ครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเท่ากับเป็นผู้ค้า “อนุทิน” สั่งเข้า ครม.

อนุทิน ชาญวีรกูล
อนุทิน ชาญวีรกูล

รมว.สาธารณสุขสั่ง ปลัดกระทรวง นำเรื่องเข้า ครม. เตรียมประกาศร่างกฎกระทรวง ตามมติคณะกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด

วันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์กำหนดการครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้าว่า ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังจัดเตรียมประกาศ ซึ่งเป็นผลมาจากคณะกรรมการการบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

“จากนั้นจะนำเสนอให้ตนได้ลงนาม ขณะนี้กำลังเตรียมเอกสารอยู่ ซึ่งมาตรการนี้เป็นร่างของกฎกระทรวง ซึ่งจะต้องนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบด้วยก่อนประกาศในราชกิจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้”

เมื่อถามว่าการกำหนดให้ยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ ยาบ้า 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้าจะทำให้สถานการณ์ยาเสพติดดีขึ้นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการดังกล่าวได้มีการหารือกันเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่เขานึกถึงเยาวชน ความมั่นคงของครอบครัว และสังคม ซึ่งเรื่องของการปฏิบัติงานที่บอกว่าการที่เราไม่ปราบปรามยาเสพติดให้เด็ดขาด เพราะกลัวคุกไม่พอขัง

ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอันนี้ไม่ใช่เหตุผล แต่เหตุผลคือเราต้องมีมาตรการที่เด็ดขาด และทำให้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายมีประสิทธิภาพที่บอกว่าคุกไม่พอขัง วันนี้ก็ไม่พอขังอยู่แล้ว ซึ่งการปฏิบัติก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ สำหรับกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไปหางบประมาณเพื่อมาทำในเรื่องของระบบการบำบัดผู้ติดยาเสพติด

เมื่อถามว่า เมื่อกำหนดให้ยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพจะทำให้โทษรุนแรงขึ้นใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่าเป็นมาตรการที่จะทำให้การเลี่ยงบาลีของผู้ที่ประสงค์จะค้ายาเสพติดทำให้ยากขึ้น คือเดิมกำหนดผู้เสพคือ 15 เม็ด ทำได้แค่บำบัด จึงทำให้ผู้ค้าเลี่ยงบาลี ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ไหว เพราะทำให้เลี่ยงบาลีจำนวนมาก ซึ่งตอนนั้นก็ลดลงมาเหลือ 5 เม็ด แต่ผู้ค้าก็ใช้หลบเลี่ยงกันอีก

จึงมาสรุปที่ 1 เม็ด ผู้ค้าอาจมองแล้วไม่คุ้มค่า ดังนั้น ความคุ้มค่าที่จะเลี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายมันจะไม่คุ้มค่าเท่ากับ 5 เม็ด หรือ 15 เม็ดในอดีต ขอย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นร่วมกัน ไม่ใช่เป็นนโยบาย เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขและตนในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการการบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีความกังวลเรื่องนี้ จึงมีมติออกมาเหมือนข้อกำหนดอื่น ๆ ให้อำนาจคณะกรรมการมีมติพิจารณาว่า จะมีมติออกมาอย่างไร ตนก็มีหน้าที่ที่จะลงนามตามมติคณะกรรมการ ซึ่งอำนาจก็แค่ชะลอ ได้ให้เขาทบทวน แต่เขายืนยันตามมติ ตนก็ต้องลงนาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้