FTA Watch ชี้ BCG เปิดช่องนายทุนนำเข้าขยะ เปลี่ยนไทยเป็นถังขยะโลก

FTA Watch ชี้ BCG เปิดช่องนายทุนนำเข้าขยะ เปลี่ยนไทยเป็นถังขยะโลก
ภาพจาก pixabay

FTA Watch ชี้นโยบาย BCG เอื้อนายทุนใหญ่เร่งแก้กฎหมายหลายฉบับ ทั้งเปิดช่องนำขยะทั่วโลกเข้าไทยจาก 10,000 ตัน/ปี เป็น 500,000 ตัน/ปี ติงไม่ใช่วิถีที่ยั่งยืนทำไทยเป็นถังขยะโลก จับตาประชุม APEC 2022 วาระซ่อนเร้นประชาชนไม่ได้ประโยชน์จริง

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 นางกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวในงานเสวนา วิพากษ์แผนปฏิบัติการ BCG ในเวที APEC 2022 เพื่อผลประโยชน์ใคร? ว่าการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 นี้

มีการหยิบยกเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) ที่เป็นนโยบายของประเทศขึ้นมาถกในเวทีดังกล่าวกับผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เนื่องจาก BCG เป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

แต่แท้จริงแล้วยุทธศาสตร์ของโมเดล BCG นั้น มีเพื่อปลดล็อกกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ ให้สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะทุนผูกขาด หรือทุนใหญ่ที่ร่วมมือกับรัฐบาลที่ไม่มีประชาชนร่วมเลย

“ไทยแลนด์กลายเป็นแดนถังขยะโลก หลังจากที่ไทยทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งมันจะเกี่ยวข้องตรงที่ว่า มีบางบริษัทหมายตาขยะทั่วโลก เข้ามาจัดการรีไซเคิลใช้ใหม่ในประเทศไทย มันจะเป็นวิธีที่ยังยืนจริงหรือไม่”

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า BCG ถูกผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งในประเด็นของการหารือในเวที APEC 2022 ที่จัดขึ้นโดยเจ้าภาพคือประเทศไทย และต้องการให้บรรลุ 4 เป้าหมาย หนึ่งในนั้นมีการพูดถึงประเด็นคือ การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ หรือ Circula Economy ซึ่งแท้จริงแล้วเราจะเห็นได้ว่าสหรัฐมีการรีไซเคิลขยะจากกระดาษเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่ขยะเป็นพิษถูกนำส่งออกไปต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่นที่มีการทำเรื่องรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2540 โดยส่งออกขยะไปยังประเทศจีน เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมองไทยเป็น Hub ด้านรีไซเคิลขยะ จึงกล่าวได้ว่าการรีไซเคิลขยะในประเทศนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก ที่เหลือกว่า 90% เป็นการส่งออกขยะไปรีไซเคิลในประเทศอื่น

แต่ต่อมาจีนได้มีประกาศเข้มงวดโดยมีการกีดกันไม่ให้นำเข้าขยะเพื่อมารีไซเคิล โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากสหรัฐ เนื่องจากต้องการที่จะลดมลพิษ PM 2.5 ดังนั้น แล้วขยะจากทั่วโลกและหลาย ๆ ที่จึงถูกส่งมาที่ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ไทยได้กลายเป็นถังขยะของโลก โดยมีการนำเข้าขยะพลาสติกจาก 10,000 ตัน เพิ่มเป็น 500,000 ตันต่อปี

ดังนั้น แล้วหากการประชุม APEC นโยบาย BCG ผ่านและเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือไทยเป็นผู้เต็มใจการเปิดรับขยะเอง

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการทยอยปรับแก้กฎระเบียบ กฎหมายเรื่องการนำเข้าขยะมาโดยตลอด เช่น ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาบาเซล และยังมีความพยายามในการเปิดช่องให้สหรัฐ รวมถึงประเทศใหญ่ ๆ ส่งออกขยะมาที่ไทย เนื่องจากยังพบว่าประเทศจีนได้พยายามผลักโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมมาตั้งที่ประเทศไทย ซึ่งจะเห็นปริมาณจำนวนโรงงานรอบปริมณฑลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และกระจุกตัวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“เราจะโทษแต่นายทุนไม่ได้ เราก็ต้องมองว่าหน่วยงานรัฐของไทยเองได้มีความพยายามแก้กฎหมายเปิดช่องต่าง ๆ ให้นายทุนต่างชาติมาใช้ประโยชน์ในประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าขยะเพื่อมาจัดการในไทยเองด้วย”

ในขณะที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และกรีนพีซ ประเทศไทย มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า นโยบาย BCG นั้น ได้มีความพยายามในการแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อเอื้อนายทุน เช่น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2540 ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความหลากหลาย เปิดให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการดัดแปลงยีน

การแยกประเภทโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากเคมีภัณฑ์ ปรับปรุงมาตรการภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เร่งรัดการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ทางการเกษตร การอนุญาตให้ใช้ภาชนะพลาสติกรีไซเคิลมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ปรับปรุงระเบียบของเสียให้สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุหมุนเวียน เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างที่แผนยุทธศาสตร์ได้ร่างไว้ ในขณะที่แผนปฏิบัติการก็ไม่ได้ลงรายละเอียดแบบชัดเจน