รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเดินหน้าต่อ ศาลปกครองกลางยกคำร้อง BTSC

กดปุ่มประมูลสายสีส้ม-สีม่วงใต้2แสนล้าน

ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565

ต่อมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอน หรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปดังนี้

1.การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563

2.ประกาศเชิญชวนฯ ได้เผยแพร่ตามขั้นตอนเป็นระยะเวลากว่า 60 วันก่อนกำหนดวันเปิดรับซองเอกสารในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563

3.ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูง เป็นไปเพื่อให้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของเอกชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

4.ประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP ทั้งในและต่างประเทศ รวม 14 ราย ซึ่งเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP เพียง 10 ราย

5.การเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่อาจมีเอกชนรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน แต่จะต้องเป็นกรณีที่มีเอกชนหลายรายร่วมกันเพื่อเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการร่วมลงทุน ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่น ๆ

ศาลปกครอง สายสีส้ม รถไฟฟ้า

สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งภายหลังจากการรับซองเอกสารข้อเสนอฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่มีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอ และได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินของ รฟม. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร


แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)