ระบบห่วงโซ่อาหารโลก กำลังมุ่งหน้าสู่ “หายนะ”

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นอกเหนือจากความตายชวนสลดใจในสมรภูมิแล้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่ชัดเจนเป็นวงกว้าง อย่างภาวะช็อกด้านพลังงานที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก

สถานการณ์สงครามและการแซงก์ชั่นยังอาจก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ขึ้นทั่วโลก ชนิดที่ทำให้ทั้งบรรดาผู้นำของกลุ่มจี 7 และ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ต้องออกมาเตือนว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ ที่ไม่เพียงรุนแรงเหลือหลายเท่านั้น ยังอาจคงอยู่เนิ่นนานหลายปีอีกด้วย

รัสเซียกับยูเครนเป็นชาติที่ส่งออกอาหารให้กับโลกรวมกันถึง 12% เพียงแค่นี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอต่อการทำให้ราคาข้าวสาลีถีบตัวสูงขึ้น 53% เมื่อเทียบกับตอนต้นปีนี้ ราคาดังกล่าวขยับขึ้นรวดเดียว 6% เมื่อ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากอินเดียประกาศว่า อาจต้องระงับการส่งออกข้าวสาลีเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกำลังเผชิญปัญหาคลื่นความร้อนสูง หรือฮีตเวฟภายในประเทศ

ข้อมูลของยูเอ็นราคาพืชอาหารที่สูงขึ้นนี้ ทำให้คนที่ไม่มีอาหารบริโภคเพียงพอทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 440 ล้านคน เป็น 1,600 ล้านคน โดย 250 ล้านคนในจำนวนดังกล่าว กำลังเผชิญกับภาวะอดอยากแล้ว

กูแตร์เรสเตือนว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป นอกเหนือจากผู้คนจะอดอยากแล้ว ความไม่สงบในสังคมจะเกิดเพิ่มมากขึ้น เด็ก ๆ จะชะงักการเติบโต ปัญหาภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารกำลังกลายเป็นวิกฤตในระดับโลก

รัสเซียกับยูเครนรวมกันเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีป้อนตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 28% ข้าวบาร์เลย์อีก 29% ต่อด้วยข้าวโพด 15% และที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งสองชาติเป็นผู้ส่งออกน้ำมันจากดอกทานตะวันถึง 75% ของปริมาณน้ำมันปรุงอาหารนี้ที่ขายกันอยู่ในตลาดโลก

ประเทศอย่าง เลบานอน และตูนิเซีย นำเข้าพืชอาหารจากรัสเซียและยูเครน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของพืชอาหารที่นำเข้าทั้งหมด ส่วนลิเบียกับอียิปต์ยิ่งสาหัสกว่า เพราะนำเข้ามามากถึง 2 ใน 3 ของการนำเข้าพืชอาหารทั้งหมด

การส่งออกสินค้าอาหารจากยูเครน ซึ่งเคยใช้เลี้ยงชีพคนทั่วโลกได้ราว 400 ล้านคน ถูกตัดขาดไปทั้งหมดเพราะสงคราม ท่าเรือโอเดสซา ซึ่งเป็นท่าเรือส่งออกสำคัญของประเทศ ถูกรัสเซียปิดล้อม และน่านน้ำเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดที่ยูเครนใช้ป้องกันเรือรบรัสเซีย

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ โครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูพีเอฟ) หน่วยงานด้านอาหารของยูเอ็น เคยออกมาเตือนไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามด้วยซ้ำไปว่า ปี 2022 นี้จะเป็นปีที่ตลาดสินค้าบริโภคของโลกตึงตัวอย่างยิ่ง เหตุเพราะผลผลิตข้าวสาลีในจีนจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนในอินเดีย ชาติที่ผลิตข้าวสาลีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกก็จะเผชิญกับภูมิอากาศสุดโต่ง แห้งแล้ง ที่จะทำให้ผลผลิตหายไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภูมิภาค ฮอร์น ออฟ แอฟริกา ซึ่งเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของทวีป ก็เผชิญกับภาวะแล้งจัดที่สุดในรอบ 40 ปี

ที่น่าเสียดายก็คือ ในขณะที่โลกกำลังต้องการอาหารอย่างยิ่ง คลังเก็บข้าวโพดและข้าวบาร์เลย์ในยูเครนที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการสู้รบ ยังเต็มไปด้วยผลผลิตคงค้าง และกำลังเน่าเสียหายทั้งหมดภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ข้าวสาลีและข้าวโพด 25 ล้านตัน มากพอที่จะเลี้ยงผู้บริโภคในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดของโลกได้ตลอดทั้งปี ยังคงติดค้างอยู่ในยูเครนเพราะการปิดล้อมทะเลดำ

เกษตรกรจากประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อชดเชยการขาดแคลนจากรัสเซียและยูเครนได้ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้น กำไรหดเล็กลง หากลดการใช้ปุ๋ยลง แน่นอนผลผลิตก็ย่อมลดฮวบลงตามไปด้วย

ทำให้หลายประเทศสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เช่น มี 23 ประเทศ ตั้งแต่คาซัคสถานไปจนถึงคูเวต ประกาศห้ามส่งออกสินค้าอาหาร รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 10% ของโลก ขณะที่กว่า 1 ใน 5 ของปุ๋ยที่ผลิตขึ้นถูกระงับส่งออกเช่นกัน

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติเตือนว่า การขาดแคลนธัญพืชอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์ตามไปด้วย เนื่องจากธัญพืชคือส่วนผสมสำคัญของอาหารสัตว์ 
คิดเป็นสัดส่วนถึง 13%

สถานการณ์ทั้งหมดนั้น หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยสอดประสานกันทั่วทั้งโลก สามารถก่อให้เกิดวิกฤตอาหารครั้งใหญ่ขึ้นได้ไม่ยาก ในระยะเวลาอันสั้น

หากเกิดขึ้นจริง โลกก็จะได้ประจักษ์ว่า สงครามสามารถฆ่าคนเป็นเรือนล้านในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสมรภูมิรบได้อย่างไร