APEC 2022 ฝ่าความท้าทาย ไทยชูธง Bangkok Goals on BCG

เชิดชาย ใช้ไววิทย์
เชิดชาย ใช้ไววิทย์

นับถอยหลังอีกเพียงเดือนกว่า ๆ ก็จะเข้าสู่การประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 พ.ย.นี้ ภายใต้แนวคิด “Open Connect Balance” โดยไฮไลต์สำคัญของเวทีประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ก็คือ การประกาศเป้าหมายกรุงเทพ หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 2565

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้อัพเดตความคืบหน้าของการเป็นเจ้าภาพประชุมจาก นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังจากที่ได้ฝ่าฟันความยากลำบากในการเตรียมการจัดประชุมนับตั้งแต่ปี 2012 (2555) ที่ไทยได้รับไม้ต่อเจ้าภาพเอเปคมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือเป็นเวลา 20 ปี จนถึงขณะนี้ประเทศไทยได้รับการตอบรับจากผู้นำ 9 เขตเศรษฐกิจ จากทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ และมั่นใจว่า สมาชิกทั้งหมดจะตอบรับเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมหน้ากัน

Theme ของ APEC รอบนี้

ประเทศไทยห่างหายการจัดประชุม APEC ไป 20 ปี คงต้องเคาะสนิมกันอย่างมาก ทั้งยังต้องพบกับสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ มากมาย อาทิ สงครามการค้า ทำให้การเตรียมพร้อมการประชุม APEC ได้เริ่มขึ้นจริง ๆ ประมาณ 3 ปี หรือก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หารือกันว่า จะมีการรื้อฟื้นสปิริตของ APEC ภายหลังจากที่เกิดภาวะชะงักงัน ภาวะโควิด-19 ซึ่งตอนแรกประเมินว่าจะดีขึ้นใน 1 ปี แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แต่ก็ได้เริ่มต้นเตรียมการกันมา

จนในที่สุดการประชุม APEC ครั้งนี้จึงได้ theme 3 คำ คือ “open” การเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ connect เชื่อมโยงกัน และ balance สู่สมดุล โดยเป้าหมายของแต่ละคำเริ่มจากคำว่า open คือ การเปิดกว้างเสรีทางการค้า หรือ FTA ซึ่งในอดีตการทำ FTA Gen 1 จะเน้นการเปิดตลาด ลดภาษีสินค้า แต่ต่อมาการทำ FTA Gen 2 จะเน้นเรื่องการ “ยกระดับมาตรฐานความตกลง” อย่างเช่น การเจรจา CPTPP ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงมาก

แต่ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่การเจรจา “FTA Gen 3” อย่าง FTAAP ซึ่งเพิ่มประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (digitallization) ความยั่งยืน (sustainable) การรวมทุกคนไว้ (inclusion) การเจรจาเจนนี้จะไม่ใช่การเจรจาเพื่อประโยชน์ให้กับบริษัทใหญ่ที่ผลิตสินค้า แต่มองถึงชุมชนหรือคนกลุ่มน้อยในสังคมว่าจะได้อะไรจาก FTA

ในการประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC ช่วงกลางปี 2565 มีข้อสรุปให้จัดทำ “แผนเตรียมความพร้อมในการทำ FTAAP” โดยในการประชุมผู้นำที่จะถึงนี้จะได้เห็นแผนระยะ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2023-2026 ซึ่งจะเตรียมความพร้อมในทุกมิติ จากนี้ต้องรอดูว่าเขตเศรษฐกิจใดจะร่วมเจรจา FTAAP ในอีก 4 ปีข้างหน้า

ส่วนเป้าหมายของคำว่า “connect” มาจากการที่เราเห็นผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ท่องเที่ยว การบิน แทบจะล่มสลาย เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยลดลงจาก 39-40 ล้านคน เหลือแค่เพียง 400,000 คน ดังนั้น การฟื้นฟูต้องครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบการล่มสลายของการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเรามองถึงโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ เช่น การขยายจำนวนเครือข่ายผู้ใช้ APEC Business Travel Card จากปัจจุบันมีผู้ใช้ 4 แสนคน เป็นนักธุรกิจซีอีโอรายใหญ่ ๆ แต่เราต้องการขยายขอบเขตไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs

และสุดท้าย คำว่า “balance” หรือการสร้างสมดุล จะเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญที่สุด เป็นครั้งแรกที่เอาเรื่องพันธกรณีที่เป็นความรับผิดชอบกับการทำงานของภาคเอกชนเข้ามา จากอดีตการค้ามีมิติเดียวคือ การค้าเสรี แต่ไม่เคยพูดว่าการทำการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ก็ไม่มีใน APEC เลย ทั้งที่มีกลไกคณะทำงานต่าง ๆ เกือบ 40 คณะ แต่ไม่มีคณะที่ดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ต่อไปองค์กรไหนที่ขับเคลื่อนการค้า การลงทุน จะไม่พูดในประเด็นนี้คงไม่ได้

เมื่อกลับมาดูประเทศไทย มีขยะมูลฝอย 25 ล้านตันต่อปี ซึ่ง 30% นำไปรีไซเคิล 30% กำจัดถูกต้อง ส่วนที่เหลือ 30% ไม่ได้ถูกกำจัดออกไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะในจำนวนนี้เกิดขึ้นจากการค้าและการลงทุน

Bangkok Goals on BCG Economy

ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ APEC ได้เตรียมที่จะประกาศ “เป้าหมายกรุงเทพ” หรือ “Bangkok Goals on BCG Economy” ซึ่งมันจะกลายเป็น “อนุสาวรีย์” สำคัญของ APEC ครั้งนี้ โดยประเทศไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy

ประกาศนี้จะมีสาระสำคัญ 4 เรื่อง คือ เราจะไปสู่เป้าหมาย เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) อย่างไร จะทำให้การค้า-การลงทุนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ-การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีจากการค้า-การลงทุน

หลังจากที่ผู้นำ APEC ประกาศ Bangkok Goals แล้ว ต่อไปภาคธุรกิจจะต้องใส่ “จริยธรรม” ในการทำการค้า-การลงทุน มีการวัด การควบคุม เช่น ในการประชุมรัฐมนตรีคลัง APEC ในสัปดาห์หน้า จะมีการหารือเรื่อง “กรีนบอนด์” ต่อจากนี้ หากผู้ประกอบการที่ลงทุนหรือทำการค้าโดยไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ จะไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยเงินกู้ให้ เช่น ไทยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งจะขับเคลื่อนเรื่องกรีน หากธุรกิจ-บริษัทใดไม่กรีน จะไม่ปล่อยเงินกู้โครงการ เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งผลงานที่เป็นรูปธรรมของ APEC อาจจะไม่ใช่แค่การตั้งหน่วยงาน หรือศูนย์ต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ APEC ต้องเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน “วาระ” ต่าง ๆ ได้อย่างไร เฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเดิมไทยมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพียง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561, พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายจำเป็นต้องมีกฎหมาย

โดยเฉพาะ “กฎหมายแม่บทเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สหรัฐ ต่างก็มีแต่ไทยยังไม่มี รวมถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม “เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังการประชุม APEC จะกระตุ้นให้เกิดการระเบิดทางความคิดในสังคมไทย โดยภาครัฐอย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ ทุกคนต้องร่วมกัน”

APEC ท่ามกลางความขัดแย้งโลก

หากถามถึงความท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งโลกที่กำลังเกิดขึ้นต่อการจัดการประชุม APEC ครั้งนี้ ตอบได้ว่า “มีทั้งความกังวลที่ใช่และไม่ใช่ ที่กังวลเพราะว่า อะไรที่เกิดขึ้นกับจุดต่าง ๆ ของโลก คนที่ทำงานในแง่ต่างประเทศก็มีความกังวลอยู่แล้ว เพราะทำให้ผลประโยชน์การค้า-การลงทุนของเรามันได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และที่ไม่ใช่ไม่กังวล เพราะในแง่การจัดประชุม APEC ไม่มีเวลาต้องนั่งกังวลเพราะเป้าหมายหลักในการผลักดันตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญ”

“เรื่องความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีมาให้เห็นตลอด ไม่ได้เกิดขึ้นช่วง APEC แต่ย้อนไปดูก็เกิดเป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์ของโลก แต่ก็ยอมรับว่าปีนี้เกิดขึ้นมากเหลือเกิน ซึ่งก็เป็นความท้าทายของไทย จากนี้ก่อนที่จะถึงวันประชุมผู้นำ APEC เราก็จะพยายามเต็มที่เพื่อให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง”

และแม้ว่าการจัดประชุม APEC อาจจะชนกับการประชุมใหญ่ อย่าง ASEAN Summit 10-13 พ.ย. 65 และ G20 Summit 15-16 พ.ย. 65 ที่บาหลี แต่ “ผมเชื่อ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ ที่จะมีการเข้าร่วมประชุม APEC ครบทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม การตอบรับจะเข้าร่วมของผู้นำแต่ละประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ขณะนี้มีผู้นำเม็กซิโกอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ จากนโยบายภายในไม่อนุญาตให้ไปร่วมประชุมในต่างประเทศ แต่ก็มีบางประเทศที่ยืนยันจะมาไทย และไม่ไปประชุม G20 อย่าง นิวซีแลนด์ หรือบางประเทศตอบรับเข้าร่วมการประชุมระดับทวิภาคีแล้ว เช่น จีน

ดังนั้นไม่ว่าผู้ที่มาร่วมประชุม APEC จะเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ใดก็ตาม ก็จะไม่ส่งผลต่อการประกาศเป้าหมายกรุงเทพอย่างแน่นอน