จากยุคป๋าเปรม ถึงเพื่อไทย สมศักดิ์ เทพสุทิน อ้าง “ข้อมูลใหม่” ทิ้งขั้วทหาร

จากยุคป๋าเปรม ถึงยุคสมศักดิ์ เทพสุทิน ย้ายจากขั้วทหารเข้าเพื่อไทย

สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตรอ้างมี “ข้อมูลใหม่” ย้ายข้างจากรัฐบาลขั้วทหาร เข้าสู่พรรคเพื่อไทย สมทบนักการเมืองรุ่นใหญ่ เลือกตั้ง 2566

40 ปีในวงการเมืองของสมศักดิ์ เทพสุทิน เขาไม่เคยอยู่ในฝ่ายค้านเพราะ “ผมทำงานการเมืองแบบสายกลาง ที่ร่วมงานได้กับทุกฝ่าย หรือก้าวข้ามความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง เพราะผมสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ถึง 14 ครั้งในหลายขั้วรัฐบาล”

จากอยู่ในขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐบาลตลอด 4 ปี ย้ายข้างไปเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เพราะเขาเชื่อว่ามี “ข้อมูลใหม่” ที่จะทำให้ฝ่ายเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จากที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน สมศักดิ์ เทพสุทิน เคยบอกว่า “พลังประชารัฐมีโอกาสเป็นรัฐบาล 99 เปอร์เซ็นต์”

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ สมศักดิ์สร้างวาทกรรมทางการเมืองบนเวทีเปิดตัว ส.ส.พรรคก่อนลงรับสมัครเลือกตั้งว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา”

ก่อนปรากฏการณ์ย้ายพรรคครั้งใหญ่…อีกครั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เคยบอกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ว่าอีก 10 วันจะตัดสินใจเรื่อง “ย้ายพรรค” ในการเข้าสังกัดเพื่อไทย สมทบกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ ยุคไทยรักไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร ประกาศท่าทีทางการเมือง โดยอาศัยบารมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร ตัดสินอนาคต

สมศักดิ์พูดให้สื่อมวลชนบันทึกไว้ว่า “ตอนนี้นายสุริยะกำลังตัดสินใจอยู่ ยกให้ท่านเลย จะไปไหนก็ไปด้วยกัน” คือคำตอบแบบกึ่งรุก-กึ่งกั๊กในที พร้อมสำทับเหตุผลการรีรอต่อรองราคาค่างวดไว้ว่า เสร็จงานแล้ว หมดหน้าที่ จากนั้นจะไปไหนก็ได้”

“ต้องรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีที่ค้างก็ต้องทำให้เสร็จ ทั้งเรื่องกฎหมายปราบปรามการทรมานอุ้มหายที่ยังต้องเข้า ครม.และเข้าที่ประชุมสภา งานที่ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรื่อง ‘เฮาส์อาร์เรสต์’ จะต้องทำให้เสร็จในสัปดาห์หน้า”

“เคลียร์งานเสร็จจะไปก็ได้ หรือไม่ไปก็ได้ ส่วนสมาชิกในกลุ่มสามมิตรทุกคนเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว บางคนย้ายไปอยู่บ้านใหม่ มีข่าวว่าอยากย้ายกลับก็มาก ตอนนี้การเมืองช่วงวันเวลาสุดท้ายใกล้เข้ามาถึง คนที่ย้ายเป็นกลุ่มก้อนออกไป เพราะบรรยากาศการเมืองมันไปเร็ว บางทีไปแล้วไม่ใช่ก็ต้องคิดกลับ แต่คนที่คิดจะกลับก็กลับไม่ได้ เพราะที่เต็มแล้ว ก็ต้องขยับอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้”

การกั๊ก-รอข้อมูลใหม่ ของนายสมศักดิ์ นับว่ามีทั้งความจริงและความลวง-พราง อยู่ในที เพราะคำตอบของเขามีทั้ง “อยู่-ไป และกลับ”

“เพราะการจัดตั้งรัฐบาลยังอีกนาน หากเรามีโอกาสอยู่ตรงนั้นสามารถช่วยผู้คนได้ เพราะว่าเรารู้จักคน รู้จักกลุ่ม ก็สามารถเหนี่ยวนำทำให้การพูดคุยกันง่ายขึ้น…ทุกคนต้องการเป็นรัฐบาล แต่เมื่อเป็นไม่ได้ก็ต้องทำตามอุดมการณ์ ซึ่งผมชอบเป็นรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน”

ไม่ควรลืมว่า ชื่อสมศักดิ์ เทพสุทิน นั้นวันใดที่รั้งตำแหน่ง ส.ส. เขาไม่เคยอยู่ในสังกัดฝ่ายค้านแม้แต่ครั้งเดียว

โจทย์ที่นักการเมืองถามกันทั้งกระดานว่า พรรคของ 2 ป. จะกลับไปรวมกันหรือไม่ หลังการเลือกตั้ง 2566 ถูก “สมศักดิ์” เฉลยไว้อย่างแยบยล-โปรยชื่อคนไว้ระหว่างบรรทัด ครบทุกขั้วว่า…

จะย้ายพรรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “นายสุริยะ” ระหว่างนี้ได้คุยกับ “นายอุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์” รวมทั้งเจรจากับ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” โดยพูดคุยเรื่องนโยบายหาเสียง และเข้าใจความตั้งใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ว่ามีความสามารถ แต่มั่นใจว่า “พรรคพลังประชารัฐ” จะได้กลับมาเป็นรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ คนการเมืองในเครือข่ายสามมิตรไปปรากฏตัวร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย พร้อมปล่อยชื่อหัวขบวน “สมศักดิ์” จะไปสมทบในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่นายสมศักดิ์ ระบุว่า “เคลียร์งานจบแล้ว”

อาทิ จักรวาล​ ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.สุโขทัย และภูดิท อินสุวรรณ์ ส.ส.พิจิตร พรรคพลังประชารัฐ

สมศักดิ์ เทพสุทิน นั้น เป็นเจ้าของวาทกรรมการเมืองหลายวาระ อาทิ ยุคที่เขาถูกตัดสิทธิทางการเมือง เขาบอกว่า กลุ่มนักการเมืองในขณะนั้นล้วน “กลัวผีทักษิณ” ต้องไปรวมตัวกันอยู่มุมห้องของสภา

ก่อนหน้านี้ เขาถูกถามเรื่องย้ายพรรค เขาบอกว่า “พรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสเป็นรัฐบาล 99 เปอร์เซ็นต์”

แต่เมื่อถูกถามว่า เขาจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร เรื่องย้ายพรรค เขาตอบแต่เพียงว่า “รอข้อมูลใหม่”

เมื่อนายสมศักดิ์ได้ข้อมูลใหม่ครบถ้วนแล้ว ทั้งจากในพรรคเพื่อไทย และผู้มีบารมีนอกพรรค ตกลงเงื่อนไขเรียบร้อยแล้ว นายสมศักดิ์จึง “ลาประชุม ครม.” ในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทย เตรียมประกาศตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศในวันที่ 17 มีนาคม 2566

อนึ่ง คำว่า “ข้อมูลใหม่” ถูกใช้ในทางการเมืองครั้งแรกในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ พล.อ.เปรม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ต้องเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2523 แต่ด้วยความพยายามที่จะ “ต่ออายุราชการ” ออกไปอีก 1 ปี ด้วยการอ้างเรื่องความมั่นคงจากภัยคอมมิวนิสต์

ซึ่งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุราชการ ประกอบด้วย พล.อ.เสริม ณ นคร นายบุญชู โรจนเสถียร (กิจสังคม) พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร (ชาติไทย) และ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ (ประชาธิปัตย์) และต่อมาหลังจากการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จากนั้นรัฐมนตรีทั้ง 4 พรรค แถลงว่า “ไม่คัดค้านการต่ออายุราชการของ พล.อ.เปรม”

เหตุผลหลักที่ไม่คัดค้านการต่ออายุ มีการอ้างถึง “ข้อมูลใหม่” พล.อ.เปรม จึงได้รับการต่ออายุราชการอีก 1 ปี โดยเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2524