อนุทิน แจงปมถ่ายโอน “รพ.สต.” สมาคมอบจ.จี้เคลียร์เงินค้างท่อพันล้าน

อนุทิน ชาญวีรกูล
อนุทิน ชาญวีรกูล

“อนุทิน” แจงวิวาทะ ปมถ่ายโอน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ระบุเป็นอำนาจปลัดสธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยกัน ไม่ใช่นโยบายใหม่ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ขอก้าวก่าย ฟากนายกฯอบจ.ยันไม่มีจังหวัดไหนขอโอนกลับ จี้เร่งเคลียร์เงินค้างท่อ 1 พันล้าน

วันที่ 25 มกราคม 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่า จากกรณีความขัดแย้งเรื่องการโอนย้ายภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.)/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขออกมาเปิดเผยผลสำรวจว่าบุคลากรกว่า 40% อยากย้ายกลับมาสังกัด สธ. ทำให้ทางอบจ. และชมรมรพ.สต.ออกมาตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริง รวมถึงอาจจะมีการฟ้องร้องผู้ให้ข้อมูลในฝั่งสธ.ด้วย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เป็นเรื่องของสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตนคงไม่สามารถมีนโยบายใหม่อะไรได้ เพราะเป็นเรื่องตามกฎหมาย

ซึ่งเมื่อเป็นกฎหมายก็จะเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ โดยส่วนของกระทรวงสาธารณสุขคือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยกัน เพราะรัฐมนตรีวางนโยบาย แต่ไม่สามารถไปบอกว่า ต้องทำงานแบบนี้แบบนั้น หากทำจะถือเป็นการก้าวก่ายได้

“ผมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ต้องบอกว่า เข้ามาหลัง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้นผมจะไปมีนโยบายว่า ไม่ให้ถ่ายโอน ย่อมทำไม่ได้ ขอย้ำว่ เรื่องนี้เป็นการปฏิบัติงาน เป็นเรื่องของปลัดกระทรวงฯ ไม่ใช่เรื่องของรัฐมนตรี” นายอนุทินกล่าว

นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ.ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามประเมินผลหลังการถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ. สต. ให้แก่ อบจ. ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 และพบว่าบุคลากรกว่า 40% ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับคืนสังกัด สธ.เนื่องจากเหตุผล 5 ประการนั้น ขอให้ระบุมาให้ชัดเจนว่ามีที่มาที่สามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าบุคลากรกว่า 40% ที่กล่าวถึงนั้นคือใคร มีจังหวัดไหนบ้าง เพราะการถ่ายโอนบุคลากรจาก รพ.สต.มาสังกัด อบจ.ในปี 2566 นั้นมีถึง 20,000 กว่าคน ดังนั้นการที่ท่านบอกว่าจะขอโอนกลับสธ.ถึง 40 % แสดงว่ามีบุคลากรที่อยากโอนกลับไม่ต่ำกว่า 5,000 คน

นายบุญชู กล่าวว่า ขณะที่สมาคมสอบถามไปยัง อบจ.ทั่วประเทศแล้วได้รับข้อมูลกลับมาว่ายังไม่มีจังหวัดไหนที่มีบุคลากรขอโอนกลับ หรือจะมีบ้างก็ประเภทที่มีความขัดแย้งกันใน รพ.สต.มาขอย้ายสลับไปอยู่ที่อื่น และส่วนใหญ่ก็จะมาทวงถามกันว่าเมื่อไหร่จะเปิดให้มีการประเมินเพื่อขึ้นระดับชำนาญการพิเศษมากกว่า

จึงขอให้ นพ.รุ่งเรือง ระบุให้ชัดว่าเอาข้อมูลมาจากไหน มีตัวตนจริงหรือไม่ เพราะท่านเป็นถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง ออกมาให้ข่าวลอยๆ แบบดิสเครดิตอบจ.อย่างนี้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อ อบจ.ทั่วประเทศ

นายบุญชู กล่าวว่า การที่ระบุว่าอบจ.ไม่มีความพร้อมในการรับการถ่ายโอนนั้น ขอเรียนว่า ก่อนที่ 49 อบจ.รับถ่ายโอน ได้ผ่านการประเมินความพร้อมจากคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการให้คะแนนตามเกณฑ์ชี้วัดในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน อีกทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการถ่ายโอนจริงเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ซึ่งมี ระยะเวลาที่ อบจ.ได้เข้าไปดำเนินการบริหาร รพ.สต.เพียง 3 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากถ้าเทียบกับ รพ.สต.ที่อยู่กับสธ.เกือบ 100 ปี

ดังนั้นการมาด่วนสรุปในทำนองว่า อบจ.ล้มเหลวในการรับถ่ายโอน ต้องถามว่าเป็นธรรมกับ อบจ.หรือไม่ อยากให้กลับไปอ่านทบทวนประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ซึ่งลงนามโดย นายวิษณุ ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

โดยประกาศ ฉบับนี้ได้ระบุให้ส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะสธ. ต้องสนับสนุนการถ่ายโอน ในฐานะพี่เลี้ยงในหลายเรื่อง อยากให้ท่านไปทบทวนดูว่าข้อใหนได้ทำแล้วบ้าง โดยเฉพาะการแก้ไขระเบียบ ต่างๆ เพื่อเอื้อให้สามารถปฏิบัติได้ในช่วงแรกของการถ่ายโอน ซึ่งในบทเฉพาะกาลก็ได้ระบุว่า ภารกิจใดที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขระเบียบหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการก็ให้ถือปฏิบัติตามเดิมไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขระเบียบมารองรับ แต่สธ.ไม่ปฏิบัติตาม

เช่น กรณีเงินค้างท่อของ สปสช.ซึ่งเป็นผลงานของ รพ.สต. ที่ดำเนินการในช่วงโควิด-19 หรือเงิน HICI ซึ่งขณะนี้ได้มีการโอนไปที่โรงพยาบาลแม่ข่าย หรือ CUP แต่ไม่ยอมโอนต่อไปยัง รพ.สต.ที่ถ่ายโอน โดยอ้างว่าระเบียบเงินบำรุงของสธ.ไม่ให้โอนนอกสังกัด ทำให้ขณะนี้มีเงินก้อนนี้ค้างท่ออยู่เฉยๆ โรงพยาบาลก็ใช้ไม่ได้เพราะเป็นเงิน รพ.สต. ในขณะที่รพ.สต.ก็ไม่ได้ใช้เพราะโรงพยาบาลไม่โอนมาให้ ซึ่งทั่วประเทศคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

โดยทางผู้แทนสมาคม อบจ.ได้สอบถามทางสธ.ไปหลายครั้งแล้วแต่ยังเงียบ ไม่มีวี่แววของการแก้ไขปัญหา ทั้งที่ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้เปิดช่องไว้ให้แล้วก็ไม่ยอมดำเนินการ หรือ แม้แต่เรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือนของบุคลากร เป็นต้น