจากผู้นำสหรัฐว่าอินเดียไม่ควรเพิ่มการซื้อน้ำมันจากรัสเซียอีก และยังเสนอช่วยหาแหล่งน้ำมันอื่นให้แทน แต่อินเดียซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันถึง 80% ก็พูดได้ว่าอินเดียไม่ได้ซื้อจากรัสเซียเกิน 3% อยู่แล้ว
ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าอินเดียเดินเกมทางการทูตได้สมดุล และตามความเห็นของ ศ.แพนต์ “อินเดียเอาตัวออกจากวิกฤตได้อย่างแข็งแกร่งจริง ๆ และดูจะเชี่ยวชาญเสียด้วย”