นพพร ศุภพิพัฒน์ VS ณพ ณรงค์เดช + SCB ลุ้นคำตัดสินศาลอังกฤษคดี 5 หมื่นล้านบาท

Getty Images สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์

ศาลแพ่งอังกฤษเสร็จสิ้นการไต่สวนคดีที่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก นายณพ ณรงค์เดช, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ผู้บริหาร SCB และผู้บริหาร และกรรมการของ WEH รวม 17 ราย คาดว่าจะมีคำพิพากษาคดีนี้ได้ภายใน ก.ค. นี้

ก่อนหน้านี้ นายนพพรได้ยื่นฟ้องร้องนายณพ และผู้เกี่ยวข้องทั้งในศาลไทย และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในสิงคโปร์ด้วย

คดีนี้นับเป็นมหากาพย์ที่กินเวลากว่า 8 ปี นับจากที่นายนพพร นักธุรกิจหนุ่มดาวรุ่งเศรษฐีด้านโรงไฟฟ้าพลังลม ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงปลายปี 2557 ทำให้ต้องหนีออกนอกประเทศ แล้วหาตัวแทนอำพราง (nominee) มาถือหุ้นในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้ง จนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายณพ ผู้ซื้อ, SCB ผู้ปล่อยกู้ให้นายณพ และการฟ้องร้องระหว่าง ครอบครัวณรงค์เดช กับ นายณพ ในเรื่องปลอมแปลงเอกสาร และเรื่องอื่น ๆ

ข้อพิพาทนี้ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ไปจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด โดย นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ซีอีโอคนปัจจุบัน ของ WEH ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ เมื่อ ต.ค. ปีที่แล้ว คาดว่าคดีความทั้งหมดจะคลี่คลายได้ภายในปลายปี 2566 และทำ IPO ได้ภายในปี 2567-2568

ในคดีที่อังกฤษ นายนพพรกล่าวหาจำเลยทั้ง 17 ว่าสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH ในราคาต่ำกว่ามูลค่า โดยศาลกำหนดใช้เวลาสืบพยานทั้งสิ้น 17 สัปดาห์ เริ่มต้น ตั้งแต่กลาง ต.ค. 2565 และสิ้นสุดเมื่อต้น มี.ค. ปีนี้

นายนพพรยื่นฟ้องร้องคดีที่ศาลอังกฤษ เนื่องจากจำเลยที่ 2 คือ นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ (Emma Louise Collins) อดีตซีอีโอของ WEH มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งกฎหมายของอังกฤษอนุญาตให้ศาลอังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดนอกประเทศได้ และจำเลยอื่น ๆ ในคดีนี้ที่ไม่มีสัญชาติอังกฤษก็ไม่ปฏิเสธขอบเขตอำนาจของศาลอังกฤษ

ADVERTISMENT

การพิจารณาคดีนี้ ศาลอังกฤษนำกฎหมายไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง เบลิทซ์ และ หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (BVI) และกฎหมายล้มละลายของอังกฤษ (Insolvency Act 1986) มาประกอบการพิจารณาคดี

baht

ADVERTISMENT
Reuters

โจทก์ 4 จำเลย 17

ฝ่ายโจทก์ มี 4 ราย (นายนพพร และบริษัทของเขา) ได้แก่

1) นายนพพร ศุภพิพัฒน์

2) บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด

3) บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด

4) บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จำกัด

จำเลย มี 17 ราย (ผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร WEH, SCB และผู้บริหาร SCB) ได้แก่

1) นายณพ ณรงค์เดช

2) นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์

3) นายธันว์ เหรียญสุวรรณ

4) นายอามาน ลาคานี

5) นางคาดีจา บิลาล ซิดดิกี

6) บริษัท คอลัมม์ อินเวสต์เมนท์ส จำกัด

7) บริษัทเคเลสตัน โฮลดิงส์ จำกัด

8) บริษัท เอแอลเคบีเอส

9) บริษัท โกลเด้น มิวสิค จำกัด

10) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

11) นาย อาทิตย์ นันทวิทยา

12) บริษัท คอร์นวอลลิส

13) นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ

14) ดร.เกษม ณรงค์เดช

15) คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา

16) นายประเดช กิตติอิสรานนท์

17) นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์

ตัวละครสำคัญ

จำเลยสำคัญในคดีนี้ คือ นายณพ ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายเกษม ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 คือ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ยายของนายณพ และภรรยาของ พล.ต.อ. พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ

นายอาทิตย์ในฐานะอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และอดีตประธานกรรมการบริหาร SCB เป็นจำเลยที่ 11 ส่วนธนาคารเป็นจำเลยที่ 10 ส่วนนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13

หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนของ SCB เมื่อ 23 มี.ค. ที่ 34.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าของการฟ้องเรียกค่าเสียหายอยู่ที่ 5.157 หมื่นล้านบาท

สรุปคดีหลัก

ช่วงปี 2552 – 2557 นายนพพรถือหุ้น WEH เป็นจำนวน 59.46% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด (REC) โดยบริษัท REC มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด, บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทก็เป็นบริษัทของนายนพพรเอง ถือหุ้น REC รวม 97.94% ของทั้งหมด

จนปลายปี 2557 นายนพพรถูกกล่าวหาด้วยคดีอาญาหลายคดี รวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีการกดดันจาก SCB และกรรมการของ WEH ให้นายนพพร ขายหุ้น WEH เพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินจาก SCB สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้า และในปี 2558 นายณพ ได้ขอซื้อหุ้นจากนายนพพร โดยนายณพ ได้จัดตั้ง 2 บริษัทขึ้นมาทำสัญญาซื้อหุ้น จากกลุ่มบริษัทของนายนพพร คือ

1. บริษัท ฟูลเลอร์ตัน เบย์ อิน เวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด ซึ่งนายณพ มีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว

2. บริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี โฮลดิ้ง จํากัด (KPNEH) ซึ่งนายณพ ถือหุ้น 40%, บริษัทฟูลเลอร์ตัน ถือ 20% โดยหุ้นส่วนที่เหลือมี นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ และ นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหารและกรรมการของบริษัท WEH ถือคนละ 20%

การทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท REC ของ นายนพพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ใน WEH ให้ นายณพ แบ่งเป็นสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่

1. สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด ขายหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ของจํานวนหุ้นทั้งหมด ให้ กับบริษัท ฟูลเลอร์ตัน ของ นายณพ โดยตกลงซื้อขายหุ้นในราคา 85.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จํากัด และบริษัทไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ของนายนพพร ขายหุ้นที่เหลืออีก 49.94% ให้กับ KPNEH ของ นายณพ โดยตกลงซื้อขายหุ้นในราคา 89.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมา นายนพพร ได้ยื่นฟ้อง SCB ผู้บริหาร SCB และผู้บริหารและกรรมการของ WEH รวม 17 ราย เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะไม่ได้รับการชำระเงินส่วนที่เหลือจากนายณพ และหุ้นที่ได้ขายไปนั้น ได้มีการโอนไปให้ผู้อื่น จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคดีหลักต่อศาลอังกฤษ

ทนายความของนายนพพร ระบุว่า ฝ่ายจำเลยสมคบกันใช้อำนาจในการจัดการเอกสารสำคัญ ในช่วงปี 2557 – 2561 จูงใจให้นายนพพรและบริษัทในเครือของเขาขายหุ้น REC ในราคาต่ำกว่าราคายุติธรรมให้กับบริษัทของนายณพ โดยในช่วงที่มีการซื้อขาย หุ้นมีมูลค่า 872 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นายนพพรกลับได้รับเงินเพียง 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฝ่ายโจทก์ระบุว่า จำเลยบางรายบิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วจูงใจให้ตนขายหุ้น REC ให้กับบริษัทของ นายณพก่อน โดยหลอกว่าตนจะมีสิทธิในการซื้อหุ้น WEH คืนได้ด้วยสิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิง (call options) แต่หลังจากที่ นายนพพรโอนหุ้น REC ไปยังบริษัทของ นายณพ แล้ว กลับมีการโอนหุ้น WEH ออกจาก REC ให้จำเลยหลายราย ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้ นายนพพร สามารถเข้าถึงหุ้น WEH

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นบริษัท WEH และผู้บริหาร SCB ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

SCB

Getty Images

ใครเป็นนอมินีใคร

ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลอังกฤษ โจทก์นำเอกสารจากประเทศเบลิทซ์ มาแสดงต่อศาลว่า มีคำสั่งระงับการโอนหุ้นของ WEH 800,000 หุ้น ซึ่งอยู่ที่ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด (Cornwallis) จำเลยที่ 12 ซึ่งจดทะเบียนในประเทศเบลิทซ์ โดยบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือใช้ศัพท์เทคนิคว่า Ultimate Beneficial Owner (UBO) คือ นายอาจ เสรีนิยม

โจทก์กล่าวหาต่อศาลว่า นายอาจ คือ ตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี ของนายอาทิตย์ การโอนหุ้นครั้งนี้คือการที่นายณพติดสินบนนายอาทิตย์ นอกจากนี้ทนายโจทก์ยังได้นำพยานโจทก์ปากหนึ่งมาเบิกความต่อศาลว่านายอาจเป็นเพื่อนสนิทของนายอาทิตย์ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของ SCB ต่างก็ทราบเรื่องนี้

“นี่ไม่ใช่ข่าวลือนะครับ… ผมได้ยินเรื่องว่าเป็นนอมินีของคุณอาทิตย์ไม่ใช่จากแหล่งเดียวนะ แต่หลายแหล่งทีเดียว ผมว่าประมาณ 4-5 แหล่งที่น่าเชื่อถือทีเดียว” ศรีสันต์ จิตรวรนันท์ พยานโจทก์ ตอบคำถามทนายจำเลยในศาลว่าสิ่งที่เขาได้ยินมานั้นเป็นข่าวลือหรือไม่

ในเอกสารสรุปคำให้การต่อศาลของนายอาทิตย์ และนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ลงวันที่ 17 ก.พ. 2023 จำเลยทั้งสองชี้แจงเรื่องนี้ว่า “ข้ออ้างเรื่องสินบนที่เกี่ยวกับคอร์นวอลลิสเป็นเรื่องที่ก็ยอมรับแล้วว่าคาดเดากันไปเอง (และโจทก์ไม่เคยพิสูจน์ข้ออ้างนั้น)”

ในเอกสารคำให้การปิดคดีของฝ่ายโจทก์ ลงวันที่ 10 ก.พ. 2566 ระบุว่า เมื่อ 5 ก.ค. 2561 นายนพพรได้เขียนจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ร้องเรียนข้อกังวลหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสินบนที่นายอาทิตย์ได้รับในรูปของหุ้น WEH ที่โอนไปที่คอร์นวอลลิส โดยมีเจ้าของบัญชีที่แท้จริง คือ นายอาจ ที่ทำหน้าที่เป็นนอมินีของนายอาทิตย์

ต่อมา นายณพทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 17 ก.ค. 2561 อธิบายว่านายอาจ เป็นนอมินีแทนของคุณหญิง กอแก้ว บุณยะจินดา ไม่ใช่นายอาทิตย์

“เนื่องจากคุณหญิง กอแก้ว บุณยะจินดา ไม่ประสงค์จะเปิดเผยต่อผู้อื่นว่าตัวเองเป็นเจ้าของหุ้นหรือผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด ข้าพเจ้าจึงแนะนำนายอาจ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าพเจ้าและเป็นคนที่ข้าพเจ้าไว้วางใจ เป็นเจ้าของผลประโยชน์ของ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด ในนามของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา คุณอาจ เสรีนิยม และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ทำสัญญาตัวแทนลงวันที่ 19 ก.พ. 2561 รายละเอียดตามเอกสารแนบ นายอาจ เสรีนิยม ไม่มีผลประโยชน์และส่วนได้เสียใน คอร์นวอลลิส และWEH แต่อย่างใด”

เอกสารของฝ่ายโจทก์ต่อศาลยังอ้างคำให้การของนายอาทิตย์ในศาลอังกฤษว่า เขาเป็นคนบอกนายณพให้เป็นผู้ทำหนังสือชี้แจงไปที่แบงก์ชาติ

SCB ว่าอย่างไร

เมื่อ 13-14 ธ.ค. นายอาทิตย์ให้การที่ศาลธุรกิจในลอนดอนว่า ธนาคารมี “ความกังวลอย่างมากที่ต้องกลายเป็นผู้ปล่อยกู้ให้แก่โครงการที่มีเจ้าของถูกดำเนินคดีอาญา”

นายนพพร ถูกตั้งข้อหาในคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เมื่อ 1 ธ.ค. 2557 เป็นช่วงที่ SCB อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติสนับสนุนทางการเงินให้กับ WEH ทาง SCB จึงตัดสินใจระงับการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งการขาดสินเชื่อจาก SCB ส่งผลกระทบกับโครงการผลิตไฟฟ้าที่ยังต้องผลิตและจำหน่ายให้กับ กฟผ. ตามสัญญา ไม่เช่นนั้นบริษัทจะถูกปรับ และอาจถูกบอกเลิกสัญญาได้

ช่วงที่ WEH ได้ลงทุนในโครงการพลังงานลมวะตะแบก ที่ จ.ชัยภูมิ ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท และกำลังรอการอนุมัติเงินกู้อีก 2,500 ล้านบาทจาก SCB เป็นช่วงที่นายนพพรได้ฟ้องนายณพต่ออนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ เพื่อขอยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น REC หมายความว่า นายนพพรมีโอกาสจะเข้าเข้ามาอยู่ในโครงสร้างผู้ถือหุ้น WEH ได้ SCB จึงหยุดปล่อยสินเชื่อ จนกว่าจะมั่นใจว่า WEH ไม่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112

ด้วยเหตุนี้ นายณพจึงตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัท WEH โดยให้บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET (เมื่อ นายณพ ซื้อบริษัท REC แล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย)) ขายหุ้น WEH ออกไป เพื่อไม่ให้นายนพพรกลับเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของบริษัท WEH

ในเอกสารคำให้การปิดคดีของฝ่ายจำเลย ลงวันที่ 17 ก.พ. 2566 นายณพ และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ความยาว 11 หน้า ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดของนายนพพร ในเรื่องสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH ในราคาต่ำกว่ามูลค่า บิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วจูงใจให้โจทก์ขายหุ้น REC ให้กับบริษัทของนายณพก่อน โดยหลอกนายนพพรว่าจะมีสิทธิในการซื้อหุ้น WEH คืนได้ด้วยสิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิง (call options)

“แม้เรื่อง call options เป็นความประสงค์ของนายนพพร ที่เสนอเรื่องนี้ในหลายโอกาส แต่นายณพ ณรงค์เดช หรือ นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ไม่เคยเห็นพ้องด้วย” เอกสารระบุ

จากคดีความกับนพพร สู่ ศึกในตระกูล ณรงค์เดช

ณพ ณรงค์เดช เป็นลูกชายคนกลางของ ดร.เกษม ณรงค์เดช และคุณหญิงพรทิพย์ (สกุลเดิม พรประภา) ผู้ก่อตั้งบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยครอบครัวณรงค์เดช-เคพีเอ็นกรุ๊ปมีธุรกิจหลายประเทศรวมมากกว่า 50 บริษัท รวมถึงสถาบันสอนร้องเพลง KPN ที่หลายคนรู้จักด้วย ในบรรดาบริษัทในเครือนี้ นายณพเป็นกรรมการในบริษัทอยู่ถึง 35 บริษัท

ช่วงต้นปี 2558 นายณพสนใจเข้าลงทุนในบริษัท WEH จึงได้ชักชวน นายเกษม ณรงค์เดช บิดา, นายกฤษณ์ ณรงค์เดช พี่ชาย และ นายกรณ์ ณรงค์เดช น้องคนเล็ก ให้เข้าซื้อหุ้นด้วย ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ตัดสินใจลงทุนใน WEH โดยให้ นายณพ เป็นตัวแทนดำเนินการเจรจาซื้อหุ้น

ความขัดแย้งภายในครอบครัวเกิดขึ้นทันทีเมื่อครอบครัวณรงค์เดช และบริษัทต่าง ๆ ในเครือถูก นายนพพร ฟ้องร้องในข้อหาโกงเจ้าหนี้ ในช่วงต้นปี 2561 จึงทำให้ครอบครัวเพิ่งรับรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการซื้อหุ้น WEH มาจากนายนพพร ต่อมา นายเกษมก็เพิ่งรู้ว่านายณพ ได้โอนหุ้น WEH ต่อมาเป็นทอด ๆ มาถึงบริษัท โกลเด้น มิวสิค จํากัด (GML) ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง ตอนที่ได้รับหนังสือจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายว่าถูกฟ้องร้อง

จากนั้น ครอบครัวณรงค์เดช ก็กล่าวหาว่า นายณพใช้เอกสารที่มาจากการ “ปลอมลายมือชื่อ” ของนายเกษม เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัท GML ให้ คุณหญิงกอแก้ว แม่ยายนายณพ และภรรยาของ พล.ต.อ. พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจที่เสียชีวิตไปแล้ว มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ GML แทน นายเกษม

จนเกิดเป็นศึกระหว่างตระกูล ณรงค์เดช และ บุณยะจินดา ถึงขั้นครอบครัวณรงค์เดชออกแถลงการณ์ตัดขาดความสัมพันธ์กับ นายณพ และคดีความระหว่างกันก็ยืดเยื้อมาหลายปี จนเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ยกฟ้องคุณหญิงกอแก้ว พร้อมพวก เนื่องจาก พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักน้อย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ครอบครัวณรงค์เดชยืนยันในข้อเท็จจริง และประกาศว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ต่อมา เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นายณพเพิ่งโพสต์บนอินสตาแกรมของตัวเอง โดยระบุว่า เขาได้พบกับพ่อเป็นครั้งแรก หลังจากไม่ได้พบกันมานานเกือบ 3 ปี พร้อมลงท้ายเป็นภาษาอังกฤษว่า “ผมรักพ่อ และจะรักเสมอ ลูกชายของพ่อ…ณพ”

จากนักธุรกิจอนาคตไกล สู่ ผู้ลี้ภัย คดี 112

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ก่อตั้งในปี 2552 โดยนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานลมรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยครองสัดส่วนมากกว่า 42% ของโควตาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ โดยใบอนุญาตที่ WEH ได้รับในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้บริษัทมีการรับรู้รายได้ที่มั่นคง อีกทั้งธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมากอีกด้วย

นายนพพร ขึ้นมาเป็นนักธุรกิจแถวหน้าในวงการธุรกิจพลังงานภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี จนติดอันดับ 31 มหาเศรษฐีของประเทศไทยในนิตยสารฟอร์บสเมื่อปี 2557 โดยนายนพพรในวัย 43 ปีถือเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ที่อายุน้อยที่สุดของปีนั้น (เกิด 30 มี.ค. 2514)

แต่ชีวิตของเขากลับพลิกผันอย่างมาก หลังจากวันที่ 1 ธ.ค. 2557 เมื่อนายนพพร ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวาน 3 พี่น้องตระกูล อัครพงศ์ปรีชา ขู่บังคับนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล อดีตหุ้นส่วนธุรกิจ ให้ลดหนี้ให้ โดยแอบอ้างเบื้องสูง

นายบัณฑิต เคยร่วมหุ้นกับนายนพพร ในบริษัท กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด มีความขัดแย้งกรณีที่นายนพพรเคยยืมเงินบริษัท แล้วถูกนายบัณฑิตฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ จึงต้องมีการเจรจากับนายบัณฑิตให้ลดหนี้จาก 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท ซึ่งนายบัณฑิต อ้างว่า นายนพพรมีการแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อข่มขู่เขาด้วย

การกล่าวหานายนพพร เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่สืบสวนขยายผลที่ พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติกับ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมไปถึงกฎหมายฟอกเงิน โดยที่มี 3 พี่น้องตระกูล อัครพงศ์ปรีชา พี่น้องของ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ อยู่ในเครือข่ายของ พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ที่ปัจจุบันถูกถอดยศแล้ว

นายนพพร ถูกศาลทหารออกหมายจับ และถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงข้อหา “ร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพ โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำ หรือบุคคลอื่น และร่วมกันลักทรัพย์” นายนพพร จึงตัดสินใจไปฝรั่งเศสเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

นายนพพร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทยเมื่อ ธ.ค. 2557 ว่า เขาตกเป็นเหยื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี และคดีมาตรา 112 เป็นเหตุผลสำคัญให้เขาตัดสินลี้ภัยทางการเมือง เพราะคดีนี้ไม่สามารถประกันตัวได้ ซึ่งเขาเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยระบุว่า “พอไม่ให้ประกัน(ตัว)เนี่ย ผมก็คิดว่าเขาคงฆ่าผมในคุกเพื่อปิดปากแน่ ๆ”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว