Thirteen Lives : เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ภารกิจช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

“นักแสดงทุกคนรู้สึกหวาดกลัวหลายครั้ง” รอน ฮาวเวิร์ด ผู้กำกับ ซึ่งเปิดเผยถึงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์การช่วยชีวิตเด็ก ๆ ทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา

Thirteen Lives บอกเล่าเรื่องราวภารกิจช่วยชีวิตเด็กชายและผู้ฝึกสอนของพวกเขาที่ติดลึกอยู่ในถ้ำหลวง หลังจากที่ฝนฤดูมรสุมตกเร็วกว่าปกติในปี 2018 ภารกิจนี้เต็มไปด้วยอันตรายและมาจากเรื่องจริง

วิกโก มอร์เทนเซน, ทอม เบตแมน, โคลิน ฟาร์เรล

ที่มาของภาพ, Metro Goldwyn Mayer Pictures

“นักแสดง 2-3 คน ยอมรับในภายหลังว่า พวกเขามีช่วงเวลาที่เผชิญกับความยากลำบาก” เจ้าของรางวัลออสการ์ 2 ครั้ง เล่า

ดาราที่แสดงเป็นนักดำน้ำในเรื่องนี้คือ วิกโก มอร์เทนเซน, โคลิน ฟาร์เรล, โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน, ทอม เบตแมน และพอล กลีสัน ซึ่งต้องนำเด็ก ๆ ทีมฟุตบอลลอดผ่านทางใต้น้ำที่แคบจนพวกเขาแทบจะผ่านไม่ได้ออกมา

ถ้ำในไทยที่เกิดเหตุแห่งนี้เป็นถ้ำหินปูน ซึ่งรองรับน้ำไว้จนกระทั่งอิ่มตัวและเกิดน้ำท่วมขึ้น กลายเป็นหายนะตามมา

นักแสดงต้องจำลองสถานการณ์ที่บรรดานักดำน้ำในเหตุการณ์จริงเผชิญ

รอน ฮาวเวิร์ด ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives

ที่มาของภาพ, Vince Valitutti / Metro Goldwyn Mayer Pictures

เบตแมน สวมบทเป็น คริส จีเวลล์ ที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ และนักดำน้ำในถ้ำที่เชี่ยวชาญ ซึ่งได้เข้าร่วมภารกิจช่วยชีวิตนี้ ทั้งคู่ต้องส่งข้อความติดต่อกันระหว่างเข้าฉากถ่ายทำ เพื่อที่เบตแมนจะสามารถสอบถามเขาเกี่ยวกับบทบาทนี้ได้

“ทุกวันคือความท้าทายสำหรับผม” เบตแมน กล่าว และบอกว่า เขาเคยดำน้ำลึกมาก่อน แต่ไม่เคยดำน้ำในถ้ำ

เบตแมนเล่าว่า เขาเผชิญกับการหวาดกลัวที่แคบ และต้องใช้สมาธิอย่างมากในการผ่านมันมาให้ได้ เขายังได้เล่าถึงตอนที่ติดอยู่ใต้น้ำนาน 7 นาที ระหว่างที่นำทางนักดำน้ำหญิงที่รับบทเป็นหนึ่งในเด็กชายที่ติดถ้ำ ผ่านช่องแคบ ๆ

ในภารกิจกู้ภัยนี้ มีการใช้ยาทำให้เด็กชายเหล่านี้อยู่ในอาการสงบ ถ้าพวกเขารู้สึกตัว เขาอาจจะตื่นตะหนกอย่างมากและทำให้ตัวเองและนักดำน้ำได้รับบาดเจ็บได้

“เธอแค่ต้องนอนอยู่ตรงนั้นแล้วก็ให้นักแสดงพาตัวเธอลอดผ่านไป” เบตแมนเล่าว่า

ทอม เบตแมน

ที่มาของภาพ, Getty Images

จากนั้นเขาก็ติดอยู่ระหว่างหิน

“ผมจำได้ว่า รู้สึกร้อนมากและคิดว่า ‘ผมอยู่ใต้น้ำ แต่ผมเหงื่อออก'” เขากล่าว เขาเห็นชีพจรของตัวเองเต้นเร็วจากตัวจับชีพจรที่ข้อมือ “ผมเห็นได้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

เขารู้ว่า มันเป็นเพียงความรู้สึกกลัว แต่ความจริงแล้วเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมาก เมื่อเขาสามารถผ่านพ้นการถ่ายทำมาได้แต่ละครั้ง ก็รู้สึกว่าเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ของตัวเอง

ฮาวเวิร์ด เล่าว่า พื้นที่บางจุดเล็กมากจนทำให้ไม่สามารถให้นักดำน้ำที่คอยดูแลความปลอดภัยเข้าไปกับนักแสดงได้ตลอดเวลา

เบตแมนจึงต้องหาทางทำให้ตัวเองหลุดจากการติดอยู่ระหว่างหิน

บรรดาญาติของเด็กชายที่ติดอยู่ในถ้ำ

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังจากข่าวเด็กชายติดถ้ำแพร่กระจายไปทั่วโลก มีอาสาสมัครมากกว่า 10,000 คน รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ

รัฐบาลไทยได้รวบรวมทีมนักดำน้ำในถ้ำที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโลก ซึ่งในจำนวนนี้ 2 คน ได้ดำน้ำเข้าไปพบเด็กทีมฟุตบอลนี้ว่า ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในสภาพหิวโซ หลังจากที่ติดอยู่นาน 9 วัน

เจ้าหน้าที่หน่วยซีลของกองทัพเรือไทย 2 นาย เสียชีวิต โดยหนึ่งคนเสียชีวิตขณะนำถังอากาศเข้าไปส่ง และอีกคนเสียชีวิตใน 1 ปีต่อมา จากการติดเชื้อระหว่างภารกิจกู้ภัยนี้

ในช่วงแรก โซเชียลมีเดียมีปฏิกิริยาทางบวกต่อภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives มาโดยตลอด ร็อบบี คอลลิน นักวิจารณ์ภาพยนตร์ของเทเลกราฟ เรียกภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “ต้องดูให้ได้” ส่วนอัลมาน บราวน์ นักร้อง ระบุว่า “ทุกอย่างบนหน้าจอถ่ายทอดเรื่องจริงที่น่าทึ่ง”

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ “ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นหรือน่าเฝ้ารอมากนัก” เมื่อเทียบกับภาพยนตร์กู้ภัยเรื่องอื่น ๆ อย่าง อะพอลโล 13 หรือ เอเวอเรสต์ โดยจะมีการเผยแพร่ความเห็นของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในสัปดาห์นี้

ริชาร์ด สแตนตัน

ที่มาของภาพ, Coventry Live

ส่วนฮาวเวิร์ด ยังไม่เคยลองดำน้ำในถ้ำด้วยตัวเอง แต่มอร์เทนเซน เคยลองมาแล้ว

เบตแมน บอกว่า เพื่อนนักแสดงของเขา “พบว่า มันสงบมาก” ซึ่งคล้ายกับที่นักดำน้ำในถ้ำจำนวนมากบอก

มอร์เทนเซน สวมบทเป็น ริก สแตนตัน นักดำน้ำชาวอังกฤษที่เชี่ยวชาญในการกู้ภัยในถ้ำ สแตนตันเป็นคนที่คุณอาจเรียกได้ว่า คนคิดนอกกรอบ ที่ได้สร้างอุปกรณ์ที่ซึ่งสามารถนำเอาอากาศหรือออกซิเจนมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทำให้เขาสามารถดำน้ำได้ลึกขึ้น

เขาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมกับเจสัน มัลลินสัน เพื่อนนักดำน้ำกู้ภัยชาวอังกฤษ เพื่อให้เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมามีความแม่นยำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตอนที่เด็กชายติดอยู่ในถ้ำ สแตนตันบินจากสหราชอาณาจักรไปช่วยเหลือ พร้อมกับจอห์น โวลันเธน นักดำน้ำชาวอังกฤษอีกคนที่รับบทโดยฟาร์เรล

พวกเขาคือนักดำน้ำที่พบว่า เด็ก ๆ เหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ และคลิปที่พวกเขาถ่ายตอนนั้นก็ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

การได้เคยสำรวจภารกิจกู้ภัยในถ้ำมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก ภารกิจครั้งนี้แตกต่างไปอย่างไร

“ครั้งนี้มันใหญ่มาก” สแตนตันกล่าวกับบีบีซี “ในปี 2004 ผมช่วยชีวิตทหารอังกฤษ 6 นาย ที่ติดอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเม็กซิโก นั่นคือเหตุการณ์ที่ต้องใช้คนจากหลายประเทศ เราต้องดำน้ำเข้าไปช่วยพาพวกเขาออกมา”

เขาเปรียบเปรยว่า ภารกิจนั้นเป็นเพียงการอุ่นเครื่องสำหรับการกู้ภัยในไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามากอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะภารกิจในไทยเป็นการช่วยเหลือเด็ก ระดับความยากจึงเพิ่มขึ้น

โดยมอร์เทนเซนได้ค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือของสแตนตันเรื่อง Aquanaut: A Life Beneath The Surface เพื่อนำมาใช้ในการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ริก สแตนตัน, โรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ และ จอห์น โวลันเธน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำในออสเตรเลีย ซึ่งได้มีการจำลองเส้นทางในถ้ำยาว 2,950 กิโลเมตร

มอลลี ฮิวจ์ส นักออกแบบโปรดักชัน ได้ทำร่องยาวบนหินเพื่อใช้สำหรับกล้องถ่ายทำ ซึ่งได้มีการอำพรางร่องนี้ในภายหลังด้วยภาพที่ทำจากคอมพิวเตอร์ (computer-generated imagery–CGI)

ฮาวเวิร์ดเล่าว่า ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้ใช้ CGI มากนัก เพราะนักแสดงยืนยันที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเองในการดำน้ำ ซึ่งช่วยให้การถ่ายทำง่ายขึ้นมาก

เด็กชายในโรงพยาบาล

ที่มาของภาพ, Reuters

ฮาวเวิร์ด เลือกที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งที่มีการรายงานเกี่ยวกับภารกิจนี้มากมายแล้ว เพราะเขารู้สึกว่า ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องรู้

“ตอนผมอ่านบทภาพยนตร์ของบิลล์ นิโคลสัน มันคือหนึ่งในสถานการณ์ที่ผมคิดว่า ผมรู้ไม่มากก็น้อยในเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วผมก็รู้ว่า ผมไม่รู้ถึงครึ่งหนึ่งของเรื่องราวนี้เลย” เขาเล่า

ฮาวเวิร์ดชื่นชมรัฐบาลไทยที่ไม่มีการแทรกแซงทางการเมืองและเต็มใจที่จะให้อาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือในสถานการณ์นี้

ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ถ่ายทอดเรื่องราวของคนไทยและวัฒนธรรมไทยในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ที่สูบน้ำ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากที่อาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญผันน้ำฝนจำนวนมากออกจากถ้ำเข้าสู่พื้นที่ปลูกพืชผลการเกษตรที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเกษตรกรเต็มใจที่จะยอมเสียพืชผลเหล่านั้น

เขาต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการฉลองให้กับทั้งความพยายามในการกู้ภัยครั้งยิ่งใหญ่และความร่วมมือกันของนานาประเทศ รวมถึงมอบประสบความความน่าตื่นเต้นให้กับผู้ชมด้วย

Thirteen Lives จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันศุกร์ที่ 29 ก.ค. นี้ และจะฉายผ่านทางแอมะซอน ไพรม์ วิดีโอ (Amazon Prime Video) วันที่ 5 ส.ค. นี้

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว