เรียนรู้ สู้ “ยุงลาย” แบบ DIY ที่งาน Healthcare 2019

    “ยุง” แมลงตัวร้ายคอยกวนใจ ที่ไม่เพียงกัดและดูดเลือดเราเป็นอาหาร แต่ยังเป็นพาหะนำโรคอันตราย ที่สามารถคร่าชีวิตของมนุษย์ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยุงลาย” กับพิษสงร้ายที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2562 พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออก สะสมรวม 28,785 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,355 ราย ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 ถึง 1.7 เท่า เสียชีวิตรวมกว่า 43 ราย

    ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า เจ้ายุงลายมันไปกัดและดูดเลือดของคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกี ทำให้เชื้อเข้าไปฟักตัว เพิ่มจำนวนอยู่ในตัวยุง และสามารถแพร่กระจายให้กับคนที่ถูกกัดต่อๆไปนั่นเอง ซึ่งเชื้อไวรัสเดงกี แบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ ในการติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) มักไม่แสดงอาการ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อค หรือเสียชีวิต

    ยุงลาย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ ยุงลายบ้าน ที่มักพบตามบริเวณบ้านในเขตเมือง และมักวางไข่บนบริเวณน้ำขัง โดยเฉพาะที่อยู่ในภาชนะต่างๆ เช่น ตุ่มน้ำ จานรองขาตู้ และ ยุงลายสวน ที่มักพบได้ตามสวนผลไม้ สวนยาง หรืออุทยานต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น

สังเกตอย่างไร ว่าเป็นไข้เลือดออก
    องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์ ในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูง มีเลือดออกง่าย (ทดสอบโดยการรัดแขนแล้วพบจุดเลือดออกตามร่างกาย) เจ็บชายโครงขวาเนื่องจากตับโต ช็อค ตรวจเลือดพบเกล็ดเลือดต่ำ เลือดข้น และอาจตรวจน้ำเหลืองหรือเพาะเชื้อไวรัสจากเลือด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยในระยะ 1-2 วันแรกอาจมีอาการไม่ชัดเจน จึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและเจาะเลือดซ้ำถ้าอาการไม่ดีขึ้น

    ดังนั้น หากพบว่ามีไข้สูงอย่างกระทันหัน 2-7 วัน มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หน้าตา ตาแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีจุดแดงใต้ผิวหนัง ตามข้อพับ หรือแขนขา ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

    อย่างไรก็ตามไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่มียารักษา ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยกรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บคือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

    “ยุงเพศเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต และถึงแม้บริเวณที่วางไข่น้ำจะแห้ง ไข่ของยุงก็สามารถทนอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปี เมื่อมีน้ำขังอีกครั้ง ไข่ก็จะฟักเป็นลูกน้ำได้ ดังนั้นการคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรขัดล้างขอบภาชนะเสริมด้วย

ทำหมันยุงลาย
   
รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีทำหมันยุงลายเพื่อควบคุมปริมาณยุง โดยการฉีดเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียเข้าไปในยุงลายตัวผู้ และนำมาฉายรังสีแกมมาเพื่อทำให้เป็นหมัน เมื่อยุงตัวผู้ไปผสมพันธ์กับยุงตัวเมียก็จะทำให้ไข่ฝ่อ ช่วยลดปริมาณลูกน้ำยุงลายลง ซึ่งได้นำไปทดลองปล่อยในพื้นที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และพบผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ประชากรยุงมีจำนวนลดลง ทีมวิจัยจึงเตรียมเดินหน้าต่อปล่อยยุงเป็นหมันในพื้นที่ กทม. ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปี

    นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี และให้บริการฉีดกับประชาชนมา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ซึ่งถือเป็นวัคซีนแรกและชนิดเดียวของโลกที่มีอยู่ขณะนี้ ครอบคลุมไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ที่อาศัยในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือบุคคลที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดมาแล้ว โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถควบคุมการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 ลดการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80 และป้องกันการแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ได้ร้อยละ 73 จากผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น พบว่าสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ในระยะเวลา 5-6 ปี ส่วนหลังจากนั้นจะต้องมีการติดตามว่า จะต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำหรือไม่ ซึ่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อนอยู่ระหว่างการต่อยอดพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันไข้เลือดออกให้มากที่สุด

