เอเวอร์แกรนด์ กำลังเดินหน้าสู่จุดจบ

คอลัมน์ชีพจรเศรษฐกิจ
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา “ฟิตช์ เรตติ้ง” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศว่า บริษัท “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” บริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในจีน และเป็นกิจการอสังหาริมทรัพย์หมายเลข 1 ของประเทศ “ผิดนัดชำระหนี้ในวงจำกัด” (restricted default) หลังจากไม่สามารถชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ในต่างประเทศ มูลค่า 82.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถึงกำหนดชำระเมื่อต้นสัปดาห์

พร้อมกันนั้นก็ประกาศให้ไคซา กรุ๊ป โฮลดิงส์ ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน หลังจากไม่สามารถชำระพันธบัตรที่ครบอายุไถ่ถอนคืนมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนคืนเมื่อ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา

อันดับความน่าเชื่อถือของทั้ง 2 บริษัท ถูกจัดให้อยู่ในสถานะ “ผิดนัดชำระหนี้” เรียบร้อยแล้ว

นั่นคือสิ่งที่โลกรับรู้กันเกี่ยวกับ 2 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุด 2 บริษัทของจีน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสัญญาณที่ว่านี้บ่งบอกถึงอะไร ?

นักวิเคราะห์หลายคน รวมทั้ง “เชห์ซาด คาซี” ผู้จัดการ บริษัท ไชน่า เบจ บุ๊ก อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทางการจีนในอันที่จะปกป้องภาคธุรกิจอสังหาฯโดยรวมให้อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับเอเวอร์แกรนด์

ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ต้องพยายามให้ปัญหานี้ลงเอยแบบอยู่ในความควบคุมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อม ๆ กับที่พยายามทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ลดการพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์ลงให้มากที่สุด

นั่นหมายความว่า บริษัทที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในภาคอสังหาฯทั้งหลาย ก็จะถูกปล่อยให้เดินหน้าไปสู่จุดจบ เหมือนอย่างที่เราได้เห็นกำลังเกิดขึ้นกับ “เอเวอร์แกรนด์” และ “ไคซา”

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดอย่างช่วยไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมหาศาล ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ 2 บริษัทนี้เท่านั้น

เราจะได้เห็นบริษัทอสังหาฯของจีนทยอยกันผิดนัดชำระหนี้และ เดินเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องล้มละลาย หรือสู่กระบวนการชำระบัญชี ที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการเลิกกิจการอย่างเป็นทางการอื่น ๆ กันเรื่อย ๆ จนกระทั่งกำหนดชำระหนี้จะถึงจุดสูงสุดในปี 2022 โดยมีมูลหนี้รวมสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์ถึงกำหนดชำระในปีหน้านี้

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนจึงจะยังผันผวนอย่างหนักอีกยาวนานนัก

แต่ “เฮนรี ชิน” หัวหน้าทีมวิจัยประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของซีบีอาร์อี เชื่อว่า ทุกอย่างจะเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของทางการ โดยชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายการตอบสนองความต้องการทางการเงิน “ที่เป็นเหตุเป็นผล” กันบ้างแล้ว

นอกเหนือจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ยังแสดงท่าทีสนับสนุนการออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายสำหรับนำมาใช้เพื่อการควบรวมหรือครอบครองกิจการ หรือ นำไปใช้เพิ่มทุนสำหรับบริษัทอสังหาฯที่มีหนี้สินไม่มากนักให้สามารถออกหุ้นกู้ในประเทศสำหรับใช้ชำระหนี้ต่างประเทศได้

แถมยังผ่อนคลายความเข้มงวดของนโยบายในการซื้อหาบ้านพักอาศัยลง เพื่อกระตุ้นให้อุปสงค์ยกระดับขึ้นอีกครั้ง

ในกรณีของเอเวอร์แกรนด์ ทางการจีนจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทางออกของบริษัท และควานหาสูตรปรับโครงสร้างที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด แต่จะไม่เข้าไปอุ้มอย่างแน่นอน

หนี้โดยรวมของเอเวอร์แกรนด์นั้นเกินกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ มากเสียจนนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าอาจนำไปสู่การล่มสลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนทั้งระบบ แต่ทางการจีนจัดการ “ล้อมรั้ว” ป้องกันผลกระทบต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงขึ้น ให้ทำหน้าที่ปรับโครงสร้างของบริษัท เพื่อป้องกันการ “ล้มทั้งยืน” ที่ทุกคนวิตก

กระนั้น การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ในครั้งนี้ ก็ยังคงสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นกับตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ดี ตัวอย่างเช่น ปัญหาราคาตกต่ำของแร่เหล็กของออสเตรเลียที่เห็นชัดเจนว่าเกิดจากการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ในจีน เป็นต้น

ภายในประเทศ ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ตลอดไปจนถึงพลังงานอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจลุกลามออกไปในอีกหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่เครื่องจักรกล ไปจนถึงอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

อสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวและผันผวนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2022 จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดต่ำลงแน่

เพียงแต่จะมากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง