ผลสำรวจ “เวิลด์แบงก์” “ภาวะลมต้าน” ฉุดเศรษฐกิจอาเซียน

ท่ามกลางภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก มีการคาดการณ์ว่าหลากหลายปัจจัยลบจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตแบบชะลอตัวในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่พึ่งพาการส่งออกมีแนวโน้มจะชะลอตัวตาม

วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้เปิดตัวรายงาน East Asia and Pacific Update ประจำเดือน เม.ย. 2019 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการลมต้านเศรษฐกิจโลก” โดยนายแอนดรู เมสัน รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุว่า “ลมต้าน” ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความตึงเครียดจากสงครามการค้า จีนเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจหันไปให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจภายใน และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอาเซียนยังมีศักยภาพที่จะรับมือภาวะหดตัวของเศรษฐกิจโลกได้ เพราะหลายประเทศยังมีความต้องการบริโภคภายในสูงอย่างเศรษฐกิจของ “อินโดนีเซีย” ที่มีความต้องการบริโภคภายในยังสามารถทดแทนการส่งออกได้ จึงมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับ “มาเลเซีย” ที่ประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะความต้องการในประเทศมีความยืดหยุ่น แต่การส่งออกและลงทุนจากภาครัฐลดลง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจมีบ้างในปี 2020

ขณะที่ “ฟิลิปปินส์” ประเมินว่าจะไม่เติบโตเท่าที่ควร จากการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า รวมถึงการส่งออกลดลง อัตราเงินเฟ้อสูง และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน แต่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2020 จากนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการส่งเสริมการจ้างงาน

ส่วนเศรษฐกิจของไทยปีนี้ จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่ความต้องการบริโภคภายในประเทศและนโยบายการคลังแบบขยายตัวยังสามารถชดเชยได้

ทว่าความไม่ต่อเนื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้า ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนออกไป

คล้ายคลึงกับ “เวียดนาม” ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เพราะเวียดนามพึ่งพาการส่งออกมาก จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเงิน และความต้องการบริโภคภายนอกที่ลดลง

“กัมพูชา” มีแนวโน้มจะเติบโตจากการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐ ส่วน “สปป.ลาว” ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น สำหรับ “เมียนมา” เศรษฐกิจจะชะลอตัว จากที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า อาเซียนมีศักยภาพในการรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากความยืดหยุ่นของนโยบายเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมความต้องการภายในประเทศทดแทนยอดส่งออกที่ลดลง, มาตรการการควบคุมเงินเฟ้อ และการส่งเสริมการลงทุนในภาครัฐและเอกชน, การกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภาคครัวเรือน เป็นต้น

ปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คือ “ความยากจน” แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจำนวนคนยากจนในอนาคตจะลดลงเหลือเพียง 3% ของประชากรโลกในปี 2021

แต่ประเทศในภูมิภาคนี้ให้ความคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมถึงกลุ่มคนยากจนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น จึงควรมีมาตรการกระจายความมั่งคั่ง เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากขีดความยากจนแล้วไม่กลับไปยากจนอีก