สมุนไพรไทย สยบ ยุงร้าย

    ไม่เพียงนวัตกรรมทางการแพทย์เท่านั้น แต่สมุนไพรพื้นบ้านของไทย ก็สามารถช่วยป้องกันภัยร้ายจากเจ้าแมลงตัวจิ๋วเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มสมุนไพรที่มีกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย อย่างเช่น

  1. ตะไคร้หอม อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กลิ่นของตะไคร้หอมไม่เป็นมิตรกับเหล่าแมลงเท่าไหร่นัก วิธีใช้ก็แสนง่าย เพียงทุบตะไคร้หอมให้พอแตก แล้วนำไปวางตามจุดต่างๆ เท่านี้ก็สามารถไล่เหล่ายุงร้ายไม่ให้มากวนใจได้แล้ว
  2. คนทีเขมา หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับชื่อนี้นัก แต่คนทีเขมานับเป็นสมุนไพรเก่าแก่ของประเทศไทย มักถูกนำไปผสมเป็นส่วนประกอบของสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นลูกประคบ เพราะมีฤทธิ์แก้อักเสบ บรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ส่วนของใบเมื่อนำมาขยี้ก็สามารถใช้ไล่แมลงได้เป็นอย่างดี
  3. โกฐจุฬาลัมพา ไม่เพียงเป็นสมุนไพรที่ได้รับการยกย่องว่าช่วยเสริมสิริมงคล ยังมีการศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยของโกฐจุฬาลัมพา มีฤทธิ์ในการไล่ยุง ยังยั้งการวางไข่ของยุง และลดอัตราการฟักไข่ของยุง ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาต้านมาลาเรียสำหรับสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย ได้อีกด้วย
  4. แมงลักคา สมุนไพรตระกูลเดียวกับกะเพราะ และสะระแหน่ มีคุณสมบัติโดดเด่นในการช่วยป้องกัน และกำจัดแมลง เรียกได้ว่ามีฤทธิ์แรงมากพอๆกับยากันยุงที่เน้นสารเคมี แต่ความปลอดภัยสูงกว่า มีผลการวิจัยพบว่าน้ำมันหอมระเหยของแมงลักคา มีฤทธิ์กันยุงได้นานถึง 5 ชั่วโมงเลยทีเดียว ทั้งยังเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
  5. ว่านน้ำ สมุนไพรฤทธิ์ร้อนที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยมักนำส่วนของ เหง้า มาตำแล้วพอกเพื่อไล่ยุง หรือตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับข้าวสารเพื่อป้องกันมอด และยังสามารถใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือโรยตามพื้นบ้านเพื่อป้องกันหมัด ในส่วนของรากยังสามารถนำมาใช้เป็นยาเบื่อแมลงต่างๆ เรียกได้ว่าคุณสมบัติหลากหลายในหนึ่งเดียว

    นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีสมุนไพรอีกหลากหลายชนิดที่รอให้คุณไปสัมผัสในงาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019” กับ Tropical Herbs Garden สวนสมุนไพรเขตร้อนนานาชนิด ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยกมาให้ดื่มด่ำกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสมุนไพรดูแลดวงตา ดูแลผิว แก้ปัญหาฝ้า กระ และสมุนไพรดูแลเส้นผม พร้อมเรียนรู้วิธีทำธูปหอมกันยุงจากสมุนไพร 100% ฟรีตลอดทั้งวัน ครบเครื่องเรื่องสมุนไพรต้องยกให้อภัยบูเบศร ห้ามพลาด 27-30 มิถุนายนนี้ ณ “ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี”

QR Code : วิธีเดินทางเข้าร่วมงาน