ประท้วงในอิหร่าน : ความไม่สงบ 50 วันในอิหร่านทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5 เรื่องสำคัญ

การประท้วงที่เริ่มขึ้นในอิหร่านเมื่อราว 50 วันก่อน เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้กลายเป็นการท้าทายรัฐบาลอิหร่านครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอิสลามในปี 1979

ความไม่สงบเริ่มขึ้นในวันที่ 16 ก.ย. หลังจากการเสียชีวิตของมาห์ซา อามีนี วัย 22 ปี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวไว้ในกรุงเตหะราน จากข้อกล่าวหาละเมิดกฎที่เข้มงวดของอิหร่านที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมศีรษะปกคลุมผม

ด้านหลังของผู้หญิงถือผ้าคลุมผม และทำเครื่องหมายชัยชนะ

นับจากนั้น ผู้ประท้วงก็ได้ออกมาแสดงการต่อต้านการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์สำนักข่าวนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน (Human Rights Activists News Agency–HRANA) อ้างว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 2 พ.ย. มีผู้เสียชีวิตแล้ว 298 คน และถูกจับกุมตัวมากกว่า 14,000 คน จากการประท้วงใน 129 เมือง

ประชาชนในอิหร่านกล่าวกับบีบีซีว่า การประท้วงได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่างในการใช้ชีวิตประจำวันในอิหร่าน 5 เรื่อง

ถอดฮิญาบทิ้ง

ภาพผู้หญิงอิหร่านไม่ยอมสวมผ้าคลุมผม ปรากฏอยู่เกลื่อนโซเชียลมีเดีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากได้ต่อต้านกฎเกี่ยวกับการคลุมผมกันเป็นประจำ โดยผู้หญิงหลายคนได้ปีนขึ้นไปบนถังขยะและรถยนต์ โบกผ้าคลุมผมกลางอากาศ

โซเชียลมีเดียยังเต็มไปด้วยภาพผู้หญิงปรากฏตัวในที่สาธารณะโดยไม่สวมผ้าคลุมผมอีกด้วย รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนอย่าง ฟาเตเมห์ โมตาเหม็ด-อารีอา นักแสดง การต่อต้านของประชาชนครั้งนี้มีขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้

บางคนถึงขั้นโพสต์ภาพของหญิงสาวชาวอิหร่านที่ปล่อยผมโดยไม่มีผ้าคลุมอยู่ใกล้กับเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง แต่เจ้าหน้าที่ทางการยืนกรานว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าว

“การถอดผ้าคลุมผมยังคงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่” อาลี ข่านโมฮัมมาดี โฆษกของตำรวจศีลธรรมของอิหร่านกล่าวกับเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งเมื่อ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากหยุดยั้งการท้าทายข้อห้ามนี้ ผู้หญิงอายุ 69 ปีคนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการประท้วง เธอมักจะออกจากบ้านโดยไม่สวมผ้าคลุมผม

“วันก่อนฉันเดินอยู่บนถนน และได้ยินเสียงรถบีบแตรอยู่ข้างหลัง ฉันหันกลับไปและเห็นหญิงสาวคนหนึ่งอยู่ในรถโดยไม่สวมผ้าคลุมผม” ผู้หญิงซึ่งขอไม่ให้บีบีซีเปิดเผยชื่อกล่าว

“เธอส่งจูบให้ฉัน และทำสัญลักษณ์ชัยชนะ ฉันก็ทำแบบเดียวกัน ! ในช่วง 40 กว่าวันนี้ ประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา”

ยึดครองกำแพงและท้องถนน

ภาพวาดบนกำแพงที่อีกเครื่องมือหนึ่งของผู้ประท้วงในอิหร่าน โดยในภาพนี้คือ ภาพรองเท้าของผู้หญิงเตะตำรวจ และมีคำว่า ผู้หญิง, ชีวิต และเสรีภาพ อยู่ด้านบน

การประท้วงในปัจจุบันในอิหร่านยังแตกต่างจากการประท้วงก่อนหน้านี้ เพราะมีการใช้กำแพงสาธารณะในการแสดงการต่อสู้

การพบเห็นคำขวัญที่ขีดเขียนบนกำแพงเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในขณะนี้ เช่นเดียวกับคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียที่ผู้คนถ่ายตัวเองขณะกำลังขีดเขียนบนกำแพง สภาเมืองต่าง ๆ ได้ทาสีทับกราฟิตี แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้คนหยุดขีดเขียนกำแพงได้

คำขวัญส่วนใหญ่พุ่งเป้าโจมตีอยาตอลเลาะห์ คามาเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน โดยมีการใช้ภาษาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมักไม่ค่อยพบเห็นก่อนหน้านี้ และมีการโจมตีรัฐบาลที่นำโดยนักบวชของอิหร่านด้วยการชี้ว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนา

แต่การต่อสู้ที่แท้จริงเพื่อแย่งชิงพื้นที่สาธารณะกำลังเกิดขึ้นบนท้องถนน ผู้ประท้วงไม่สนใจกฎเกณฑ์ที่ห้ามการชุมนุมประท้วง ผู้ประท้วงได้ฉีกทำลายหรือก็ไม่เขียนคำหรือวาดภาพทับไปบนแผ่นป้ายของรัฐบาล

“ประชาชนได้สร้างเขตปลดปล่อยชั่วคราวขึ้น ซึ่งผู้หญิงและเด็กสาวออกมาเต้นรำขณะที่ฝูงชนส่งเสียงร้อง ผู้คนตะโกนคำขวัญเรียกร้องให้ยุติการบังคับ ขณะที่พวกเขาหารือกันว่า การเคลื่อนไหวนี้ควรจะดำเนินไปในทิศทางไหน” อเล็กซ์ ชามส์ นักเคลื่อนไหวและนักเขียนชาวอิหร่านกล่าวกับบีบีซี

“การประท้วงเองได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวอิหร่านในการวาดฝันถึงอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป”

พลังของคนรุ่นใหม่

ชาวอิหร่านรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ได้มีบทบาทในการประท้วงครั้งนี้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ที่มาของภาพ, Getty Images

เด็กนักเรียนได้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุดในการประท้วง และ HRANA อ้างว่า มีเด็กเสียชีวิตแล้วมากกว่า 47 คน ระหว่างการประท้วง

คนรุ่นใหม่ที่เสียชีวิตได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่สงบที่สำคัญ อย่างชื่อของ นิกา ชาการามี และซาไรนา เอสมาลซาเดห์ ได้กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมและภาพของพวกเขาก็ปรากฏอยู่ตามกำแพงจำนวนมาก

นี่เป็นครั้งแรกที่พบเห็นคนรุ่นใหม่ของอิหร่านออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ระหว่างการประท้วง

ในโซเชียลมีเดีย มีคลิปวิดีโอเด็กนักเรียนหลายคลิป (ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง) ตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐบาล ฉีกรูปของอยาตอลเลาะห์ คามาเนอี ผู้นำสูงสุด หรือนำภาพคนเสียชีวิตระหว่างการปราบปรามไปติดแทนภาพในตำราเรียน

คลิปวิดีโอที่มีคนส่งต่อกันจำนวนมากคลิปหนึ่งทางโซเชียลมีเดียเป็นคลิปที่บรรดาเด็กนักเรียนกำลังตะโกนให้สมาชิกของกองกำลังความมั่นคงคนหนึ่งลงมา หลังจากที่เขาเดินทางไปพูดที่โรงเรียนของพวกเขา โดยเหล่านักเรียนพากันตะโกนว่า “ไปให้พ้น”

การท้าทายที่เอาชนะความกลัว

ชาวอิหร่านท้าทายเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

เมื่อ 29 ต.ค. ฮูสเซน ซาลามี หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติได้ยื่นคำขาดกับผู้ประท้วง

“อย่าออกมาบนท้องถนน ! วันนี้คือวันสุดท้ายของจลาจล” ซาลามีกล่าว ตามรายงานของสื่อทางการ

แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีรายงานการประท้วงเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง และมีการปะทะกับกองกำลังความมั่นคง

