สัตวแพทย์ ชู ระบบไบโอซีเคียวริตี้ ยกระดับความปลอดภัยอาหาร ย้ำต้องปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน

สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้ผู้คนทั่วโลก หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความพิถีพิถันในการเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น ยังไม่นับรวมถึงโรคระบาดในสัตว์อย่าง ASF ถือว่าเป็น โรคอุบัติใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง ช่วยคนไทยมีแหล่งอาหารโปรตีน จากเนื้อหมูอย่างเพียงพอ

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เป็นระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มปศุสัตว์ที่ได้รับการยอมรับ ในระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย โรงเรือนระบบปิดที่มีการป้องกันสัตว์พาหะต่างๆ เช่น นก หนู สุนัข แมว แมลงต่างๆไม่ให้   เข้าไปในฟาร์ม รวมถึงอาหารและน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ต้องมีความปลอดภัย มั่นใจว่าปลอดเชื้อ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มา นอกจากนี้ ต้องทำความสะอาดสถานที่ในบริเวณการเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมการเข้าออกในฟาร์ม อย่างเคร่งครัด ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนผู้ปฏิบัติงานและพาหนะเข้าไปในฟาร์ม เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มีความสำคัญ เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดต่อจากสุกรสู่คน แต่หากประมาทอาจทำให้เชื้อโรคระบาดในฟาร์ม และสร้าง ความเสียหายกับผู้เลี้ยงสุกรได้

ข้อดีของการมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ คือช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดอื่นๆ ในฟาร์มสุกร ยังช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการใช้ยาและวัคซีน ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์ดูแลเอาใจ ใส่อย่างดีตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ อาหารและน้ำที่ใช้เลี้ยงสุกรต้องมีคุณภาพ สะอาด และเพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อม ที่อยู่สบาย ส่งผลให้สุกรแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย เกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ นับเป็นการยกระดับความปลอดภัยอาหารให้ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ผู้บริโภคต้องมีความตระหนักในความปลอดภัยอาหาร จากการเลือกซื้อ และวิธีการบริโภค ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีมาตรฐาน ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของภาครัฐ อย่าง “ปศุสัตว์ OK” ของ กรมปศุสัตว์ เลือกจากลักษณะของเนื้อสุกรที่ดี สีชมพูธรรมชาติไม่แดงเข้ม ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีตุ่มก้อนนูนผิดปกติ เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนการเก็บรักษาและการนำไปประกอบอาหาร ต้องล้างเนื้อสุกรให้สะอาด เก็บในช่องแช่แข็ง และต้องปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน เนื่องจากความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคอื่นๆ เช่น เชื้อสเตร็พโต – ค็อกคัส ซูอิส สาเหตุของไข้หูดับ ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับเชื้ออาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยขอให้ผู้บริโภคท่องจำให้ขึ้นใจว่าต้องปรุงสุกก่อนรับประทาน

อ.น.สพ.พิชัย จิรวัฒนาพงศ์
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน
ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์