ศึกชิงก๊าซ LNG ญี่ปุ่น-เกาหลี มีอันจะกิน ซื้อตุนสูงสุด ไทยติดกลุ่มลำบาก

AP PHOTO

สื่อใหญ่ของเอเชีย ทั้งนิกเคอิ และเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานจับกระแสศึกชิงก๊าซ LNG ซึ่งชาติร่ำรวยได้เปรียบ

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 เว็บไซต์ นิกเคอิ รายงานว่า บริษัทผู้นำเข้าพลังงานญี่ปุ่น  JERA และ Tokyo Gas ต่อสัญญาใหม่เพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากโครงการ ซาฮาลิน-2 ของรัสเซียแล้ว

สงครามที่รัสเซียบุกยูเครนทำให้ราคาก๊าซทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น แต่ LNG ของโครงการซาฮาลิน-2 ยังคงราคาถูก ยิ่งหากอุปทานสะดุด ประเทศผู้ซื้อยิ่งต้องการซื้อไปสำรองแทน

นับจากวันที่ 5 ส.ค. 2565 รัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมโครงการดังกล่าว และนำเสนอขายก๊าซตามข้อตกลงซื้อขายชุดเดิม ในที่นี้หมายถึงราคาและปริมาณ ทำให้บริษัท JERA กลุ่มร่วมทุนระหว่าง โตเกียว อิเล็กทริก โค. โฮลดิงส์ และชูบุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ รวมถึงบริษัทโตเกียว แก๊ส ตัดสินใจต่อสัญญาภายใต้ข้อเสนอนี้

เรือญี่ปุ่นขนส่งแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ใกล้โรงงานที่เกาะซักคาลิน REUTERS/Sergei Karpukhin (RUSSIA)

การนำเข้า LNG ของญี่ปุ่น ส่วนที่ผลิตโดย ซาฮาลิน-2 ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ขณะที่ปริมาณ LNG สำหรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูหนาวยังมีจำกัด จึงทำให้ญี่ปุ่นถูกจับตาว่า จะนำเข้าจากซาฮาลิน-2 เพิ่มหรือไม่ เพราะอย่างน้อยการต่อสัญญาคือการรักษาผลผลิตให้มีเสถียรภาพ

ญี่ปุ่น-เกาหลีตุนไว้ถึงปีหน้า

ด้าน เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า ท่ามกลางสงครามยูเครน ประเทศในแถบเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างใช้และกักตุน LNG กันมาก ทั้งที่นำเข้าจากสหรัฐและตะวันออกกลาง เพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับฤดูหนาวจนถึงปี 2567

ผู้นำเข้า LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เต็มใจจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มในการซื้อ LNG จากสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลางที่อาจส่งไปขายให้สหภาพยุโรป

แต่สำหรับชาติที่ยากจนกว่า ตั้งแต่อินเดีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์ การเผชิญปัญหาขาดแคลนก๊าซ LNG จะลากยาวไปหลายปี ผิดกับชาติร่ำรวยที่กัดตุน LNG ไว้ได้มาก

นักวิเคราะห์มองว่า ชาติกำลังพัฒนาอาจต้องหันไปพึ่งพลังงานที่ถูกกว่า สกปรกกว่า และหาในท้องถิ่นได้ง่ายกว่า รวมถึงนำเข้าผลิตภัณฑ์อย่างถ่านหินและน้ำมันเพิ่มขึ้น

กรณี ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เห็นได้ชัดว่าพยายามสต๊อก LNG ไว้ให้ได้มากที่สุด บีบให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องหาทางแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติอีก 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากการแข่งขันเพื่อแย่งชิงหาแหล่ง LNG ที่นอกเหนือจากรัสเซียจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ LNG เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าถ่านหินหรือน้ำมัน

ราคาย้อนหลังของ S&P Global Platts เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม LNG เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกยูเครนปลายเดือนกุมภาพันธ์

ตลาดLNGสั่นคลอน-จีนลดนำเข้า

ด้านสหภาพยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานในฤดูหนาวเช่นกัน โดยต่างฝ่ายต่างแย่งชิงเพื่อหาแหล่งนำเข้าพลังงานอื่น ๆ นอกเหนือจากรัสเซีย ในการประมูลนำเข้า LNG ระหว่างยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

แซม เรย์โนลด์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากสถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานและการวิเคราะห์ทางการเงิน (IEEFA) ในสหรัฐ วิเคราะห์ว่า “ผู้ชนะคือผู้ที่สามารถจ่ายราคาสูงสุดได้ ส่วนผู้แพ้จะเป็นประเทศไม่มีงบประมาณพอจะไปซื้อเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงขึ้นในสกุลเงินหลัก ดอลลาร์สหรัฐ”

An LNG tanker in Cameron Parish, Louisiana, U.S., April 14, 2022. REUTERS/Marcy de Luna/File Photo/

ตามรายงานของ IEEFA เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ระบุว่า ก่อนหน้านี้ความต้องการ LNG จนถึงปี พ.ศ. 2568 นั้น มากกว่าครึ่งมาจากประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หลังจากที่สหภาพยุโรปหลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซจากรัสเซีย ส่งผลทำให้ตลาด LNG ทั่วโลกไม่มั่นคง

“ราคาก๊าซที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและการแย่งชิงพลังงาน ทำให้ตลาด LNG สั่นคลอน อีกทั้งการนำเข้าก๊าซ LNG ในเอเชียลดลง” IEEFA ระบุ

ตามข้อมูลล่าสุดโดย Bloomberg New Energy Finance ระบุว่า การนำเข้าก๊าซ LNG ในเอเชียลดลงมากกว่าร้อยละ 6 เมื่อเทียบเป็นรายปีระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม เนื่องจากราคาที่สูงขึ้น

การนำเข้าก๊าซของอินเดียลดลงร้อยละ 10 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ขณะที่การซื้อของปากีสถานลดลงร้อยละ 6 และบังกลาเทศลดลง 4%

ส่วน ไทย อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ คาดว่าจะประสบปัญหาการขาดแคลนก๊าซจำนวนมากจนถึงปี 2569 ซึ่งตอนนั้นโครงการ LNG ใหม่ที่สำคัญหลายโครงการในกาตาร์และสหรัฐอเมริกาถึงจะมีกำหนดเริ่มส่งมอบการผลิตได้

กระทบเศรษฐกิจ-เสียหายหลายแสน

ทางด้านนักวิเคราะห์ของจีนเห็นว่า จีนลดการซื้อในตลาดจร (Spot) ลง 20% เมื่อเทียบเป็นราย เนื่องจากจีนนำเข้าก๊าซ LNG หลายครั้งในช่วงปีแรกที่โควิด-19 ระบาด ส่วนบังกลาเทศถอนตัวออกจากตลาดจร (Spot) หมดแล้ว ในขณะที่บริษัทนำเข้าเปโตรเน็ต ของอินเดียได้ยกเลิกการประมูลสัญญา 10 ปี

เรย์โนลด์มองว่า “การขาดแคลนเชื้อเพลิงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของส่วนสำคัญต่าง ๆ หยุดชะงักลง โดยผู้นำเข้าก๊าซ LNG ในเอเชียประสบปัญหาการนำเข้าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สูญหายไป”

มีรายงานว่า บริษัท ก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัสเซียผิดนัดในสัญญาระยะยาวสำหรับการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ อย่าง Gail ผู้จัดจำหน่ายก๊าซรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย หลังจากที่บริษัทรัสเซียถูกแซงก์ชั่นจากตะวันตกเมื่อเดือนมิถุนายน

ส่วนการประมูลนำเข้าก๊าซ LNG ของปากีสถานยังไม่ได้รับการประมูลใด ๆ เลยในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน และคาดว่าจะต้องลำบากในการหาซัพพลายเออร์สำหรับสัญญาระยะหกปีที่เสนอเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ไม่ใช่ทุกประเทศซื้อ LNG ได้

โทบี คอปสัน หัวหน้าฝ่ายการค้าและที่ปรึกษาระดับโลกในเซี่ยงไฮ้ของบริษัท Trident LNG ระบุว่า “ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีความสามารถในการนำเข้าก๊าซ LNG เนื่องจากต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและต้องใช้เวลาหลายปีในการขออนุมัติ

A liquefied natural gas (LNG) tanker is tugged towards a thermal power station in Futtsu, east of Tokyo, Japan November 13, 2017. REUTERS/Issei Kato

“สิ่งนี้ทำให้หลายประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ด้านพลังงานที่ย่ำแย่ และทำให้ไฟฟ้าดับในช่วงปลายปี” คอปสันกล่าว และว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่เอื้ออำนวยต่อโครงการนำเข้าก๊าซ LNG มูลค่าเกือบ 97,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.5 ล้านล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาในเอเชีย

เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าในปริมาณแรกในปีนี้ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อราคาก๊าซนำเข้าที่ผันผวนและจ่ายไม่ไหว ในที่สุดประเทศกำลังพัฒนาจะถูกบังคับให้แบกรับต้นทุนจากวิกฤตพลังงานโลก

อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในการถ่ายโอนพลังงานหมุนเวียน อย่างที่เรียกว่า green hydrogen ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อทดแทนก๊าซตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป

“ประเทศที่ยากจนไม่มีทางเลือกสำหรับเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบ่อยครั้งที่ต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้ามา” คอปสันกล่าว

สุดท้ายสงครามการเสนอราคาก๊าซ LNG ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังนำไปสู่การพึ่งพาถ่านหินและทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

….