บีบีซีภาคภาษาเปอร์เซียได้พบเรื่องราวที่ประชาชนแสดงการท้าทายบางอย่างขณะที่เผชิญหน้ากับการปราบปรามอันโหดร้าย ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนในระดับนี้

หนึ่งในนั้นคือ หญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ เธอกล่าวว่า เธอได้ทิ้งลูกน้อยไว้กับแม่เพื่อที่จะเข้าร่วมการชุมนุม

“ฉันกลัว แต่ฉันต้องทำเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกของฉัน”

ฟาราวาซ ฟาวาร์ดีนี นักเคลื่อนไหวและนักร้องชาวอิหร่านที่อยู่ในเยอรมนี เชื่อเช่นกันว่า ความโกรธเคืองต่อสถานการณ์ในปัจจุบันทั่วสังคมอิหร่าน เป็นตัวที่ส่งแรงเหวี่ยงให้การประท้วงดำเนินต่อไป

“ทุกอย่างกำลังมีราคาแพงขึ้น มีการปราบปรามอย่างมาก” ฟาวาร์ดีนี กล่าว “หลังจากเกิดเรื่องกับมาห์ซา อามีนี ผู้คนตระหนักแล้วว่า แม้แต่คนที่ไม่ได้เข้าร่วมทางการเมืองก็อาจถูกฆ่าตายได้ง่าย ๆ ฉันคิดว่า นั่นทำให้คนจำนวนมากออกมาต่อสู้เพื่อความหวัง”

ความสามัคคี

การประท้วงนี้ดูเหมือนจะทำให้กลุ่มย่อยต่าง ๆ ในสังคมอิหร่านมารวมตัวกัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ลักษณะเด่นที่สังเกตเห็นได้ของการประท้วงเหล่านี้คือ การประท้วงเหล่านี้ได้กระตุ้นหลายภาคส่วนของสังคมอิหร่านให้ออกมาประท้วง ต่างจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้

การประท้วงในปี 2009 ที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้น นำโดยชนชั้นกลาง และการลุกฮือในปี 2019 เกิดจากกลุ่มคนที่ยากจนกว่าหลายกลุ่ม ออกมาประท้วงราคาเชื้อเพลิง

แต่ความไม่สงบครั้งนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของอิหร่านออกมาเดินขบวนด้วยกัน และจุดที่เหมือนกันได้สะท้อนผ่านคำขวัญ

ในการประท้วงช่วงแรก ๆ หลังการเสียชีวิตของมาห์ซา อามีนี ซึ่งเป็นชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ด ได้มีคำขวัญในภาษาท้องถิ่นของเธอคือ “Jin, Jiyan, Azadi” (แปลว่า ผู้หญิง, ชีวิต และเสรีภาพ ในภาษาเคิร์ด)

ปัจจุบันคำขวัญนี้ได้มีเวอร์ชั่นภาษาฟาร์ซี ซึ่งเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในอิหร่านด้วย และเช่นเดียวกับในภาษาอาเซอรี หรือ ภาษาอาเซอร์ไบจาน

อเล็กซ์ ชามส์ กล่าวว่า ข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลอ้างที่ว่า การประท้วงอาจนำไปสู่การแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ และสงครามกลางเมืองในอิหร่าน ไม่สามารถสั่นคลอนความสามัคคีของผู้ประท้วงได้

“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ชาวอิหร่านที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกันเป็นใจกลางของแรงส่งของการประท้วงนี้ และได้ทำลายความกลัวและข้อกังขาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค แม้ว่ารัฐบาลพยายามอ้างว่า การประท้วงเป็นการต่อต้านศาสนา ประชาชนทั้งที่นับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา ได้ออกมายืนเคียงข้างกัน และปฏิเสธที่จะเป็นศัตรูกัน” เขากล่าวเพิ่มเติม

การเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่อิหร่านได้ แต่ชามส์เชื่อว่า ครั้งนี้อาจจะไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ

“ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความรู้สึกของผู้คนต่อเรื่องที่เป็นไปได้ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และนั่นคือชัยชนะในตัวของมันเอง” ชามส์สรุป

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว