เงินเฟ้อไทย พ.ย. 65 สูงขึ้น 5.55% ชะลอตัวลงต่อเนื่อง 3 เดือนจากผักผลไม้ เนื้อสัตว์

เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ

สนค.เผยเงินเฟ้อไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่าสูงขึ้น 5.55% แต่เป็นการสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลมาจากกลุ่มอาหาร ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤศจิกายน 2565 เท่ากับ 107.92 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 5.55% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

แต่ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของต่างประเทศ พบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 7.7% สหราชอาณาจักร เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 11.1% อินเดีย เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 6.77%

สปป.ลาว เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 36.75% ฟิลิปปินส์ เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 7.7% และสิงคโปร์ เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 6.7%

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.10% (AoA) อยู่ระดับใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ (ระหว่าง 5.5-6.5% ค่ากลาง 6.0%)

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% ค่ากลาง 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย โดยมีสมมุติฐาน การขยายตัวเศรษฐกิจของไทย หรือจีดีพีขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.7-3.2% น้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 8.40% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่สูงขึ้นร้อยละ 9.58 ตามราคาผักสดที่ลดลงค่อนข้างมาก (ผักกาดขาว ผักคะน้า ขึ้นฉ่าย ฟักทอง) เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มผลไม้ เนื้อสุกร และไก่สด ปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ราคาชะลอตัว รวมถึงเครื่องประกอบอาหารที่ราคาชะลอตัว และส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการที่สมดุลระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค ของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.59% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาล้างจาน ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 3.22% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามต้นทุนการผลิตที่เกิดจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.13% ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้สด (ผักบุ้ง ผักคะน้า ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง) เนื้อสุกร ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด))

แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) สินค้ากลุ่มอาหาร (อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป) และค่าโดยสารสาธารณะยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป