รมช.คลังตอบกระทู้สดในสภา แทนนายกฯเศรษฐา สางปัญหาหุ้น STARK

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

สส.เลิศศักดิ์ สส.เพื่อไทย ชงกระทู้สด ถามเศรษฐา แจงความคืบหน้ากรณีฉ้อโกงหุ้นสตาร์ค ชี้ทำเสียหายหลายล้านบาท รมช.คลัง จุลพันธ์ ชี้แจงแทน รัฐบาล-ก.ล.ต.-DSI จับมือแก้ปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ

วันที่ 21 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม วาระกระทู้ถามครั้งแรกของการประชุมสมัยนี้ โดยนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งกระทู้ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ถึงกรณีการฉ้อโกงหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าเป็นมหากาพย์การโกงของประเทศไทย ที่มีมูลค่าความเสียหายมาก

เป็นทั้งการฉ้อโกง ทุจริต ยักยอกเงิน ไซฟ่อนเงิน และตกแต่งบัญชี โดยมูลค่าการปลอมแปลงสูงถึง 25,063 ล้านบาท ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ผลิต และขายสายไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน และอันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงมีมูลค่าติดหนึ่งใน 100 ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ทำการตกแต่งบัญชี ทำให้หุ้นสูงขึ้นและฉกฉวยโอกาสนี้ในการขายเพื่อเอากำไร

               

มีการสร้างยอดขายปลอม ไม่มีใครจ่ายเงินจริง รวมถึงสร้างยอดขายปลอมโดยจ่ายให้พวกเดียวกันเอง จำหน่ายภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม สร้างรายจ่ายปลอม สร้างรายการชำระเพื่อมาล้างลูกหนี้ปลอม เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาบริษัทต้องส่งงบการเงินกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ทางบริษัทได้ขอเลื่อนออกไปก่อน ทำให้ติด SP หรือสัญลักษณ์ห้ามซื้อขายหุ้น รวมถึงได้แต่งตั้งผู้สอบบัญชีรายใหม่ โดยกำไรสุทธิจากเดิมเป็นกำไรหลายล้าน

แต่ปีถัดมากลับขาดทุน โดยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 267 ทางตลาดหลักทรัพย์ฯมีอำนาจในการอายัดทรัพย์ หากพบว่ามีความผิดปกติ หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตน จึงขอตั้งคำถามถึงความคืบหน้าการติดตามการเอาผิดผู้บริหารของบริษัทมาลงโทษ, การเอาผิดอดีตประธานกรรมการบริหารที่นำเงินออกจากประเทศ มีโอกาสจะได้เงินเหล่านี้คืนหรือไม่ และเหตุใดตลาดหลักทรัพย์ฯจึงไม่เร่งรัดในการอายัดทรัพย์ดังกล่าว รวมถึงจะมีกระบวนการในด้านกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกอย่างไร

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงแทนนายเศรษฐาว่า ภายหลังจากมีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็มีการพูดคุยกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบเรื่องการเยียวยาผู้เสียหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงหากลไกปิดช่องโหว่ในตลาดทุนในไทย ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้ง DSI ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อติดตาม และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การอายัดเงินและห้ามผู้ที่กระทำความผิดนอกประเทศได้ดำเนินการแล้ว

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ คณะกรรมการ อดีตกรรมการ และอดีตผู้บริหารของบริษัททั้งสิ้น 10 ราย จากเรื่องการตกแต่งงบการเงินบริษัท การกระทำโดยทุจริตหลอกลวง ซึ่งมีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญา และห้ามมิให้มีคำสั่งห้ามผู้ถูกกล่าวโทษออกนอกราชอาณาจักร ตามคำสั่ง ก.ล.ต. เป็นการชั่วคราว และนำผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล ทั้งนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการสืบสวน และอายัดเพิ่มเติมอีก

“แม้จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามา แต่เราก็ติดตามสอบถามรายละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกทุกท่าน และประชาชน ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องตลาดทุน เราจะหาทางติดตาม แก้ไข ตรวจสอบให้ได้” นายจุลพันธ์กล่าว

สำหรับการแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกนั้น ตามกรอบกฎหมายต้องรวบรวมหลักฐานให้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ทำให้ระยะเวลาในการอายัดทรัพย์ล่าช้า ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำให้กระบวนการรัดกุมยิ่งขึ้น มีการเพิ่มบทบัญญัติในเรื่องของโทษทางปกครอง และบรรจุโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างกฤษฎีกา หากผ่านแล้วคงเข้า ครม. และจะมีการพิจารณาในชั้นสภา วุฒิสภาต่อไป

ส่วนการปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่าง ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ทั้งวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงข้อมูลสรุปที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯทำให้นักลงทุนวิเคราะห์ อัตราส่วนในการกู้ยืมเงิน และยืนยันต่อผู้กู้เงินที่จะลงทุนว่าข้อมูลดังกล่าวเชื่อถือได้ ซึ่งจะพิจารณาพูดคุยหาทางออก แก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป