สามมิตรย้ายขั้วทุกฤดูเลือกตั้ง เปิดสาแหรก ส.ส. 2 ขั้ว 7 ก๊ก

กลุ่มสามมิตร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สวมหัวโขนหัวหน้าพรรคพรรคพลังประชารัฐ เหมือนรับสภาพการตีจากของกลุ่มสามมิตร ที่นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

“ไปถามเขาดู ถ้าจะไปก็ไป” พล.อ.ประวิตร ตอบคำถามนักข่าว หลังมีวรรคทองหลุดจากจาก “สมศักดิ์” ว่า “ผมถนัดเป็นรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน” และ “ต้องบอกว่าผมไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่เป็น ส.ส.”

สถานะของกลุ่มสามมิตรตอนนี้ ถูกนิยามในวงสนทนาการเมืองของคนการเมืองว่าเป็น “สามมิตร สามพรรค” และแน่ชัดเกือบ 100 % แล้วว่า ทั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม คงจะ “ลาออก” จากตำแหน่ง เพื่อย้ายเข้าสังกัดขั้วฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย

เพราะ สมศักดิ์ ส่งลูกน้องทางการเมืองไปเปิดตัวเป็น “ผู้ประสงค์ลงสมัครเลือกตั้ง” ในนามพรรคเพื่อไทย

ทั้ง นายภูดิท อินสุวรรณ์ อดีต ส.ส.พิจิตร นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง อดีต ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.สุโขทัย

ขณะที่ มือขวาอย่าง นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ และอดีต ส.ส.ชัยนาท นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ย้ายไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

ส่วนนักเลือกตั้งที่ผูกติดกันมาตั้งแต่ยุค “มัชฌิมาธิปไตย” น.ส.กุลวลี นพอมรบดี อดีต ส.ส.ราชบุรี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี ณ นาทีนี้ก่อนยุบสภายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

ข่าวลือของข่าวลือเรื่อง “สมศักดิ์” อาจจะมาปรากฏตัวในพรรคเพื่อไทยภายในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ดังก้องไปถึงวงเจรจาการเมืองที่สิงคโปร์ และฮ่องกง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ทว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เลื่อนคิว “ยุบสภา” ไปเป็นวันที่ 20 มีนาคม 2566 การเปิดตัวที่พรรคเพื่อไทย ของ “สมศักดิ์” อาจจะขยับออกไป

จังหวะทางการเมืองของสมศักดิ์ ที่ไม่เคยเป็นฝ่ายค้านในขณะที่เป็น ส.ส. เริ่มต้นจากพรรคกิจสังคม มาอยู่พรรคไทยรักไทย ก่อกำเนิดเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตยร่วมรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อถูกยุบพรรค ได้รวมพรรคกับภูมิใจไทย แม้ภายหลังเป็นฝ่ายค้าน แต่ “สมศักดิ์” ไม่ได้เป็น ส.ส.

เพราะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ในฐานะบ้านเลขที่ 109 เมื่อพ้นโทษตัดสิทธิ์ ในเดือนธันวาคม 2556 เขาก็นำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย ผนวกเข้ากับพรรคเพื่อไทย แต่ก็เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อทางการเมือง สมศักดิ์ และกลุ่มสามมิตร ก็เป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

ท้ายที่สุด ไม่ว่า “สมศักดิ์” ที่ยัง “แทงกั๊ก” ไม่เผยความชัดเจนจะอยู่พรรคพลังประชารัฐ หรือย้ายกลับเข้าพรรคเพื่อไทย แต่สภาพของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ ก็เต็มไปด้วยความอิหลักอิเหลื่อ

ณ วันนี้หาก “สมศักดิ์” ตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ครม.ประยุทธ์ จะถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว 7 ก๊ก

ขั้ว 1 รัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลัง

ขั้ว 2 ขั้ว ฝ่ายค้านในรัฐบาลเพื่อไทย

ส่วน 7 ก๊ก ประกอบด้วย 1. ก๊กรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ 2.สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 3.อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ 4.ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ

2.ก๊ก พรรคพลังประชารัฐ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 2.สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง 3.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส 4.สุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรและสหกรณ์ 5.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม 6.อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม 7.ตรีนุช เทียนทอง รมช.ศึกษาธิการ

3.ก๊ก พรรคภูมิใจไทย 1.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข 2.มนัญญา ไทยเศรษฐ รมช.เกษตรฯ 3.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 4.ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย 5.พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

4.ก๊ก พรรคประชาธิปัตย์ 1.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ 2.จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ 4.สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ 5.นริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย 6.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.ศึกษาธิการ 7.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข

5.พรรครวมพลัง อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

6.ก๊ก พรรคชาติไทยพัฒนา 1.วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ

7.ก๊กรัฐมนตรีโควตากลาง 1.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ 2.ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ 3.สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน 4.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม 5.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง 6.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

สถานะคลุมเครือแบบนี้ ยังอยู่ต่อไปในรัฐบาลรักษาการถึงสิงหาคม หากไม่มีใครลาออก