เศรษฐกิจฟื้น-ราคาพลังงานลง ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ 39 เดือน

ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. 66 แตะ 55.7 สูงสุดรอบ 39 เดือน รับเศรษฐกิจรับฟื้น-ราคาพลังงานลดลง แต่ยังมีความกังวลแฝงการเมืองลากยาว

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ระหว่างวันที่ 24-32 พฤษภาคม พบว่าปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55 ในเดือนเมษายน เป็น 55.7 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันดีขึ้นจากระดับ 39.5 เป็น 40.5 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ดีขึ้นจากระดับ 62.5 เป็น 63.1 โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ดีขึ้นจากเดือนเมษายนที่อยู่ระดับ 49.4 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ

นอกจากนี้ประชาชนมีมุมมองต่อการซื้อบ้าน ซื้อรถคันใหม่ ลงทุน และท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ยังดีขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) โดยรวม ปรับตัวดีขึ้นจาก 52.7 เป็น 54.8 ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) ในปัจจุบันและในอนาคต ปรับขึ้นจาก 51.1 และ 52.7 เป็น 52.5 และ 54.8 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจปรับดีขึ้น จากความรู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นชัดเจน บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งคึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามภูมิภาค ประกอบกับราคาน้ำมันลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง

แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคทั้งภาคประชาชนและนักธุรกิจ กลับเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นอันดับแรก ตามด้วยความกังวลค่าครองชีพยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมกังวลสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลลบต่อการส่งออกไทยหดตัวลง และมีผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อทุกภูมิภาคของไทย มีผลต่อการจ้างงานฟื้นตัวช้าในอนาคต ที่รวมถึงนโยบายค่าแรงที่อาจปรับขึ้น และความกังวลต่อการแพร่ระบาดโควิดกลับมาอีกครั้ง

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ซึ่งนักธุรกิจจึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้เร่งดำเนินการ 6 เรื่อง คือ 1.กังวลผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน จะมีผลต่อต้นทุนธุรกิจมาก จึงอยากให้พิจารณาหาวิธีที่เหมาะสมร่วมกัน 2.เร่งออกแนวทางปรับลดต้นทุนด้านธุรกิจต่าง ๆ

3.อยากเห็นความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความพร้อมขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลใหม่ 4.กระจายความเจริญของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ให้มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับเมืองใหญ่ 5.ควบคุมป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐ และ 6.ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า แม้หลายเริ่มมีความกังวลในหลายเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย แต่ทางศูนย์พายากรณ์ฯยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ คงตัวเลขเดิมขยายตัว 3.6% ใกล้เคียงกับมติที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดกรอบ 3-3.5% แต่อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์จะมีการทบทวนคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

ซึ่งในช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองน่าจะมีความชัดเจนอีกระดับ โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯประเมินสถานการณ์ว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าจะขั้วใดในเดือนสิงหาคม มีเสถียรภาพพอ และไม่เกิดการชุมนุมนอกสภา การใช้งบประมาณยังอ้างอิงปีงบฯ 2566 ไปก่อนจนกว่าจะผ่านงบประมาณปี 2567 ในเดือนกุมภาพันธ์ การท่องเที่ยวผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวตามคาด 25-28 ล้านคน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 3.0-3.5%

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ตรงกันข้าม หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อไปถึงปลายปีหลังกันยายน-ตุลาคม หรือจัดตั้งได้แล้ว แต่ไม่มีเสถียรภาพและเกิดการชุมชุมประท้วงนอกสภา จนสถานทูตนานาชาติเตือนการเดินทางมาเที่ยวไทย โอกาสเติบโตเศรษฐกิจไทยจะเหลือ 2.3-3.0% แทน

“ทุกภาคส่วนตอนนี้ หากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว ไม่เกินเดือนสิงหาคมยิ่งดี ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจโลกน่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งพอดี จากตอนนี้เศรษฐกิจโลกยังซึมตัว และมีผลต่อการส่งออกไทย แนวโน้มต้นทุนธุรกิจเริ่มลดลง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 3.6-4% ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เรามองไว้ที่ 3.5% เพราะมองจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ต้องไม่มีการประท้วงนอกสภา

เนื่องจากตอนนี้นักลงทุนต่างชาติ อยู่ระหว่างเฝ้าติดตามและลังเลว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยช่วงใด เมื่อได้รัฐบาลใหม่และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร จะดีต่อการลงทุน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าต่างชาติจะย้ายฐาน ด้วยมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ จุดสำคัญเขามองการเลือกตั้งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันคิดว่ายังเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่” นายธนววรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า เนื่องจากในมิติของการจัดตั้งรัฐบาลในประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมา ได้คะแนนเลือกตั้งอันดับ 1 จะได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล และบางทีพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เช่นกัน และในธรรมเนียมคือพรรคอันดับ 1 อาจจับกับพรรคอันดับ 3 ลงไป แต่ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เจอพรรคอันดับ 1 จับมือกับพรรคอันดับ 2 ยังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย


ขณะที่กลไกของการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ว่า ผ่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือไม่ผ่าน ส.ว. ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ที่มาจากรากฐานที่ประชาชนลงมติ เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่ว่ามองจากมิติไหนการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังเป็นไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย