รถไฟฟ้าพาเหรดขึ้นราคา จับตาค่าเดินทางคนกรุง รับปีใหม่ 2566

แนวรถไฟฟ้า

ต้อนรับปีใหม่คนกรุง รถไฟฟ้าพาเหรดขึ้นราคา สายสีแดง-แอร์พอร์ตลิงก์ ยันตรึงราคา อธิบดีกรมรางชี้ตั๋วเดือนช่วยลดค่าครองชีพ

BTS เตรียมขึ้นราคาส่วนสัมปทาน 1 ม.ค. 65

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 บริษัทจะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี

ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16-44 บาท ปรับเป็น 17-47 บาท

ทั้งนี้ การปรับราคา ค่าโดยสารใหม่นั้น ยังต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งอยู่ในอัตรา 21.52-64.53 บาท

นายสุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นเวลา 23 ปี มีการปรับราคาเพียง 3 ครั้งเท่านั้น

โดยการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ปรับจาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว ที่บริษัทยังไม่ได้มีการปรับราคาค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บโดยสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทสามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก ๆ 18 เดือน โดยไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุด

แต่เนื่องจากบริษัทได้คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนจึงได้มีการชะลอการปรับอัตราค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ผลกระทบจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

อีกทั้งบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนรถไฟฟ้าให้บริการสูงสุดถึง 98 ขบวน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ทางบริษัทได้พยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาโดยตลอด

บีทีเอส - BTS

กทม.อ้อน BTS ยื้อขึ้นค่าโดยสาร

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) แจ้งขอปรับขึ้นค่าโดยสาร ว่า กรุงเทพมหานครได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้วเห็นว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นอย่างมาก

ประกอบกับบริษัทยังมีรายได้ทางอื่น ซึ่งนอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสารเพื่อมาชดเชย อาทิ รายได้จากการประกอบพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว รายได้จากการโฆษณา รายได้จากการอนุญาตให้เอกชนก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีและอาคารบุคคลภายนอก

ซึ่งรายได้ดังกล่าวสามารถนำมาช่วยสนับสนุนรายจ่ายจากการดำเนินงานของบริษัทได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้บริษัททบทวนและชะลอการปรับ “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” ออกไปก่อน

กทม.เคยขอเลื่อนขึ้นค่าโดยสารแล้ว 1 ครั้ง

นายวิศณุกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บริษัท BTSC ได้เคยมีหนังสือแจ้งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 16-44 บาท เป็น 17-47 บาท ซึ่งการขอปรับค่าโดยสารดังกล่าวไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุด

แต่กรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ขอให้บริษัทชะลอการปรับค่าโดยสารออกไปก่อน โดยขอให้บริษัทคำนึงถึงความเดือดร้อนและภาระของประชาชนโดยรวม และขอให้ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการขอปรับ “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ”

ต่อมาบริษัทได้มีหนังสือแจ้งกรุงเทพมหานครอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2565 ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าบริษัทมีรายจ่ายจากการดำเนินโครงการที่เพิ่มสูงขึ้นและได้หารือกับผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (กองทุน)

และมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน บริษัทจึงยินดีที่จะชะลอการปรับ “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” ไปจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และจะบังคับใช้อัตรา “ค่าโดยสารที่เรียกเก็บ” ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งค่าโดยสารใหม่ที่จะเรียกเก็บนั้นอยู่ในอัตรา 17-47 บาท ซึ่งไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ตามสัญญาสัมปทาน

รถไฟฟ้าสายสีเขียว เตรียมเปิดตลอดสายถึง "สถานีคูคต" ธ.ค. นี้

สายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่มีการเพิ่มราคา

นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งปัจจุบัน กทม.จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บ จะยังไม่มีการขึ้นค่าโดยสารในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน และขอยืนยันว่า กทม.ได้ทำทุกขั้นตอนตามกรอบแห่งกฎหมายและสัญญาในการลดผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพของประชาชน

สายสีทองประกาศขึ้นค่าโดยสารเป็น 16 บาทตลอดสาย

นายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้บริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) แจ้งปรับอัตราค่าโดยสารจากราคา 15 บาทตลอดสาย เป็น 16 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารโครงการ จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาที่กำหนด โดยจะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารทุก ๆ 3 ปี

ในส่วนของอัตราค่าโดยสารลดหย่อนยังเป็นอัตราเดิม 8 บาทตลอดสาย สำหรับผู้สูงอายุสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้โดยสารทหารผ่านศึกตามกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยยกเว้นค่าโดยสารสำหรับเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร และคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาบริษัท กรุงเทพธนาคม หรือเคที ทำหนังสือถึง กทม.เรื่องขอปรับอัตราค่าโดยสารขึ้น เป็น 16 บาทตลอดสาย เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งตรงกับการปรับอัตราขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนั้นจะเรียกคณะกรรมการเคทีมาประชุม เพื่อขอให้ทบทวนการปรับอัตราค่าโดยสารอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

สายสีน้ำเงินยื้อไม่ไหวหลังผ่อนผัน 6 เดือน

แหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 1 มกราคมนี้ ทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะมีการปรับอัตราค่าโดยสาร ซึ่งจากเดิมตามสัญญาสัมปทานทางบริษัทสามารถปรับค่าโดยสารได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จากการหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมจึงทำให้มีการขยายเวลาในการปรับอัตราค่าโดยสาร

แต่อย่างไรก็ดี ทางบริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วน จำกัด (มหาชน) ยังมี PL Adult Pass หรือตั๋วเดือนให้บริการโดยมีหลายประเภท โดยค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวเริ่มต้นที่ 20 บาทต่อเที่ยว

ทั้งนี้ จากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17-42 บาท เป็น 17-43 บาท โดยเพิ่มขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานีที่ 6 9 11 และ 12

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

สายสีม่วงขยับราคา

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 17-42 บาทนั้น จะมีปรับอัตราจัดเก็บค่าโดยสารเป็น 17-43 บาทเช่นเดียวในวันที่ 1 มกราคม 2565

แต่อย่างไรก็ดีจะยังมีตั๋วโดยสารประเภทตั๋วเดือนให้บริการอยู่เช่นเดิม อีกทั้งจะมีตั๋วเดือนซึ่งสามารถใช้เชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายที่อยู่ในการกำกับดูแลของ รฟม.ด้วย

รถไฟฟ้าสายสีแดง – แอร์พอร์ตลิงก์ ยันไม่ปรับราคา

นายวศิน วรรณพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจองค์กร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยประชาชาติธุรกิจว่า ปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นของประชาชน โดยยืนยันว่าจะตรึงค่าโดยสารในช่วงราคาเดิมคือ 12-42 บาท

อีกทั้งสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองยังมีบัตรโดยสารประเภทรายเดือนหรือที่เรียกว่าตั๋วเดือนให้บริการ โดยเป็นตั๋วประเภท 30 วัน 30 เที่ยวในราคา 750 บาท ซึ่งจะสามารถช่วยให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเฉลี่ยเหลือเพียง 25 บาทต่อเที่ยว

สำหรับการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้นปัจจุบันยังไม่มีการปรับราคา เนื่องจากทางผู้รับสัมปทานรายใหม่ยังไม่ได้ชำระค่างานโยธาจึงทำให้ทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด สามารถคุมค่าโดยสารได้

อธิบดีกรมรางบี้ให้มีตั๋วเดือนลดค่าครองชีพ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผย “ประขาชาติธุรกิจ” ว่า ในเรื่องอัตราค่าโดยสารนั้น ปัจจุบันการปรับค่าโดยสารเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งไม่มีหน่วยงานของรัฐใดสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ อย่างไรก็ดีการปรับค่าโดยสารควรพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจ และปัญหาค่าครองชีพของประชาชนด้วย

ในเบื้องต้นอยากเรียกร้องไปยังผู้ประกอบการให้มีการพิจารณาจัดให้มีตั๋วโดยสารราย 30 วัน หรือที่เรียกติดปากกันว่าตั๋วเดือน โดยให้มีค่าโดยสารเฉลี่ยต่ำกว่าค่าโดยสารในอัตราปกติ เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าโดยสารที่สูงขึ้น คือผู้ที่มีการใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำในทุกวัน หากมีการพิจารณาให้มีตั๋วเดือนจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพได้

สำหรับในระยะยาวนั้นพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง คือคำตอบในการควบคุมเพดานค่าโดยสาร จากเดิมที่ใช้การควบคุมโดยสัญญาสัมปทาน หากพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะมีการควบคุมกฎหมายฉบับนี้อีกทางหนึ่ง

และข้อดีอีกทางหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ คือการจัดการกับปัญหาค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนระหว่างรถไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหาค่าครองชีพ และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น