เกิดอะไรกับธนาคารจีน คนฝากถอนเงินไม่ได้ หวั่นวิกฤตเหอหนานจะลามอีก

ซีเอ็นเอ็น รายงานเจาะลึกปัญหา ธนาคารจีน ลูกค้าธนาคารรายย่อยถูกปิดช่องทางถอนเงิน และอาจสูญทั้งหมด สถานการณ์นี้ไม่เพียงสะท้อนปมน่าวิตกในมณฑลเหอหนาน แต่โยงถึงเศรษฐกิจจีนในภาพรวมด้วย

วันที่ 26 มิถุนายน 2565 ซีเอ็นเอ็น เผยแพร่รายงานพิเศษด้านธุรกิจธนาคารที่น่าวิตกที่มณฑลเหอหนาน ภาคกลางของจีน เมื่อธนาคารรายย่อยระงับบริการการถอนเงินของผู้ฝากไปแล้ว พร้อม ๆ กันอย่างน้อย 4 แห่ง จนผู้ฝากหวั่นใจว่าอาจสูญเงินทั้งหมดที่เก็บมาทั้งชีวิต แต่พอจะไปประท้วงทวงคืนก็ถูกสกัดกั้นจากทางการ

ผู้ฝากเงินรายหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ วัย 45 ปี จากเมืองเหวินโจว ทางภาคตะวันออก เผยกับซีเอ็นเอ็นว่า เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตกว่า 6 ล้านดอลลาร์ หรือ 210 ล้านบาทและฝากไว้กับธนาคารเล็ก ๆ 3 แห่งที่เหอหนาน แต่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลยตั้งแต่เดือนเมษายน

“ผมว่าผมใกล้จะสติแตกแล้ว ผมนอนไม่หลับเลย” นายปีเตอร์กล่าว และเล่าว่า เมื่อพยายามจะเข้าบัญชีของตัวเองทางออนไลน์ ก็จะมีแถลงแจ้งขึ้นหน้าโฮมว่า เว็บไซต์อยู่ระหว่างการปรับปรุง และเข้าไม่ได้ในขณะนี้ แต่เมื่อผ่านมา 2 เดือนแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะฟื้นคืนมาเลย

FILE PHOTO:  Thomas White / REUTERS

ปัญหาดังกล่าวเริ่มต้นจาก 4 ธนาคารในเหอหนานที่ไม่ให้ลูกค้าถอนเงิน ซึ่งปีเตอร์เป็นคนหนึ่งในผู้ฝากเงินหลายพันคนที่พยายามจะขอเรียกเงินออมคืนจากธนาคาร 6 แห่งในมณฑลแห่งนี้

ปกติแล้ว ธนาคารในท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้รับเงินฝากจากลูกค้าในพื้นที่ตั้งภูมิลำเนาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและธุรกิจประกันภัยแห่งชาติ เผยกับสำนักข่าวซินหัว ว่ามีการใช้แพลตฟอร์มของบุคคลที่สาม รับบริการฝากเงินจากลูกค้านอกมณฑล  อย่างกรณีของนายปีเตอร์ ที่มีบ้านอยู่ห่างจากธนาคารในมณฑลเหอหนานถึง 1,120 กิโลเมตร

4แสนรายเข้าบัญชีตัวเองไม่ได้

กิจการธนาคารรายย่อยของจีนมีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและบางรายถูกกล่าวหาว่าดำเนินกิจการทางการเงินไม่เหมาะสม หรือทุจริต แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าปัญหาทางการเงินที่ใหญ่กว่านั้นจะปรากฏ อันเนื่องมาจากการล่มสลายของอสังหาริมทรัพย์และหนี้สูญที่เพิ่มสูงขึ้นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาดของโควิด

คณะกรรมการชุดนี้ล่าวหาว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทั้ง 4 แห่ง ในนาม เหอหนาน นิว ฟอร์จูน กรุ๊ป (Henan New Fortune Group) ยักยอกเงินทุนของประชาชนอย่างผิดกฎหมายผ่านการสมรู้ร่วมคิดภายในและภายนอก โดยอาศัยแพลตฟอร์มของกลุ่มบุคคลที่สามและโบรกเกอร์กองทุน

“ตอนนี้ตำรวจเปิดการสอบสวนคดีนี้อยู่” เจ้าหน้าที่ระบุ แต่เมื่อซีเอ็นเอ็นติดต่อขอทราบความคืบหน้าจากตำรวจและคณะกรรมการกำกับการธนาคาร กลับไม่ได้รับคำตอบหรือความคิดเห็นใดๆ

ข้อมูลของ Sanlian Lifeweek นิตยสารของรัฐ ประเมินเมื่อเดือนเมษายน ว่ามีลูกค้าธนาคารกว่า 400,000 รายทั่วประเทศจีนไม่สามารถเข้าถึงเงินออมของตนเองได้

