คนพิการ กับ โอกาสในการมีงานทำกับคนปกติในไทย ในปี 2565

ครั้งล่าสุดที่คุณสมัครงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลถามอะไรกับคุณ

“ทำไมถึงอยากทำงานกับเรา” “เป้าหมายอีก 5 ปีคืออะไร” หรือ “คุณจะทำอะไรให้บริษัทได้บ้าง”

คำถามเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ ประเสริฐศรี อินต๊ะภา หรือ แบม นักศึกษาจบใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ. เชียงใหม่ ได้ยิน

ท่ามกลางผู้สมัครที่ผ่านเข้ารับการอบรมราว 20 คน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงงานแห่งหนึ่งถามเธอย้ำ ๆ ว่า “ตาเป็นอะไร” และสั่งให้เธอถอดแว่นสายตาที่ใส่อยู่ออก

“หนูไม่สามารถปฏิเสธการตอบคำถามของ (เจ้าหน้าที่) คนนั้นได้เลย เขาถามย้ำ ๆ ประมาณ 2-3 รอบว่า ‘ตาเป็นอะไร ๆ ถอดแว่นเลย’ เลยจำเป็นต้องตอบพราะว่าสถานการณ์มันบังคับ” ประเสริฐศรี เล่าให้บีบีซีไทยฟัง

เธอบอกว่าเตรียมใจมาแล้วกับการโดนล้อเลียนระหว่างช่วงการหางานเพราะ “โดนมาตั้งแต่วันแรกที่เข้าอนุบาล…แต่ไม่เตรียมถึงขนาดว่าเราจะต้องเจอกลางที่สาธารณชน”

น.ส.ประเสริฐศรี และครอบครัว

ที่มาของภาพ, AFP

ประเสริฐศรี ย้อนเรื่องราวในวันนั้นต่อว่าเหตุเกิดในช่วงท้ายวันที่กำลังจะมีการปล่อยผู้เข้ารอบกลับบ้านแล้ว หลังจากมีการทำข้อสอบในช่วงเช้า ซึ่งเธอเองก็ผ่านข้อสอบข้อเขียน

ไม่เพียงโดยตั้งคำถามอ่อนไหวต่อหน้าผู้อื่น เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลคนนั้นยังดึงใบสมัครของเธอออกและบอกว่า “เดี๋ยวจะเอาไปพิจารณา แล้วจะโทรมาบอก”

บริษัทดังกล่าวไม่ได้ติดต่อประเสริฐศรี หลังจากวันสัมภาษณ์

สิทธิของผู้พิการ

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็น เมื่อ 29 ก.ค. 2551

ผู้พิการ

ที่มาของภาพ, Getty Images

อนุสัญญาฯ ดังกล่าวระบุไว้ท่อนหนึ่งภายใต้หัวข้อการจ้างงานว่า “ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการในทุกด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน รวมถึงเงื่อนไขในการคัดเลือกบุคคล”

รายงานจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ไทยมีตัวเลขคนพิการทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ราว 850,000 คน

ในจำนวนนี้ มีกลุ่มผู้พิการในวัยทำงานซึ่งมีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานแต่เป็นผู้ว่างงานถึง 81,500 คน หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด

ขณะที่ตัวเลขคนพิการซึ่งประกอบอาชีพ มีทั้งสิ้น 313,000 คน คิดเป็นประมาณ 37% ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด

มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้พิการที่มีงานทำ ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมาคือการรับจ้างทั่วไป และแม้รัฐบาลจะออกกฎหมายสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดโอกาสจ้างงานคนพิการ แต่ข้อมูลสะท้อนว่ามีสัดส่วนคนพิการรับราชการหรือทำงานกับรัฐวิสาหกิจของรัฐเพียง 1.18% ของผู้พิการที่มีงานทำเท่านั้น

น.ส.ประเสริฐศรี อินต๊ะภา

คนพิการที่ตกหล่น

สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องตอกย้ำคือสถิติและตัวเลขข้างต้นสะท้อนแค่ “คนพิการอย่างเป็นทางการ” หรือผู้ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น

ยังมีคนพิการอีกมากที่ตกหล่น

ในบทความของภาคภูมิ จตุพิธพรจันทร์ นักวิจัยนโยายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ที่ตีพิมพ์กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า เมื่ออ้างอิงตัวเลขสถิติผู้พิการทั้งหมดในประเทศ ปี 2560 ผู้พิการที่มีบัตรคนพิการในปีเดียวกันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 44.4% เท่านั้น

มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้พิการไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล

สาเหตุสำคัญที่ภาคภูมิพบอยู่ที่การประเมินความพิการของไทยไม่สอดคล้องกับหลักการสากล โดยประเทศไทยกำหนดให้ผู้ที่จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการได้ต้องเป็นผู้ที่ความพิการประเภทใดประเภทหนึ่งจาก 7 กลุ่มความพิการตามกฎหมาย ได้แก่:

  • ความพิการทางการมองเห็น
  • ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
  • ทางจิตใจ
  • ทางพฤติกรรม
  • ทางสติปัญญา
  • ทางการเรียนรู้
  • ทางออทิสติก

เขายกตัวอย่างว่าจากมาตรฐานข้างต้นหากคุณเป็นผู้พิการทางสายตาหนึ่งข้างจะ “ไม่เข้าหลักคุณสมบัติการเป็นผู้พิการทางสายตา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับหลายๆ คน ถึงแม้จะไม่ได้มีความบกพร่องหรือโรครุนแรงในกลุ่มความพิการด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อรวมผลกระทบจากความบกพร่องหรือโรคหลายอย่างที่มี และผลจากปัจจัยแวดล้อมเข้าด้วยกันแล้ว ความบกพร่องหรือ โรคที่ไม่รุนแรงนั้นสามารถส่งผลให้บุคคลหนึ่ง มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตได้อย่างมาก”

คนพิการยุคใหม่

ปีนี้ ประเสริฐศรี อายุ 22 ปี และ เปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาเป็นคนว่างงานแล้ว เช่นเดียวกับนักศึกษาจบใหม่อีก 260,000 คน

ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ว่างงานรวม 610,000 ตน ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากตัวเลขผู้ว่างงานในช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงถึง 760,000 คน

ทว่าในตัวเลขดังกล่าวนักศึกษาจบใหม่หรือที่เรียกด้วยศัพท์ทางการว่า “ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน” กลับเพิ่มขึ้นถึง 5.2% จากช่วงไตรมาสแรกของปี 2564

เธอบอกกับเราว่าสมัครงานไปแล้วหลายร้อยที่ ทั้งที่บอกว่ารับพิจารณาเด็กจบใหม่และที่ลองยื่นไปแม้บริษัทจะต้องการคนมีประสบการณ์แล้ว

ประเสริฐศรี อธิบายว่าเธอเข้าใจว่าหากไปเทียบกับ “อีกคนหนึ่งปกติทุกอย่างมาสมัครเหมือนกัน ถ้าเราเป็น(เจ้าหน้าที่) ตัวเราก็ต้องเลือกคนปกติ เราก็เข้าใจ”

เธอจึงกำลังวางแผนที่จะติดต่อเพื่อเข้าไปทำบัตรผู้พิการ

ประเสริฐศรี เกิดมาโดยไม่มีตาข้างซ้าย เมื่ออายุได้ 7 เดือน แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคประสาทตาฝ่อและแม้จะผ่าตัดใส่ตาจริงเธอก็ไม่สามารถมองเห็นได้อยู่ดี

เธอใส่ตาปลอมมานับตั้งแต่นั้น

น.ส.ประเสริฐศรี และแม่

ที่มาของภาพ, ประเสริฐศรี อินต๊ะภา

แท้จริงแล้วการมีบัตรคนพิการให้สิทธิการคุ้มครองผู้ถือบัตรทั้งมิติด้านการศึกษา การหางานทำ รวมไปถึงความช่วยเหลืออื่น ๆ

เธอเล่าว่า สาเหตุที่เพิ่งคิดจะมาทำบัตรตอนนี้เป็นเพราะพ่อของเธอเคยพาไปทำบัตรมาแล้วช่วงที่เธออายุได้ราว 15 ปี ทว่ากลับเจอกับการดูถูกจากเจ้าหน้าที่ซึ่งพูดทำนองว่า “อยากได้นักเหรอบัตรนี่ อยากได้นักเหรอเงิน”

หนึ่งในสิทธิประโยชน์ของการถือบัตรคนพิการ คือการเข้าถึงเงินสงเคราะห์คนพิการ ซึ่งรัฐสามารถช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง สำหรับผู้พิการที่ประสบปัญหาทางการเงิน

สำหรับประเสริฐศรี สิ่งที่ทำให้เธอต้องการบัตรคนพิการตอนนี้ก็เพื่อการสมัครงานที่ไม่ต้องเอาตัวเองไปเทียบกับคนปกติ

“เอามาเป็นใบเบิกทาง ถ้าเราไม่มี แล้วต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนปกติ มันไม่ได้แน่นอน”

คนพิการในต่างประเทศ

ตัดภาพมาที่สหราชอาณาจักร จอช ออสบอร์น วัย 30 ปี ผู้พิการทางออทิสติก เพิ่งได้รับเข้าทำงานในตำแหน่งเชฟเตรียมอาหาร ณ เชนร้านอาหารเดอะไอวี สาขา มงต์แปริแย บราสเซอรี (Montpellier Brasserie) ซึ่งตั้งอยู่ที่เทศมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ

นายจอช ออสบอร์น

เขาได้รับความช่วยเหลือจากเนชันนัล สตาร์ คอลเลจ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางสำหรับผู้พิการ

ออสบอร์นชี้ว่าโอกาสครั้งนี้ “มีความหมายอย่างมาก” สำหรับเขา เนื่องจากนี่จะช่วยให้เขาวางแผนในการหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

เขาได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาเฉพาะทางนี้ในการเตรียมตัวสัมภาษณ์ รวมไปถึงเทคนิคในการจัดการกับอารมณ์เวลารู้สึกท่วมท้น

ไซมอน เวลช์ อาจารย์ใหญ่ของสถาบัน ชี้ว่าธุรกิจจำนวนมากจะได้แรงงานที่ “มีความหลากหลายมากขึ้น” หากพวกเขาปรับระบบการจ้างงาน “เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

จริงอยู่ว่ากรณีของออสบอร์นเป็นเรื่องน่าชื่นชม ทว่าการมาถึงจุดนี้มีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อย

เว็บไซต์ของสถาบันเนชันนัล สตาร์ คอลเลจ ระบุว่า การประเมินอาการรายบุคคลมีค่าใช้จ่ายราว 350 ปอนด์ (ราว 15,000 บาท) ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการฝึกสอนทักษะต่าง ๆ อยู่ที่ราคา 395 ปอนด์ (ราว 17,000 บาท) แบบเต็มวัน และ 200 ปอนด์ (ราว 8,800 บาท) สำหรับครึ่งวัน

ไม่ใช่ผู้พิการทุกคนที่จ่ายไหว

ประเทศกำลังพลาดเม็ดเงินจากความสามารถของผู้พิการ

งานวิจัยจากปี 2018 ของสถาบันเพื่อการวิจัยอเมริกัน (AIR) ประเมินว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 7% ของจีดีพีจากการมองข้ามคนพิการ

ปัจจัยอย่างการเข้าไม่ถึงการศึกษาเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ลงทุนในส่วนนี้มากเท่าที่ควร นำไปสู่ปัญหาการว่างงานหรือการทำงานในอาชีพที่ให้รายได้ตอบแทนต่ำ ซึ่งนำไปสู่ความยากจนและการต้องกลับมาพึ่งความช่วยเหลือทางสังคมของรัฐอีกที

ผู้วิจัยชี้ว่า สิ่งนี้เห็นได้อย่างชัดเจนในระดับบริษัท กล่าวคือ “เมื่อบริษัทมองไม่เห็นว่าคนพิการมีทั้งความสามารถในการพัฒนาบริษัทและเป็นผู้บริโภค พวกเขาผลาญเอาโอกาสที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดและสร้างเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมไป”

ตัวเลขประเมินจากงานวิจัยในปี 2016 พบว่า คนพิการทั่วโลกมีรายได้ที่เอาไว้ใช้จับจ่ายได้สูงถึงปีละ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 44 ล้านล้านบาท)

กลับมาที่ประเทศไทย ประเสริฐศรี บัณฑิตจบใหม่วัย 22 ปี อยากทำงานด้านวิศวกรรมทางการเกษตรที่เธอเรียนมา

เธอบอกกับเราว่าต้องการให้ผู้จ้างงาน “ตัดสินกันที่ความสามารถ ไม่เอาความพิการมาตัดสินว่าเขาจะทำงานได้หรือไม่”

ทว่าตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงอาชีพวิศวกร แม้แต่พนักงานทั่วไปก็ยังไม่มีบริษัทไหนติดต่อเธอกลับไป

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว