อาเซียน-ตะวันออกกลาง รุ่ง ดันส่งออกไทยปี 2566 พุ่ง 3 แสนล้านเหรียญ

ขนส่งทางเรือ

อาเซียน-ตะวันออกกลาง ตลาดพระเอกดันส่งออกไทย ปี’66 โต 3% กวาด 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จี้รัฐดูแลค่าบาทลดผันผวน ตรึงดอกเบี้ย-เอฟที พร้อมเร่งเจรจา FTA จับมือ ตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 7-8% หรือมีมูลค่า 290,000-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนต้องส่งออกให้ได้ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยยังมองว่าแม้ตลาดหลักจะชะลอตัว แต่ตลาดอาเซียน CLMV และตะวันออกกลาง จะยังขยายตัว ปัจจัยที่ทำให้ส่งออกปี’66 ชะลอลง เพราะเศรษฐกิจในสหรัฐ จากการปรับดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อจะมีผลมากแค่ไหน การฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมไปถึงมาตรการควบคุมโควิดจีนจะมีแรงส่งต่อการส่งออกหรือไม่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นและต้นทุนราคาสินค้า

ตลอดจนปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และวัตถุดิบที่มีราคายังคงมีความผันผวน ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น โดยจะส่งผลต่อเนื่องไปยังปีหน้า

ชัยชาญ เจริญสุข

โดย สรท.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขอให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (Ft) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป

รวมทั้งพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล และเร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai-UK, Thai-Turkey, RCEP (อินเดีย) และ FTAAP

พร้อมกันนี้ สรท.ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ด้วยการได้จัดทำ White Paper 2022 : CLMVT Connectivity Multimodal Transportation in the Next Normal หรือ “รุกรวดเร็ว รถ-เรือ-ราง-ลิงก์”

เพื่อเตรียมพร้อมวางแนวทางส่งเสริมให้เกิดใช้ประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMVT ในลักษณะการขนส่งแบบ multimodal transport ล่าสุดยังร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์ (Thailand Logistics ADR Center : TLAC) ภายใต้ ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 เพื่อให้บริการระงับข้อพิพาทในกิจกรรมโลจิสติกส์การค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ทั้งในรูปแบบการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการ คาดว่าในปี 2566 จะสามารถแก้ไขข้อพิพาทระหว่างภาคเอกชนโดยการประนอมและการอนุญาโตตุลาการ มูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับพันธกิจสำคัญ ศูนย์นี้จะผลักดันและส่งเสริมให้ธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมาตรการที่เป็นมิตรต่อการระงับข้อพิพาททางเลือก สร้างความรับรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก และการให้บริการของ TLAC และให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก ที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ตามระเบียบของการระงับข้อพิพาททางเลือกของ TLAC

ซึ่งมีบริการ 2 ส่วน คือ การให้บริการด้านคดี อาทิ การระงับข้อพิพาทด้วยการประนอม การระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ และการระงับข้อพิพาทด้วยช่องทาง online หรือที่เรียกว่า talk DD และการให้บริการทางด้านจัดฝึกอบรมและจัดการประชุมสัมมนา

ทั้งนี้ กระบวนการอนุญาโตตุลาการ TLAC คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีตกลงกันเลือกบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท โดยคู่พิพาทตกลงที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าวนั้น โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล

ข้อดีที่สำคัญ คือ คู่สัญญาเป็นคนเลือกอนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการจะมีความเชี่ยวชาญที่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ระยะเวลาในการพิจารณาคดีน้อยกว่า คู่สัญญามีอำนาจในการกำหนดกระบวนพิจารณาคดีอนุญาโตตุลาการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการต่ำกว่า ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า ให้บริการครบวงจรโดยมืออาชีพ และอิสระและมีมาตรฐานสากล