แม้จำนวนดังกล่าวจะนับได้ว่าเป็นแค่น้ำหยดเดียวในระบบธนาคารจีน แต่ตอนนี้ 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมธนาคารอยู่ในมือของกลุ่มผู้ให้กู้ยืมรายย่อยราว 4,000 ราย ที่ดำเนินกิจการอย่างไม่โปร่งใส ทั้งด้านความเป็นเจ้าของและโครงสร้างการบริหาร สุ่มเสี่ยงให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้ง่าย และมีส่วนชะลอเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

ปัญหาธนาคารใหญ่กว่าที่เห็น

แฟรงก์ เซี่ย อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเซาท์ แคโรไลนา ไอเคน สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและธุรกิจจีน กล่าวว่า ขอบเขตของเรื่องอื้อฉาวของธนาคารที่เจ้าหน้าที่ธนาคารยักยอกและขโมยเงินจากผู้ฝากเงินเส่งสัญญาณเตือน และสิ่งที่เปิดเผยออกมาก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

“ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง สภาพคล่องทางการเงินยิ่งแย่ลง และการผิดชำระหนี้กลายเป็นปัญหาที่พบเห็นในวงกว้างมากขึ้นในหมู่บริษัทจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ การดำเนินกิจการของธนาคารอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นและบ่อยขึ้น”อ.แฟรงก์กล่าว

เดือนที่แล้วผู้ฝากเงินจำนวนนับร้อยคนได้เดินทางมายังเจิ้งโจว เมืองเอกของเหอหนาน เพื่อที่จะมาประท้วงบริเวณหน้าธนาคารและเรียกเงินคืนไม่เป็นผล และพอเดือนมิถุนายนวางแผนจะมาอีก กลับถูกสกัดกั้น

ผู้ประท้วงชุมนุมหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารฯ สาขาเหอหนาน เพื่อเรียกร้องขอเงินฝากคืน / Lan Nuo Nuo in February/Weibo

ในบรรดาคนเหล่านี้ 6 รายเผยกับซีเอ็นเอ็นและถ่ายทอดเรื่องราวในโซเชียลมีเดียว่า ตนเองได้รับรหัสแดง หมายถึงบุคคลที่ติดโควิด หรือถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง ถูกห้ามจากการเดินทางขนส่งมวลชน และถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งกักตัวหลายสัปดาห์

กรณีนี้ เมื่อซีเอ็นเอ็นสอบถามไปยังรัฐบาลเมืองเจิ้งโจว เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขมณฑลเหอหนานตอบกลับมาว่า กำลังสอบสวนและตรวจสอบคำร้องของกลุ่มผู้ฝากเงินเหล่านี้ว่าเหตุใดถึงถูกขึ้นบัญชีรหัสแดง

อะไรอยู่เบื้องหลังปัญหาที่เหอหนาน

คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารฯ ตำหนิบริษัทการลงทุนภาคเอกชนที่ถือหุ้นใหญ่ในผู้ให้กู้ทั้ง 4 ราย ส่วนทางตำรวจระบุว่า แก๊งอาชญากรที่นำโดยผู้ควบคุมบริษัทการลงทุนใช้ธนาคารหมู่บ้านก่ออาชญากรรมร้ายแรง และมีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมแล้ว

ตอนนี้เว็บไซต์ เหอหนาน นิว ฟอร์จูน กรุ๊ป บริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 4 ธนาคารเจ้าปัญหา ไม่ปรากฏอยู่ในออนไลน์แล้ว ไม่ว่าซีเอ็นเอ็นจะหาทางโทรศัพท์หรืออีเมล์ติดต่อก็ไม่เป็นผล จนถึงวันนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ ออกมา คาดว่าถูกยกเลิกกิจการไปแล้ว

ต่อมา เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย. ธนาคารเหอหนานทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารหมู่บ้าน หยูโจว ซินหมิงเสิ่ง  ธนาคารเขตชางไค ฮุ่ยหมิน ธนาคารชุมชน เจ้อเฉิง หวงไห่ และธนาคารโอเรียนทัล คันทรีแห่งไคเฟิง จึงออกแถลงการณ์ตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐ

ทั้งสี่ธนาคารระบุว่า จะเริ่มรวบรวมข้อมูลจากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดระบบธุรกรรมออนไลน์ของตน พร้อมกันนี้ยังออกแถลงการณ์แยกตามเว็บไซต์ของตนเอง แต่ไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ฝากเงินแซ่เย่ พนักงานบริษัทเทคโนโลยี วัย 30 ปี จากเมืองต่งกวน มณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ ที่อยู่ห่างจากเหอหนาน 1,500 ก.ม. เผยกับ ซีเอ็นเอ็น  ว่าเขาฝากเงินไว้กับธนาคารเหล่านี้ที่เหอหนาน 160,000 หยวน หรือราว 8.7 แสนบาท และขอเพียงได้เงินคืนมาเท่านั้น หลังจากได้รับแจ้งจากธนาคารว่า เงินฝากได้รับการคุ้มครองโดยโครงการประกัน

จริง ๆ แล้ว เงื่อนไขที่อาจทำให้ลูกค้าที่มีเงินฝากจำนวนสูง สบายใจได้เล็กน้อยว่า เงินฝากที่มากกว่า 5 แสนหยวน หรือราว 2.6 ล้านบาทได้รับการประกันหากธนาคารล้มละลาย

แต่เงื่อนไขนี้ยังไม่น่าวางใจเพียงพอสำหรับลูกค้าอย่างปีเตอร์ เพราะหากผลการสอบสวนของรัฐบาลพบว่า เงินฝากนี้มีการโอนย้ายที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด นั่นหมายถึงลูกค้าอาจต้องสูญเสียทุกสิ่ง

หนี้สินที่มีความเสี่ยง

ช่วงต้นปี 2564 รัฐบาลแห่งชาติจีนสั่งห้ามธนาคารขายสินทรัพย์เงินฝากผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของบุคคลที่สาม เนื่องจากเกรงว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคฟินเทคอาจเพิ่มความเสี่ยงในระบบการเงินที่กว้างขึ้น ธนาคารกลางของจีนเรียกวิธีแบบนี้ว่า “กิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย”

คำถามสำหรับกรณีนี้คือ เหตุใดธนาคารในท้องถิ่นเหอนานจึงเพิกเฉยต่อคำสั่งห้าม และยังดึงเงินฝากจากลูกค้าอย่างนายเย่ ซึ่งอยู่ไกลคนทิศของประเทศไปได้

คณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารฯ ให้คำตอบว่า แพลตฟอร์มของบุคคลที่สามเป็นตัวทะลวงฝ่าข้อกำหนดที่จำกัดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และทำให้กิจการนี้ขยายไปทั่วประเทศ

กรณีของเหอหนาน สื่อของรัฐหลายสำนักรายงานว่า เงินฝากถูกขายผ่านแพลตฟอร์มหรือเป็นเจ้าของโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เช่น ไปตู้ (BIDU) และเจดี ด็อตคอม (JD)

เมื่อซีเอ็นเอ็นสอบถามประเด็นนี้ไปยัง Du Xiaoman Financial บริษัทในเครือด้านการเงินของไป่ตู้ และเจดี ไฟแนนซ์ กลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ 

“ดูเหมือนว่าหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางจะไม่สามารถบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านั้นที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารประเภทนี้เกิดขึ้นได้” แฟรงก์ เซี่ยกล่าวและเห็นว่า การคอร์รัปชั่นนี้ลุกลามไปถึงระดับท้องถิ่นของสถาบันการเงินแล้ว

ธนาคารจีนขยายตัวเร็วไป

ตามความเห็นของโลแกน ไรต์ ผู้อำนวยกาลฝ่ายวิจัยตลาดจีน Rhodium Group “พวกฉ้อโกงเงินหลายล้านจากผู้ฝากเงิน มักได้รับการคุ้มกันจากผู้สมคบในรัฐบาลและการจัดการระดับบนของธนาคาร ปัญหาหลักคือระบบการเงินของจีนขยายตัวเร็วเกินไปและเกินจากขนาดของเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้”

จากสถิติของรัฐบาล ภาคการธนาคารของจีนมีขนาดเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่านับตั้งแต่ปี 2551 โดยมีสินทรัพย์รวมสูงถึง 50 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 1,750 ล้านล้านบาท

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โครงสร้างเงินทุนของผู้ให้กู้รายย่อยยังทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ พวกเขาพึ่งพาเงินฝากสำหรับมาเป็นเงินทุนมากกว่า

หลายแห่งเสนออัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงดูดเงินฝากเชิงพาณิชย์และระหว่างธนาคาร แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ผู้กู้ยืมต้องดิ้นรนเพื่อชำระคืนให้กับธนาคาร จึงเป็นเรื่องยากสำหรับธนาคารรายย่อยที่จะส่งมอบผลตอบแทนที่เสนอให้กับลูกค้า

รศ.จอร์จ แม็กนัส แห่งศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ UBS กล่าวว่า โครงสร้างเงินทุนของหนี้สินในธนาคารขนาดเล็กและระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ของจีนส่วนใหญ่ เป็นความเสี่ยงต่อเงินฝาก การให้สินเชื่ออย่างรัดกุม ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น

บั่นทอนสถานะการเงินที่ดี

วิกฤตเหอหนานมาเกิดตอนที่ความมั่นใจของประชาชนต่อระบบธนาคารลดน้อยถอยลงไปอยู่แล้ว

ทศวรรษก่อน รัฐบาลแห่งชาติจีนเคยกวาดล้างกิจกรรม “ธนาคารเงา” หรือระบบนอกกฎหมาย อย่างเมื่อปี 2562 จีนเคยเข้าควบคุมกิจการของธนาคารเป่าชาง เขตปกครองมองโกเลียใน เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตจากผู้ให้กู้

การเข้ายึดธนาคารดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกของจีนในรอบ 20 ปี จากนั้นจึงประกาศให้ธนาคารมีสถานะล้มละลาย

แต่ปีถัดมา มีอย่างน้อย 5 ธนาคารที่ดำเนินกิจการให้กู้รายย่อย ส่วนใหญ่อาศัยความกลัวของประชาชนจากรายงานที่มีธนาคารใหญ่กว่ามีผู้บริหารถูกตรวจสอบด้านการเงินเพื่อต่อต้านการทุจริต

ไรต์กล่าวว่า สถาบันการเงินยังคงเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ขาดทุนที่เป็นผลมาจากการดำเนินกิจการของธนาคารเงาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ยิ่งเมื่อมาเจอเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด ยิ่งเผยให้เห็นความเสี่ยงของสินเชื่อใหม่ ๆ เช่นเดียวกัน

ผลกระทบล้นทะลัก

ขณะนี้บรรดานักลงทุนจับตาการสอบสวนของรัฐบาลต่อกรณีธนาคารเหอหนานอย่างใกล้ชิด นักวิเคราะห์มองว่าจะเกิดผลกระทบล้นทะลักไปยังธนาคารอื่น

รศ.แม็กนัส กล่าวว่า “เศรษฐกิจเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมธนาคารเผชิญปัญหาที่ยากลำบาก และค่อนข้างเป็นไปได้ที่ธนาคารอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบ อาจจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากชะตาของตลาดที่ดินกับราคาอสังหาริมทรัพย์ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

เศรษฐกิจจีนกำลังดิ้นรนกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หลายเมืองถูกล็อกดาวน์ทั้งหมดหรือบางส่วนตั้งแต่เดือนมีนาคม สร้างความหายนะให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนนักวิเคราะห์กังวลว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในไตรมาสที่สอง

“สิ่งนี้อาจมีผลกระทบเพิ่มขึ้นทวีคูณ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ในฐานะสินทรัพย์ประเภทหนึ่งอาจเป็นอันตรายได้ในเวลาไม่กี่ปี” 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์ของจีน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30% ของจีดีพี กำลังอยู่ในช่วงขาลงที่แย่ลง ยอดขายของนักพัฒนา 100 อันดับแรกของประเทศลดลง 59% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากการสำรวจของบริษัท Cric China

หวั่นปะทุความวุ่นวายทางสังคม

กรณี เอเวอร์แกรนด์ – Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งของจีน อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ บรรดานักวิเคราะห์หวั่นเกรงมาพักใหญ่แล้วว่า หากเอเวอร์แกรนด์ล้มตึงเมื่อใด จะพ่นพิษผลกระทบไปทั่วอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และทั่วระบบการเงิน

A man wearing a face mask scans a QR code for a health monitoring app to enter a shop in Zhengzhou in central China’s Henan Province, Friday, June 17, 2022.  (Chinatopix via AP)

แม้ว่านักวิเคราะห์ไม่ได้กลัวว่าจะเกิดวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากธนาคารกลางของจีนน่าจะให้ความมั่นใจว่า ธนาคารที่ใหญ่กว่าและระบบที่ดีกว่าจะได้รับการคุ้มกัน แต่ความไม่พอใจต่อธนาคารอาจเป็นข้อวิตกกังวลหลักของรัฐบาล

หลังจากผู้ฝากเงินได้รับรหัสแดงด้านป้องกันโควิดเมื่อต้นสองสัปดาห์ก่อน ทำให้การประท้วงในเมืองเจิ้งโจวต้องเลื่อนออกไป เกิดกระแสโหมกระหน่ำทางโซเชียลมีเดีย

ผู้ฝากเงินต่างถูกนำตัวไปที่โรงแรมกักตัว มีตำรวจและเจ้าหน้าที่เฝ้าไว้ก่อนถูกส่งตัวกลับไปบ้านในวันต่อมา ที่เหลือถูกกักไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ของเมือง รวมถึงหอพักวิทยาลัย

“คนจำนวนมากสูญเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต เพราะเรื่องนี้ และดูท่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้อีก และถ้าการดำเนินกิจการไปชนกับการกวาดล้างของรัฐบาลเมื่อใด ความวุ่นวายทางสังคมจะเป็นทางจบเดียว” เซี่ยกล่าว

……..