ลุ้น “สีจิ้นผิง” ร่วมประชุมเอเปค แก้เกมถกผู้นำ 20 ชาติกร่อย

APAC

ภาคเอกชนเตรียมพร้อมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC พร้อมการประชุมคู่ขนาน APEC CEO Summit 2022 แม้ “ไบเดน” ไม่มา แต่ยังมีลุ้น “สี จิ้นผิง” ด้านสภาที่ปรึกษาธุรกิจ ABAC ชง 5 วาระด่วนเสนอผู้นำ APEC ตั้งความหวังไปถึงขั้นจะฟื้นเขตการค้าเสรีเอเซียแปซิฟิก (FTAAP) ด้านนักวิชาการแนะไทยชูจุดแข็งความพร้อมรับธุรกิจ MICE ชูประเทศไทยศูนย์กลางธุรกิจจัดประชุมยั่งยืน ส่วนวาระการประชุมทางด้านเศรษฐกิจรอบนี้ “คงไม่มีอะไรมาก” เหตุโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ อาจจะส่งผลให้เวที APEC กร่อย

เหลืออีกเพียง 1 เดือนก็จะถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทย โดยการประชุมรอบนี้คาดว่า จะมีประเทศสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้กำหนดวันที่ 14-19 พ.ย. เป็น APEC Economic Leaders’ Week (AELW) หรือ สัปดาห์ APEC พร้อมกันนั้นในส่วนของภาคเอกชนได้จัดให้มีการประชุมคู่ขนาน APEC CEO Summit 2022 โดยตั้งความหวังไว้ว่า จะเป็นการแก้ปัญหาทางการค้าและการลงทุน ในตลาดการค้าที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก จากจำนวนประชากรรวมเกือบ 3,000 ล้านคน GDP รวม 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท

“จีน” มั่นใจสี จิ้นผิง มาแน่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากพบกับ H.E. Mr. Han Zhiqiang เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงความมั่นใจในการประชุม APEC ครั้งนี้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะตอบรับเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้แน่นอน หลังการเลือกตั้งสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน (16 ต.ค. 2565) ซึ่งเชื่อว่า ท่านสี จิ้นผิง จะได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง “และเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายไทยก็จะได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สนั่นพบเอกอัครราชทูตจีน

ขณะที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ เท่าที่รับทราบข้อมูลขณะนี้ กำลังทยอยตอบรับการเข้าร่วมประชุม APEC และยังมีผู้บริหารองค์กรใหญ่ ๆ CEO ภาคเอกชนที่น่าสนใจอีกมาก ภาคเอกชนจะจัดงาน APEC CEO SUMMIT 2022 คู่ขนานกับการจัดประชุมเอเปค ในระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ที่เป็นการรวมตัวสุดยอด CEO ผู้นำ APEC และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย” นายสนั่นกล่าว

สอดคล้องกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หวังว่า ภายใต้สถานการณ์และความผันผวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้ การมีเวทีดี ๆ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นสำหรับการประชุม APEC ครั้งนี้ หากผู้นำทุกฝ่ายให้ความสำคัญ “การที่ผู้นำมาประชุมเอง มันคือตัวจริง เสียงจริง การเจรจาก็จะมีข้อสรุปขับเคลื่อนได้”

ด้าน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง สัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ APEC 2022 Economic Leaders’ Week (AELW) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. 2565 นี้ว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์พร้อมเกือบ 100%

เบื้องต้นหลายประเทศได้ตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว เช่น สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์ และบางประเทศยังอยู่ระหว่างการติดตามประสานงานว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ในส่วนกรณีของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับรายงานว่า “หากไม่ติดภารกิจสำคัญก็พร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย”

นายธานี แสงรัตน์

ทั้งนี้ ประชุม APEC จะเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศมีการพูดคุยหารือกัน ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะหยิบยกประเด็นที่เป็นวาระสำคัญต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในปัจจุบันมาแลกเปลี่ยนกัน “เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถดูแลและนำการประชุมครั้งนี้ไปอย่างราบรื่น เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค ส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยไทยจะนำนโยบายการส่งเสริม BCG การขับเคลื่อนธุรกิจคู่ขนานกับการสร้างความยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด”

ABAC ชู 5 ประเด็นถึงผู้นำ

ด้านสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ของภาคเอกชนที่หารือกัน ได้ยก “วาระเร่งด่วน 5 ประการ” เพื่อส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ประกอบไปด้วย 1) การบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regional Economic Integration) โดยเฉพาะการจัดทำ เขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP), การเสริมสร้างความแข็งแกร่งภาคบริการ ขณะเดียวกัน “นวัตกรรม” จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งต้องร่วมกันส่งเสริมนวัตกรรมด้านบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เป็นการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่าง ๆ จึงเรียกร้องให้ APEC สร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาคที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน

3) การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรม การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4) ด้านความยั่งยืน (sustainability) ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เนื่องจากผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น จึงต้องเร่งดำเนินการ “แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030” มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

5) เศรษฐกิจและการเงิน (finance and economics) การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลังและการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว การปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงิน ด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน ในระยะยาวรัฐบาลควรปฏิบัติตามเป้าหมายการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล และความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

Embrace Engage Enable

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และสมาชิก ABAC กล่าวว่า APEC CEO Summit ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Embrace Engage Enable” คาดว่าจะมีผู้นำและวิทยากรที่ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลกเข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยจะได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นเวทีการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย และถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้แสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะด้านการลงทุน ความมั่นคงด้านอาหาร การท่องเที่ยว และด้านการเงิน เป็นโอกาสที่ดีของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การประชุม APEC ครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะ การสร้างรายได้จากธุรกิจจัดประชุม (MICE) ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งมั่นใจว่าไทยมีโรงแรมที่มีศักยภาพจำนวนมาก เพียงพอที่จะรองรับการเดินทางเข้ามาของผู้ที่จะมาร่วมประชุม 21 เขตเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญไทยต้องเร่งสร้างความมั่นใจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมเรื่องการอำนวยความสะดวก ทั้งอุปกรณ์และระบบไอทีต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าไทยมีศักยภาพในธุรกิจนี้

“ที่สำคัญ ไทยควรจะใช้โอกาสนี้ในการชูว่าไทยมีศักยภาพที่จะประชุมสัมมนาในธุรกิจ MICE และไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน เพราะเทรนด์เรื่องนี้กำลังมาแรงและเร็วกว่าที่คาด ดังนั้น หากไทยชูว่าการมาจัดประชุมหรือท่องเที่ยวในประเทศไทย มีการดูแลสภาพแวดล้อมอย่างไร ไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร ก็จะทำให้ต่างชาติมองถึงโอกาสที่จะเข้ามาจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ในประเทศไทยมากขึ้น” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว

มองต่างมุม APEC กร่อย

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง มีผู้นำทางภาคเอกชนบางรายให้ความเห็นถึงการประชุม APEC รอบนี้ “จะกร่อยที่สุดหากเทียบกับการประชุม APEC 2 ครั้งในอดีตที่ประเทศไทยเคยจัดมา (ปี 2535-2546) เนื่องจากการประชุมระดับผู้นำ APEC ครั้งนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะไม่มาร่วมการประชุม แต่จะไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่จะจัดที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเหลื่อมกันระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. 2565 จากนั้นจะเดินทางกลับสหรัฐ จะส่งผลให้ผู้นำ APEC ประเทศอื่นอาจจะ “ลังเล” ไม่เดินทางมาร่วมประชุมที่ประเทศไทย โดยเฉพาะ “จีน” ถึงแม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมา แต่ก็มีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ ขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย “ปูติน” ก็ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะเดินทางมาประชุม APEC ที่ประเทศไทยหรือไม่

“แน่นอนว่า 21 เขตเศรษฐกิจจะส่งผู้บริหารระดับสูงมาร่วมประชุมแน่ ๆ แต่อาจจะไม่ใช่ เบอร์ 1 ดังนั้นสิ่งที่ไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ การจับจ่ายของผู้ที่จะเข้าร่วมประชุม APEC ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ MICE แน่นอน แต่เรื่องการขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจอะไรต่าง ๆ คงไม่ได้มีอะไรมาก เพราะอย่างที่ทราบ APEC เป็นเวทีความร่วมมือ ไม่ใช่ว่าจะมาตกลงแล้วได้ข้อสรุป มีระยะเวลาชัดเจนอะไร เมื่อเป็นเวทีความร่วมมือ เบอร์ 1 ไม่มา แต่เขาไปงาน G20 ที่อินโดฯ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เขาสมาร์ท ในแง่ที่มาที่ไป เขาไปเชิญด้วยตัวเอง และยังมีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสหประชาชาติ หรือ COP27 ที่อียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย. ซึ่งทั้งสองเวทีที่เป็นเวทีใหญ่ ๆ สะท้อนภาพว่า ประเทศไทยอาจจะหมดเสน่ห์แล้ว เพราะด้วยเรื่องภายในประเทศด้วย และประเทศสมาชิก APEC ต่างก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายใน เงินเฟ้อสูง จึงมองว่าไม่จำเป็น เพราะใคร ๆ ก็ทราบดีว่า APEC เป็นเวทีที่ไม่มีข้อสรุปอะไร ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้”