“ฟิลิปปินส์” ปิดเกาะฟื้นฟู แผนกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยว

ฟิลิปปินส์สั่งปิด “เกาะโบราไกย์” (Boracay) ที่เป็น 1 ใน TOP 10 ทะเลสวยที่สุดของประเทศ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเร่งฟื้นฟูธรรมชาติ รวมถึงจัดการสถานบริการต่าง ๆ บนเกาะที่มีส่วนทำลายเกาะแห่งนี้ที่กำลังกลายสภาพเป็น “บ่อน้ำเสีย” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในระยะสั้นอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของมะนิลา แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีในระยะยาวสำหรับชาติที่พึ่งพาการส่งออกแรงงานไปต่างประทศเป็นหลักอย่างฟิลิปปินส์

 

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ความเคลื่อนไหวจากฝั่งประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มชัดเจนมากขึ้น ถึงจุดประสงค์ที่ต้องการฟื้นฟูและปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ ของประเทศ อย่างเช่น

“ประเทศไทย” ที่ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะเตรียมปิด “อ่าวมาหยาและเกาะพีพี” ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. หลังนักท่องเที่ยวนับล้านคนทะลักและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังส่งสัญญาณว่า อาจปิดเพิ่มในบางพื้นที่เสี่ยงอย่างเขาตะปู เขาพิงกัน อ่าวพังงา เกาะรอก เกาะลันตา และจุดท่องเที่ยวในสิมิลัน

จากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ ประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต” แห่งฟิลิปปินส์ ก็มีคำสั่งให้ปิด “เกาะโบราไกย์” โดยไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า พร้อมกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศท่องเที่ยวต้นแบบ ซึ่งการปิดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อปรับปรุงธรรมชาติคือสิ่งที่ดีที่สุด

สำหรับเกาะโบราไกย์ที่เปรียบเสมือนเป็น “เกาะที่ตายแล้ว” ในเวลาไม่ถึง 10 ปี นับจากวันที่เปิดเกาะครั้งแรก รัฐบาลมะนิลามีกำหนดให้ปิดเกาะแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้เป็นเวลา 6 เดือน หลังพบว่าโรงแรม รีสอร์ตหรู และร้านค้าที่อยู่บนเกาะราว 500 ราย แต่มีเพียง 47% หรือราว 200 ราย ที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสุขาภิบาล โดยมีการเชื่อมต่อท่อเพื่อระบายน้ำเสียสู่โรงงานบำบัด

นอกจากนี้การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวในแต่ละปีที่มากกว่า 2 ล้านคน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของความเสื่อมโทรมของธรรมชาติด้วย โดยรายงานของ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ระบุว่า อันที่จริงเกาะโบราไกย์สามารถรองรับผู้คนได้เพียง 30,000 คนเท่านั้น

ทว่ากลับมีจำนวนผู้คนบนเกาะแห่งนี้ถึง 70,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้พักอาศัย 50,000 ราย และนักท่องเที่ยวที่เข้ามารายวันประมาณ 20,000 คน

ด้าน นายเฟรเดอริค อาเลกรี ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว ระบุว่า รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 8.6% ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ขณะที่ปีที่ผ่านมาเกาะโบราไกย์สร้างรายได้ถึง 56,000 ล้านเปโซ หรือราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าคำสั่งปิดเกาะนี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมะนิลา ขณะที่สายการบินหลัก ๆ ที่เน้นไฟลต์บินมาเกาะแห่งนี้อย่างสายการบินเซบู แปซิฟิก และสายการบินฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ก็ประกาศระงับเที่ยวบินกว่า 14 เที่ยวต่อวันแล้วชั่วคราว แต่เชื่อว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ นางมาเรีย เอลา อาเทียนซาจากมหาวิทยาลัย Philippines Diliman มองว่า ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์พึ่งพาการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศมากเกินไป การที่รัฐบาลบรรจุแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวจะเอื้อประโยชน์ได้ในระยะยาว

“ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีทะเลสวย มีจำนวนเกาะขนาดใหญ่ราว 11 เกาะ และเกาะเล็ก ๆ ถึง 7,107 แห่ง ที่ยังไม่ได้รับการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว หากแผนการฟื้นฟูนี้ประสบความสำเร็จ และรัฐบาลเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดเกาะใหม่ ๆ เพื่อกระจายกลุ่มนักท่องเที่ยว รายได้ที่เข้าประเทศจากภาคท่องเที่ยวจะเพิ่มมูลค่าขึ้น”