คดีนายกฯ 8 ปี เปิดจุดพลาดคำร้องฝ่ายค้าน ไปไม่ถึงแท็กติกกฎหมาย

คดีนายกฯ 8 ปี เปิดจุดอ่อน-จุดอับ คำร้องฝ่ายค้าน ที่มุ่งหมายผลทางการเมือง พลาดแท็กติก คำตอบทางกฎหมาย  

นักกฎหมายคนสำคัญในพรรคใหญ่-ฝ่ายค้าน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “จุดพลาด” คดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี สิ้นสุด 24 สิงหาคม 2565 นั้นเกิดจาก “ทีมการเมือง” ที่เข้าไม่ถึง-ไปไม่สุด “แท็กติก” ทางกฎหมาย

นักกฎหมายมหาชน ในพรรคใหญ่รายหนึ่งให้ความเห็น หลังจากรู้แนวคำตอบในคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ว่า “ฝ่ายค้านมุ่งเน้นการหยิบประเด็นการเมือง และแนวเปรียบเทียบไม่มีน้ำหนักมากพอ ที่จะใช้มัดว่านายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเกินกว่าเวลาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ”

เช่นเดียวกับนักกฎหมายมหาชน รุ่นใหญ่จากพรรคการเมืองใหม่รายหนึ่ง ที่กล่าวในห้องประชุมพรรคว่า “คำร้องของฝ่ายค้านไปไม่สุด และถามไม่สิ้นความ เปิดช่องให้มีคำตอบได้กว้างและเป็นคุณกับฝ่ายผู้ถูกร้อง”

ในคำถามของ ส.ส.ฝ่ายค้าน 171 คน รวม 15 หน้า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบไว้แล้ว 23 หน้า รวม 7 ประเด็น

คำถามของฝ่ายค้าน ที่มุ่งเน้นประเด็นการเมือง ระบุใจความผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง ตามมาตรา 7 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560

คำร้องของฝ่ายค้านอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พร้อมสรุปท้ายคำร้องเหมือนเป็นคำตอบไว้ในตัวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันรวมกันแล้วเกิน 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 คำร้องทั้ง 15 หน้า

คำร้องของฝ่ายค้านไม่มีส่วนใด ที่ระบุขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องการเริ่มต้นนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ฝ่ายค้านร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565

นักการเมืองรุ่นใหญ่ฝ่ายค้านวิเคราะห์ว่า ฝ่ายค้านพลาดที่ไปปักธง การนับวาระไว้ในคำร้อง มัดคำตอบไว้เอง ว่า “นายกฯดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เริ่มต้นนับตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2557”

แม้ว่าฝ่ายค้านไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเห็นทางกฎหมาย และข้อเท็จจริง ตามรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องการเริ่มต้นนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่การเข้ารับตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการนับการ “เริ่มต้น” และช่วง “ขาดตอน” 3 จุด ดังนี้

  1. เริ่มนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 นายกรัฐมนตรี ครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
  2. เริ่มนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สอง 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570
  3. เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ 6 เมษายน 2560 นายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568

และเพราะเอกสารตั้งต้น-คำร้องของฝ่ายค้าน “ไม่ได้ขอให้ศาลชี้ว่า นายกฯเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อไหร่” จึงมีการวิเคราะห์ถึงแนวคำตอบ ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ไว้ว่า แนวทางวินิจฉัย จะมีแนวทางเดียวเท่านั้น โดยตอบเฉพาะขอบเขตของคำถามฝ่ายค้านที่ระบุว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 8 ปี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ เท่านั้น

และเพราะธงคำถามของฝ่ายค้าน ไม่ได้ถามว่านับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่เมื่อไร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจวินิจฉัยเกินคำร้อง และอาจไม่ได้ระบุไว้ในคำวินิจฉัยกลาง

ดังนั้น นักกฎหมายตั้งแต่ระดับนกกระจอก จนถึงพญาอินทรี และระดับพญาครุฑ จึงต้องตั้งความคาดหมายกันและตั้งหน้าตั้งตาว่า จะต้องรออ่านในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 ท่าน ในคำตอบที่ฝ่ายค้านไม่ได้ถาม คือ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่เมื่อใด 

นักกฎหมายในฝ่ายรัฐบาล คาดหมาย-วิเคราะห์ การลงมติไว้ล่วงหน้าว่า มีความเป็นไปได้ใน 3 มติ

มติแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง

มติที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 7 ต่อ 2 เสียง


มติที่สาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง