รัสเซียเสนอเปิดทะเลดำให้ยูเครนส่งออกอาหาร แลกตะวันตกยกเลิกคว่ำบาตร

รัสเซีย
แฟ้มภาพ : Photo by Alexey NIKOLSKY / SPUTNIK / AFP

รัสเซียเสนอเปิดทะเลดำ ให้ยูเครนส่งออกอาหารได้อีกครั้ง หากสหรัฐ-อียู ผ่อนปรนยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 กระทรวงกลาโหมรัสเซียให้คำมั่นว่า จะเปิดเส้นทางปลอดภัยสำหรับการเดินเรือในทะเลดำเพื่อให้เรือต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกท่าเรือมารีอูโปลของยูเครนผ่านทางทะเลอะซอฟ ออกไปสู่ทะเลดำได้ เพื่อให้ยูเครนสามารถกลับมาส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สู่ตลาดโลกได้อีกครั้งเพื่อบรรเทาวิกฤตอาหารโลก หากว่าชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรปผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

นายอันเดร รูเดนโก รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียเสนอให้สหรัฐ และอียู ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อแลกกับการที่รัสเซียยอมเปิดน่านน้ำในทะเลดำ เพื่อให้เรือสินค้าต่างชาติสามารถเข้าขนส่งสินค้าอาหารจากท่าเรือในเมืองมารีอูโปล ซึ่งอยู่ในทะเลอะซอฟ ออกไปยังตลาดโลกได้อีกครั้ง

รมช.ต่างประเทศรัสเซียอธิบายว่า เหตุที่รัสเซียตัดสินใจเปิดเส้นทางเดินเรือในทะเลดำเนื่องด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม เพื่อให้เรือสินค้ายูเครนสามารถแล่นเข้าออกจากท่าเรือในมารีอูโปลได้อย่างปลอดภัย โดยรัสเซียพร้อมเปิดท่าเรือมารีอูโปลอีกครั้งเมื่อเคลียร์ทุ่นระเบิดหมดแล้ว พร้อมทั้งขอให้ยูเครนทำลายทุ่นระเบิดที่วางไว้ในน่านน้ำดังกล่าวด้วย

“ฝ่ายยูเครนต้องปลดชนวนทุ่นระเบิดที่ท่าเรือทุกแห่งซึ่งเรือจะทอดสมอ รัสเซียพร้อมจัดหาช่องทางปลอดภัยด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น รัสเซียกำลังหารือในประเด็นนี้กับสหประชาชาติ หลังจากต้องปิดทำการท่าเรือในน่านน้ำทะเลดำหลายแห่งเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน”

อย่างไรก็ตาม รูเดนโกเตือนว่า หากยูเครนจัดการคุ้มกันเรือสินค้ายูเครนด้วยเรือรบของชาติตะวันตก จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในทะเลดำรุนแรงมากขึ้น

ด้าน มิคาอิล มิซินต์เซฟ หัวหน้าศูนย์ควบคุมการป้องกันประเทศรัสเซีย เผยต่อสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ว่า ขณะนี้มีเรือสินค้าต่างชาติ 70 ลำจาก 16 ประเทศอยู่ในท่าเรือ 6 แห่งแถบทะเลดำ รวมทั้งท่าเรือในเมืองโอเดสซา เคอร์ซัน และมิโคไลฟ


ทั้งนี้ นับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น กองทัพเรือรัสเซียได้ปิดล้อมเส้นทางเข้าออกทะเลอะซอฟ และทะเลดำซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญสินค้าเกษตร เนื่องจากยูเครนเป็นชาติผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ของโลก ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปกล่าวหาว่า รัสเซียเป็นตัวการทำให้ราคาอาหารโลกมีความปั่นป่วน เนื่องจากการปิดกั้นไม่ให้ยูเครนส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลอดโลก ทั้งกล่าวหาว่ารัสเซียใช้ประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกอาวุธในการสร้างวิกฤตราคาอาหารทั่วโลก