รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สะดุดยาวถึงรัฐบาลหน้า

รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

บอร์ดอีอีซี ยังไม่อนุมัติให้ผ่าน ข้อเสนอรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซี.พี. โดยอาจจะต้องเลื่อนไปเริ่มการก่อสร้างในรัฐบาลหน้า

วันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) (EEC) หรือบอร์ดอีอีซี ครั้งที่ 1/2566

โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอการปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย ประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย ร.ฟ.ท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ ร.ฟ.ท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท

รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์ สร้างความเป็นธรรม และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร พร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น ร.ฟ.ท.ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่อง

ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ส่งมอบพื้นที่ ช่วงสถานีสุวรรณภูมิถึงสถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กม. และพื้นที่บริเวณมักกะสัน (TOD) จำนวน 140 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที โดยคาดว่าการก่อสร้างและทดสอบระบบ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

ส่วนการแก้ไขสัญญาใหญ่ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบเพียงความก้าวหน้า แต่ไม่ได้พิจารณาให้ผ่านในเรื่องการแก้ไขสัญญาการก่อสร้าง แต่ให้มีการเจรจากันใหม่ แล้วนำกลับมาให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

รายงานข่าวระบุว่า เครือ ซี.พี. ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน เสนอให้หน่วยงานรัฐคู่สัญญา จ่ายเงินค่าก่อสร้างโครงการเร็วขึ้น คือในเดือนที่ 21 จากเดิมที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเริ่มจ่ายค่าก่อสร้างในปีที่ 10 งวดเดียวจำนวน 133,475 ล้านบาท ในส่วนที่ภาครัฐต้องจ่าย

แต่บอร์ดอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สั่งการให้ ร.ฟ.ท.กลับไปเจรจากับเครือ ซี.พี.ใหม่ โดยไม่รับเงื่อนไขในการก่อสร้างไปจ่ายเงินไป แต่ฝ่ายรัฐต้องการให้เอกชนคู่สัญญาที่ได้รับสัมปทานมีการก่อสร้างเสร็จในบางช่วงแล้วภาครัฐทยอยจ่ายเงินให้ ตัวอย่าง หากสร้างจากกรุงเทพฯ ไปถึงสถานีรถไฟความเร็วสูงที่พัทยา จากนั้นฝ่ายรัฐจึงเริ่มจ่ายเงินให้เอกชน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ครม.นับถอยหลังไปสู่การยุบสภาภายในก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2566 จากนั้นจะเป็นรัฐบาลรักษาการ อาจจะไม่สามารถอนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานได้ ดังนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่สามารถเดินหน้าได้ตามแผนเดิม คือเริ่มก่อสร้างมิถุนายน 2566 อาจต้องไปเจรจาแก้ไขสัญญา และเริ่มก่อสร้างในรัฐบาลหน้า


ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าอีอีซีเสนอให้มีการปรับแก้สัญญาให้มีการจ่ายเงินโครงการในส่วนของค่างานโยธาให้กับเอกชน โดยปรับวิธีจ่ายเงินร่วมลงทุนให้เร็วขึ้น จากต้องจ่ายในปีที่ 7 ของโครงการ มาเป็นจ่ายในปีที่ 2 เพื่อช่วยรัฐได้ประหยัดงบประมาณจากการลดภาระดอกเบี้ย และทำให้ก่อสร้างเสร็จทันตามกำหนด และทำให้รัฐประหยัดงบประมาณรวม 26,493 ล้านบาท