ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการของดีแทคในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยร่วมกับบริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ในการพัฒนาบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ผ่านแอปพลิเคชั่น Farmer info 

“อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดาวเทียมและบิ๊กดาต้าเข้ามาปรับใช้ในด้านการเกษตร จะช่วยให้บริการฟาร์มแม่นยำมีระบบที่เสถียรมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของการพยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่ การตรวจสุขภาพพืช และการวางแผนการเพาะปลูก จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และลดภาระค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองได้

“ที่ผ่านมามีผู้ทดลองใช้บริการฟาร์มแม่นยำราว 100,000 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มคนที่มีฐานข้อมูลเดิมจากบริษัทรักบ้านเกิด และเมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านรายแล้ว ทำให้เราต้องเร่งผลักดันให้บริการดังกล่าวเป็นที่รู้จักและขยายวงกว้างสู่เกษตรกร โดยมีอัตราค่าบริการเริ่มต้นเพียงเดือนละ 30 บาทในการให้บริการตรวจสอบ แจ้งเตือนการใช้งานที่เกษตรกรสามารถเข้าใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในทุกพื้นที่ทั่วประเทศและในต่างประเทศ”

สำหรับ “ฟาร์มแม่นยำ” เป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นของแอปพลิเคชั่น Farmer info ที่ให้บริการใน 3 ฟีเจอร์สำคัญประกอบด้วย หนึ่ง การพยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่ เป็นการทำงานที่ช่วยแสดงผลเจาะจงในพื้นที่ พร้อมการเข้าถึงเป็นรายชั่วโมง แสดงอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนในพื้นที่ที่ต้องการผ่านภาษาที่เข้าใจง่าย เพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย

ที่สำคัญสามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน โดยมีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุด เพราะการใช้ข้อมูลแบบmicroclimate weather ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีฐานทั่วโลก เช่น GFS, Met Office, ECMWF และ Environment Canada ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจวางแผนเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอง ภาพถ่ายดาวเทียม จะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรสามารถมองเห็นพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งแสดงอาณาเขตพื้นที่จุดเสี่ยงเกิดปัญหา ความผิดปกติของสุขภาพพืช สภาพของพื้นที่และผลผลิต ซึ่งแอปจะแจ้งเตือนเพื่อให้เกษตรกรเข้าไปแก้ไขอย่างตรงจุด โดยมีการผนวกกับเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม EU-Sentinel และ NASA-Landsat

สาม ฟาร์มแม่นยำเปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัว ซึ่งจะช่วยจัดการวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยวพืชผล โดยนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย จากข้อมูลวิชาการของอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงานของระบบ และการวางแผนการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันครอบคลุมพืชถึง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, อ้อย, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน


“ฟาร์มแม่นยำ” นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านผลผลิตที่มีผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของตลาดอีกด้วย