เทรนด์ท่องเที่ยวปี 2018 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันนับว่า “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” กลายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก เพราะไม่เพียงแต่สามารถเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับประเทศ ยังสร้างอานิสงส์ต่อธุรกิจต่อเนื่องในหลายภาคส่วน พร้อมกับการจ้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน

นักวิเคราะห์เชื่อว่าปี 2018 ยังเป็นปีที่ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ขณะที่การแข่งขันของแต่ละประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวก็จะทวีความรุนแรง

สื่อหลายสำนักระบุว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมักจะเต็มไปด้วยความคาดหวังที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้บริโภค ทั้งมาตรฐานความพึงพอใจ และปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค

โดยข้อมูลจากสมาคมการตลาดอเมริกันระบุว่า จากการสำรวจนักท่องเที่ยว 10,000 คนทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ พบว่าในปี 2018 กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมุ่งเป้าหมายการเดินทางไปที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียและยุโรป เช่นเคยเหมือนกับปี 2017 อาทิ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น

ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่จะมาจากกลุ่มประเทศมุสลิม และอินเดียจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากปีที่ผ่านมาจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลก ณ ปี 2016 อยู่ที่ 1,235 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1,189 ล้านคน

เทรนด์ที่น่าสนใจคือ ปี 2018 จะเป็นปีการท่องเที่ยวของกลุ่ม Millennial หรือกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-34 ปี ทั้งยังนิยมการท่องเที่ยวแบบ “ทริประยะสั้น” 3-5 วัน และโฟกัสการท่องเที่ยวแบบหลายประเทศใน 1 ทริป และกลุ่มนี้นิยมที่พักประเภท “โรงแรมหรูขนาดเล็กและโฮสเทล” (Luxury Inns and Hostel) โดยอ้างอิงจากผลสำรวจจากการค้นหาที่พักในหลายเว็บไซต์ระบุว่า นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับโรงแรมขนาดเล็ก หรือ โฮสเทล มากกว่าจองที่พักในโรงแรมใหญ่ แม้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกจะไม่ครบครันเมื่อเทียบกับโรงแรมขนาดใหญ่ แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวมองว่า ที่พักขนาดเล็กลงมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า อีกทั้งบางแห่งยังมีโลเกชั่นที่ดีกว่าโรงแรมใหญ่ ทั้งยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ได้ง่าย และที่พักที่สามารถทำอาหารทานเองจะได้รับความนิยมจากกลุ่มนี้

นอกจากนี้ Trekksoft ผู้ให้บริการบุ๊กกิ้งออนไลน์ ระบุว่า ในปี 2017 นักเดินทาง 79% ใช้สมาร์ทโฟนในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก พร้อมทั้งปิดดีลด้วยการจองออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ จากเมื่อปี 2016 ที่สัดส่วนอยู่ที่เพียง 31% เท่านั้น

สอดคล้องกับข้อมูลจาก phocuswright บริษัทวิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยว ที่ประเมินว่า ยอดการท่องเที่ยวที่มีการจองออนไลน์จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 21,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 จาก 9,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 ขณะที่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ให้ความสนใจกับการทำตลาดท่องเที่ยวออนไลน์มากขึ้น เช่น “เวียดนาม” ที่เปิดเว็บไซต์บริการให้จองที่พักและร้านอาหาร ทั้งยังมีสิทธิพิเศษสำหรับคนท้องถิ่นที่ใช้เว็บไซต์เวียดนามในการจองห้องพักในราคาที่ถูกกว่าเว็บไซต์ต่างชาติ 5-10% เป็นต้น

อีกหนึ่งเทรนด์ท่องเที่ยว ก็คือ “การผจญภัยแบบหญิงเดี่ยว” โดย “นิโคล คาว” นักวิจัยจาก Trekksoft อ้างข้อมูลจาก TripAdvisor ระบุว่าในปี 2015 ราว 74% ของนักเดินทางทั่วโลก เป็นนักเดินทาง “หญิงเดี่ยว” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี เนื่องจากผู้หญิงมีจำนวนมากขึ้น และที่น่าประหลาดใจก็คือ กิจกรรมที่กลุ่มนักท่องเที่ยวหญิงเดี่ยวให้ความสนใจมากขึ้นเป็นกิจกรรมผจญภัยและโลดโผน เช่น การปีนเขาและปั่นจักรยาน นำมาสู่เทรนด์การท่องเที่ยวแบบ “เชิงนิเวศ” ที่มีแนวโน้มว่าปี 2018 นักเดินทางสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับทริปธรรมชาติและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

นอกจากนี้งานวิจัยของ Trekksoft ยังระบุว่า ในปี 2018 กระแสการท่องเที่ยวของ “LGBT” หรือ “กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ” ถือเป็นตลาดกลุ่มใหม่ที่เหล่าธุรกิจท่องเที่ยวไม่ควรละเลย เพราะหลายประเทศทั่วโลกมีการเปิดกว้างทั้งยังออกกฎหมายอนุญาตให้มีการสมรสได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการจัดแคมเปญสำหรับคู่รักเพศเดียวกันเพื่อเดินทางมาฮันนีมูนโดยเฉพาะ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้มีตัวตนมากขึ้น จะกลายเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีคุณค่าทางจิตใจอีกด้วย