วาระเอเปค2022 ทำไมต้องถก BCG เป็นวาระหลักที่ประเทศไทย

ค้าน BCG APEC2022
ภาพจาก ศูนย์ภาพเครือบริษัทมติชน

รู้จักโมเดลเศรษฐกิจ “BCG” ที่รัฐบาลไทยใช้เป็นวาระหลักในการประชุม APEC2022 ขณะที่หลายฝ่ายต่อต้าน ยกเป็นเหตุเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 สำหรับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2022 Thailand ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 รัฐบาลไทยเตรียมนำโมเดลเศรษฐกิจ “BCG” เป็นวาระหลักในการประชุมครั้งนี้

เนื่องจากเป็นโมเดลที่ไม่ได้มองแค่เรื่องการสร้างผลกำไรเท่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

BCG คืออะไร?

“BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ

โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม

แผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569

คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป แต่ธรรมชาติจะเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปเพิ่มศักยภาพของชุมชน ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทำไมคนถึงต่อต้าน BCG

ขณะเดียวกันมี มีฝ่ายที่คัดค้านต่อต้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG เนื่องจากมองว่าโมเดลดังกล่าวมีช่องโหว่เรื่องการเพิกเฉยต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่

แม้ว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ประเทศที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจาก BCG คือประเทศที่สามารถสร้างนวัตกรรมทางด้านการเกษตรระดับกลางถึงสูง มีเทคโนโลยีชั้นสูงในการใช้ประโยชน์ต่อยอดจากฐานด้านการเกษตร ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความสามารถด้านนี้ จึงมีความกังวลว่าจะทำให้ไทยไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด

นางกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้กล่าวถึงกรณีในงานเสวนา วิพากษ์แผนปฏิบัติการ BCG บนเวที APEC 2022 เพื่อผลประโยชน์ใคร? ว่า แท้จริงแล้วยุทธศาสตร์ของโมเดล BCG มีเพื่อปลดล็อกกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ ให้สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะทุนผูกขาด หรือทุนใหญ่ที่ร่วมมือกับรัฐบาลที่ไม่มีประชาชนร่วมเลย

ด้านนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า BCG ถูกผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งในประเด็นของการหารือในเวที APEC 2022 และต้องการให้บรรลุ 4 เป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการพูดถึงประเด็นการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วเราจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ มีการรีไซเคิลขยะจากกระดาษเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่ขยะเป็นพิษถูกนำส่งออกไปต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่นที่มีการทำเรื่องรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2540 โดยส่งออกขยะไปยังประเทศจีน เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมองไทยเป็น Hub ด้านรีไซเคิลขยะ จึงกล่าวได้ว่าการรีไซเคิลขยะในประเทศนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก ที่เหลือกว่า 90% เป็นการส่งออกขยะไปรีไซเคิลในประเทศอื่น

แต่ต่อมาจีนได้มีประกาศเข้มงวดโดยมีการกีดกันไม่ให้นำเข้าขยะเพื่อมารีไซเคิล โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากสหรัฐ เนื่องจากต้องการที่จะลดมลพิษ PM 2.5 ดังนั้น แล้วขยะจากทั่วโลกและหลาย ๆ ที่จึงถูกส่งมาที่ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ไทยได้กลายเป็นถังขยะของโลก โดยมีการนำเข้าขยะพลาสติกจาก 10,000 ตัน เพิ่มเป็น 500,000 ตันต่อปี

ดังนั้น แล้วหากการประชุม APEC นโยบาย BCG ผ่านและเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือไทยเป็นผู้เต็มใจการเปิดรับขยะเอง

ทางด้านเครือข่ายประชาชน “ราษฎรหยุด APEC 2022” นำโดย มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และแนวร่วม ประกาศเคลื่อนไหวคัดค้าน การประชุมเอเปค 2022 ได้รวมตัวกันที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดัน 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิกนโยบาย BCG รวมถึงระเบียบ กฎหมายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ ที่พยายามนำเสนอให้ที่ประชุมเอเปครับรอง

โดยอ้างว่า เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และชนชั้นนำในประเทศเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับประชาชนไทยและประชาคมโลกในอนาคต