รัสเซียเผาก๊าซ ยุโรปเผชิญปัญหาค่าไฟแพงกระฉูด

ก๊าซธรรมชาติ
แฟ้มภาพ

รัสเซียเผาก๊าซ ผู้เชี่ยวชาญชี้สร้างปัญหาโลกร้อน ขณะที่ยุโรปเผชิญบิลค่าไฟพุ่งสูงจากปัญหาขาดเเคลนพลังงาน

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 บีบีซี รายงานบทวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานว่า ขณะที่ราคาพลังงานของยุโรปกำลังพุ่งสูง รัสเซียกลับเผาก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก โดยโรงงานก๊าซซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้กับพรมแดนระหว่างรัสเซียและฟินแลนด์ กำลังเผาก๊าซมูลค่าประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 8.4 ล้านปอนด์ (364.7 ล้านบาท) ในทุก ๆ วัน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ก๊าซดังกล่าวน่าจะเป็นก๊าซที่สมควรถูกส่งออกไปยังเยอรมนีในก่อนหน้านี้

เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหราชอาณาจักรกล่าวกับบีบีซีว่า รัสเซียได้เผาก๊าซเหล่านี้ทิ้ง เนื่องจากพวกเขา “ไม่สามารถที่จะขายมันให้ที่ไหนแล้ว”

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลเกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากและเขม่าที่เกิดจากการเผาก๊าซครั้งนี้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยส่งผลให้การละลายของน้ำเเข็งอาร์กติกทวีความรุนแรง

การวิเคราะห์โดยบริษัท Rystad Energy ชี้ว่า มีก๊าซปริมาณกว่า 4.34 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังถูกเผาในทุก ๆ วัน โดยมาจากโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งใหม่ที่เมืองปอร์โตวายา (Portovaya) บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งผู้พบเห็นสัญญาณความผิดปกติของบางอย่างเป็นคนแรกนั้นคือพลเมืองชาวฟินแลนด์ที่อยู่บริเวณชายแดนใกล้ ๆ

พลเมืองคนดังกล่าวมองเห็นเปลวไฟขนาดใหญ่พวยพุ่งอยู่บนเส้นขอบฟ้า เมื่อช่วงต้นฤดูร้อน หรือเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โรงงานผลิตปอร์โตวายานั้นตั้งอยู่ใกล้กับสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติปอร์โตวายาบริเวณช่วงต้นของท่อขนส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 (Nord Stream 1) ซึ่งขนส่งก๊าซผ่านทางท่อขนส่งใต้ดินไปยังเยอรมนี โดยการขนส่งก๊าซผ่านทางท่อขนส่งดังกล่าวได้ถูกปิดไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

รัสเซียกล่าวอ้างถึงการระงับท่อว่าเนื่องมาจากปัญหาขัดข้องทางด้านเทคนิค หากแต่เยอรมนีมองว่าทั้งหมดคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน อันสืบเนื่องมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ผู้เชี่ยวชาญสังเกตพบจุดผิดปกติ

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน นักวิจัยได้สังเกตเห็นความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากโรงงานดังกล่าว และคาดว่าน่าจะมาจากการเผาไหม้ของก๊าซ หรือการเผาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในขณะที่การเผาก๊าซถือเป็นเรื่องปกติในโรงงานแปรรูปก๊าซธรรมชาติ ด้วยเหตุผลทางด้านเทคนิคหรือด้านความปลอดภัย แต่ขนาดของการเผาไหม้ในระดับนี้กลับสร้างความสับสนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ

“ฉันไม่เคยเห็นโรงงานก๊าซธรรมชาติมีการเผาไหม้ที่ลุกเป็นไฟมากขนาดนี้มาก่อน” ดร.เจสสิก้า แมคคาร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดาวเทียมจากมหาวิทยาลัยไมอามีในโอไฮโอกล่าว

“มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน เราได้พบเห็นยอดเปลวไฟอันมหึมานี้ และมันก็ไม่ได้หายไปไหน มันยังคงสูงมากอย่างผิดปกติ”

มิเกล เบอร์เกอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำสหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซีว่า ความพยายามของยุโรปในการลดการพึ่งพาก๊าซรัสเซียนั้น “ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจรัสเซีย” เขาตั้งข้อสงสัยว่า “พวกเขาคงไม่มีที่อื่นที่จะสามารถขายก๊าซได้แล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องเผามันทิ้ง”

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามันน่าจะเป็นความตั้งใจของรัสเซียจากสาเหตุด้านการดำเนินงานในโรงงาน ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ก็เชื่อว่า มันอาจเป็นปัญหาทางด้านเทคนิคในการจัดการกับปริมาณก๊าซจำนวนมากที่ถูกส่งไปยังท่อขนส่งนอร์ดสตรีม 1

โดยบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัสเซียอาจตั้งใจที่จะใช้ก๊าซนั้นในการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวที่โรงงานแห่งใหม่ หากแต่อาจประสบปัญหาในการจัดการและตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดก็คือการเผามันทิ้ง

นอกจากนี้ มันยังอาจเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรทางการค้าของยุโรปกับรัสเซีย เพื่อตอบโต้การรุกรานของยูเครน โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเกิดจากการที่อุปกรณ์บางอย่างในระบบท่อขนส่งขาดหายไป จนทำให้เกิดเหตุการณ์การเผาไหม้ระยะยาวเช่นนี้

ขณะที่ก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลรัสเซีย ผู้เป็นเจ้าของโรงงานแห่งนี้ ไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องถึงประเด็นการเผาไหม้ของก๊าซแต่อย่างใด

พิษสงครามกระทบราคาพลังงานพุ่งสูง

ซินเดร นัตสัน จาก Rystad Energy กล่าวว่า ขณะที่สาเหตุที่แท้จริงของการลุกไหม้นั้นไม่สามารถระบุได้ ปริมาณ การปล่อยมลพิษ และตำเเหน่งของการลุกไหม้นั่นถือเป็นเครื่องย้ำเตือนอันชัดเจนถึงอิทธิพลของรัสเซียในตลาดพลังงานของยุโรป

“ไม่มีสัญญาณใดที่บ่งบอกชัดเจนไปกว่านี้แล้วว่า รัสเซียสามารถลดราคาพลังงานได้ทันทีในวันพรุ่งนี้ ก๊าซเหล่านี้คือสิ่งที่ควรจะถูกส่งออกผ่านท่อขนส่ง นอร์ดสตรีม 1 หรืออื่น ๆ”

ราคาพลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังจากการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ถูกยกเลิก และเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่ทำงาน อุตสาหกรรม และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ต่างมีความต้องการพลังงานที่มากขึ้นอย่างกะทันหันพร้อมกันในเวลาเดียว สร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ขณะที่ราคาพลังงานดังกล่าวยังได้พุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้รัฐบาลยุโรปต้องมองหาวิธีการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียให้น้อยลง จากก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นผู้ส่งออกพลังงานถึงกว่า 40% ของพลังงานที่ใช้ในสหภาพยุโรป ผลที่ตามมาคือราคาของแหล่งพลังงานทางเลือกก็ได้สูงขึ้นตามไปด้วย และประเทศบางแห่งในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนีและสเปน ก็ได้นำมาตรการประหยัดพลังงานมาใช้แล้วในขณะนี้

นักวิทยาศาสตร์กังวลผลกระทบสิ่งเเวดล้อม

อ้างอิงจากเหล่านักวิจัย การเผาก๊าซนั้นยังดีกว่าการระบายก๊าซมีเทน (Methane) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในก๊าซอย่างมาก และเป็นสารเคมีที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนรุนแรงอย่างยิ่ง ตามรายงานของธนาคารโลก รัสเซียยังถือเป็นประเทศอันดับหนึ่งในด้านของปริมาณการเผาผลาญก๊าซอีกด้วย

เช่นเดียวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 9,000 ตัน ทุก ๆ วันจากเปลวไฟนี้ การเผาไหม้นี้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญอื่น ๆ นั่นคือ คาร์บอนสีดำ หรือเขม่าดำ (Black Carbon) ซึ่งเป็นชื่อเรียกอนุภาคเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ

ศาสตราจารย์แมทธิว จอห์นสัน จากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ในแคนาดา ชี้ว่า ความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเผาไหม้ของก๊าซที่บริเวณวงกลมละติจูดเดียวกับทวีปอาร์กติก (บริเวณฟินแลนด์ สแกนดิเนเวีย และรัสเซีย) คือการที่เขม่าสีดำที่ถูกปล่อยออกมาจะลอยไปยังทางเหนือและสะสมอยู่บนหิมะและน้ำแข็ง ซึ่งจะเร่งการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกอย่างมีนัยสำคัญ


“แหล่งอ้างอิงการประเมินบางแห่งยังได้นับการเผาเปลวไฟจากก๊าซธรรมชาติเป็นสาเหตุหลักของการสะสมของเขม่าดำในแถบอาร์กติก และการเพิ่มขึ้นของการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคดังกล่าวนั้นไม่เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง”