สมาคมโรคจากการหลับ ตอบข้อสงสัย กัญชากับปัญหานอนไม่หลับ

กัญชา น้ำมันกัญชา

สมาคมโรคจากการหลับ แห่งประเทศไทย โพสต์อินโฟกราฟิก ตอบข้อสงสัย กัญชากับปัญหานอนไม่หลับ อาทิ สถานะของการใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ และข้อควรระวังในการใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 สมาคมโรคจากการหลับ แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชากับปัญหานอนไม่หลับ ในรูปแบบ Q & A เช่น สถานะของการใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ และข้อควรระวังในการใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ

โดยสมาคมระบุว่า
Q : ขณะนี้กัญชาได้รับการรับรองหรือไม่ ในการใช้รักษาปัญหาการนอนไม่หลับ

A : ยังไม่ได้รับการรับรองเนื่องจาก

1.งานวิจัยที่มีในขณะนี้ยังมีระดับคุณภาพต่ำ ยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะจำนวนผู้ร่วมวิจัยมีจำนวนน้อย และหลายงานวิจัยยังขาดกลุ่มควบคุม
2.ผลการวิจัยมีความกระจัดกระจาย ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

Q : การใช้กัญชาในการรักษาโรคนอนไม่หลับนั้น มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

A : 1.กัญชามีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของสาร THC ไม่สามารถหยุดใช้ได้ เมื่อหยุดใช้จะเปิดภาวะขาดกัญชา ซึ่งจะทำให้การนอนหลับยากขึ้น ประสิทธิภาพการนอนหลักแย่ลง เกิดความรู้สึกทรมาน ส่งผลให้ต้องกลับไปใช้กัญชาต่อเนื่อง

2.กัญชามีฤทธิ์ทำลายการทำงานของสมอง
2.1 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวช ทำให้การรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเสียไป เกิดอาการประสาทหลอน อาการหลงผิด และอาการซึมเศร้า
2.2 เพิ่มความเสี่ยงต่อความสามารถของสมอง ทำให้ความสามารถต่าง ๆ ของสมองแย่ลง ทั้งการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การตัดสินใจ การบริหารจัดการวางแผน ความจำ การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมแย่ลง

Q : การบริโภคกัญชา/ผลิตภัณฑ์กัญชามีข้อควรระวังอะไรบ้าง

A : พืชกัญชาส่วนใหญ่มีสาร THC สูงกว่าสาร CBD การบริโภคกัญชา/ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไม่ได้มีการสกัดแยกสารทางการแพทย์อย่างมีมาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะได้รับโทษจากสาร THC ที่มีปริมาณสูงเกินไป

พร้อมสรุปว่า การใช้กัญชาเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับมีความเสี่ยงที่จะได้ผลด้านลบมากกว่าด้านบวก ซึ่งเป็นไปตามแถลงการณ์แสดงจุดยืนที่สมาคมเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้