ยุบสภา 14 ครั้ง เปิดเหตุผล ทำไมต้องประกาศก่อนหมดวาระ 2 วัน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 แล้ว จากนี้ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 นับเป็นการประกาศยุบสภาของรัฐบาลครั้งที่ 14 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

วันที่ 20 มีนาคม 2566  ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” แล้ว โดยมีความตอนหนึ่งว่า… พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา จนถึงปี 2566 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วรวม 13 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14

เปิดเหตุผลการยุบสภา

สำหรับสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็พบว่าแต่ละครั้งของการยุบสภาผู้แทนราษฎรล้วนมีเหตุการณ์และเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุแตกต่างกันไป สรุปถึงสาเหตุใหญ่ 4 ประการ ได้แก่

1.ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ

2.ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

3.ปัญหาทางการเมืองหรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง

4. รัฐบาลอยู่เกือบครบวาระ แต่ต้องยุบสภา เพื่อต้องการเปิดทางให้ ส.ส.มีการย้ายพรรคได้โดยไม่อยู่ในล็อกของกฎหมายพรรคการเมือง

สำหรับเหตุผลข้อที่ 4 อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการยุบสภาก่อนรัฐบาลหมดวาระ 2 วัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และต้องการเปิดโอกาสให้บรรดา ส.ส.ได้ย้ายสังกัดพรรค ตามกฏหมายภายใน 30 วัน เพื่อให้ทันกับการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ แต่หากไม่ยุบสภาและรอให้รัฐบาลอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 จะทำให้นักการเมืองที่ต้องการลงรับสมัคร ส.ส.ไม่ทันในครั้งนี้ เพราะต้องสังกัดพรรคใหม่ในเวลา 90 วัน

ทั้งนี้ การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. บังคับให้ ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 เป็นเหตุผลสำคัญในการยุบสภาครั้งนี้

เพราะรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 90 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะครบวาระสภา) หรือ 30 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะยุบสภา) ส่วนบรรดา ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคหรือเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็ต้องลาออกจากสมาชิกพรรคเดิมก่อน ซึ่งจะส่งผลให้สถานะการเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน

ดังนั้น เงื่อนไขในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัคร ส.ส. และเป็นเหตุผลสำคัญในการประกาศยุบสภาล่วงหน้าเพียง 2 วัน คือ

1. กรณีครบวาระสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

2. กรณียุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

การยุบสภาผู้แทนราษฎร 14 ครั้ง มีดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 11 กันยายน 2481 พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ตุลาคม 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 3 วันที่ 12 มกราคม 2519 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 4 วันที่ 19 มีนาคม 2526 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 5 วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 6 วันที่ 29 เมษายน 2531 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 7 วันที่ 30 มิถุนายน 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 8 วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 9 วันที่ 28 กันยายน 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 10 วันที่ 9 พศจิกายน 2543 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 11 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 12 วันที่ 10 พฤษภาคม 22554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 13 วันที่ 9 ธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 14 วันที่ 20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี