พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ

พระบรมราชโองการ

หลักการทั่วไปการให้อภัยโทษ แก่ผู้ต้องโทษ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านเหตุการณ์ วโรกาส หรือโอกาสที่สำคัญ

การอภัยโทษทั่วไปเป็นการให้อภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษจำนวนมาก เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อราษฎรของพระองค์ในวโรกาสที่สำคัญ ๆ ซึ่งมีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

การอภัยโทษในรัชสมัย ร.9 

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ยังคงยึดรูปแบบหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษมาตรา 259 ถึงมาตรา 267 ประกอบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ใน “มาตรา 179 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการอภัยโทษ” โดยในการใช้พระราชอำนาจดังกล่าวเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณลดหย่อนโทษเป็นประการใดก็ได้

ทั้งนี้ ได้ทรงใช้พระอัจฉริยภาพประกอบพระราชวิจารณญาณ อันรอบคอบลึกซึ้งวินิจฉัยฎีกาด้วยพระองค์เองอย่างละเอียดถี่ถ้วน พระราชปฏิบัติในการพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยต่อทุกข์สุขของพสกนิกรซึ่งทุกข์เข็ญทรมานด้วยผลแห่งทัณฑกรรม

สำหรับการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณนับแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ในปี 2489 เป็นต้นมาจนกระทั่งสิ้นรัชกาลในปี 2559 มีเหตุการณ์ วโรกาส หรือโอกาสอันเป็นที่มาของการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปได้ ดังนี้

  1. เหตุการณ์ที่เกี่ยวแก่พระราชวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ได้มีการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในเหตุการณ์ที่เกี่ยวแก่พระราชวงศ์เป็นจำนวนมาก โดยพระราชกฤษฎีกา เช่น เนื่องในโอกาสแห่งพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา, เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ, เนื่องในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5  ธันวาคม และใน พ.ศ. 2550 เป็นต้น
  2. เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับศาสนา ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ได้มีการพระราชทาน อภัยโทษทั่วไปในเหตุการณ์ดังกล่าวคือ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2500 พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ
  3. เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ได้มีการ พระราชทานอภัยโทษทั่วไปในเหตุการณ์บ้านเมืองโดยพระราชกฤษฎีกา ดังนี้ เนื่องในโอกาสที่ได้มี พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เนื่องในโอกาสที่ได้มีการ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 และในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวช เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 และในโอกาสที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521

การอภัยโทษ ในรัชสมัยปัจจุบัน

ในรัชสมัยปัจจุบัน วโรกาสสำคัญ  มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ มาแล้ว 5 ครั้ง

ADVERTISMENT

ครั้งแรก คือ โอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมี พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

มีเนื้อหาว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่าในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ให้ไว้ ณ วันที่ 21 เมษายน 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศภาคม 2562

ครั้งที่สอง ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563

เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษ แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ครั้งที่สาม ในปี 2564 มีพระบรมราชโองการอภัยโทษ ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ วันที่ 27 กรกฏาคม 2564 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฏาคม 2564 เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

โดยพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 ระบุหลักเกณฑ์ของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีผลนับตั้งแต่วันนี้ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา สำหรับเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวหรือลดโทษมีเงื่อนไข

ครั้งที่สี่ ในปี 2565 มีพระบรมราชโองการ พระราชทานอภัยโทษ 2 วาระพร้อมกัน ในคราวเดียว ตามราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ วันที่ 12 สิงหาคม 2565 พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2565

ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ครั้งที่ห้า พระบรมราชโองการอภัยโทษ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ ลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี จากโทษ จำคุก 8 ปี ใน 3 คดี

พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีความว่า ตามที่ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คือ

1. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี
2. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี
3. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี

รวมนักโทษชายทักษิณ มีกำหนดโทษจำคุก 8 ปี โดยรับโทษมาแล้ว 10 วัน เหลือโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ความว่าเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป

คคีของ ทักษิณ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถูกส่งเข้าเรือนจำไม่ทันข้ามคืน ได้มีการนำตัวไปรับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจ และพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจมาแล้วกว่า 106 วัน

ตลอดเวลาของการพักรักษาตัว มีข่าวลือสะพัดเรื่องการได้รับอภัยโทษเพิ่ม ในหลายวันสำคัญของชาติ แต่ก็ยังไม่มีความปรากฏ นักกฎหมายหลายคนคาดว่าเขาต้องรับโทษจำคุกถึง 22 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นการจำคุกครบ 6 เดือน

โดยมีการอ้างถึง ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุกและการพักการลงโทษ พ.ศ. 2559 ซึ่งนายทักษิณเป็นนักโทษเข้าใหม่ นับเป็นนักโทษชั้นกลาง โดยการเลื่อนชั้นหรือลดชั้นนักโทษเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และสามารถทำได้ 2 ครั้ง คือสิ้นเดือนมกราคมและสิ้นเดือนธันวาคม หากนายทักษิณจะเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดี จะต้องถูกคุมขังมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

หากพิจารณาตามเกณฑ์ปกติ นายทักษิณรอเลื่อนชั้นตามระบบ หรือรับโทษอย่างน้อย 6 เดือน นักโทษเด็ดขาดจะยังไม่เข้าเกณฑ์การขอพักโทษได้

หรือหากทักษิณ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ที่รับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน จะเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 ของ 6 เดือนที่เหลือ หรือ 2 เดือน ดังนั้น หากได้รับการพักการลงโทษ และไม่มีข้อแม้พิเศษอื่น ๆ นายทักษิณจะต้องรับโทษจำคุกจริงทั้งหมด 8 เดือน และจะพ้นโทษตามเกณฑ์ คาดว่าจะเป็นช่วง 22 เมษายน 2567

ทั้งนี้ เนื่องจากนายทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษมาแล้ว การยื่นขอรับพระราชทานอภัยโทษก็อาจเกิดขึ้นได้อีก โดยเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สำหรับการพระราชทานอภัยโทษ มี 2 แบบคือ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป 2. การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

กรณีเป็นการทั่วไป ในวาระที่เป็นมงคล จะมีประโยคต่อท้ายประกาศ ว่า “เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป”

กรณีการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย กรณีทักษิณเป็นการพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ มีประโยคต่อท้ายประกาศ ไว้ว่า “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือ และทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักโทษรายใดจะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่การได้รับพระราชทานอภัยโทษ ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย

อนึ่ง การประกาศพระราชทานอภัยโทษ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งหลักเกณฑ์ ธรรมเนียม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มักจะเกิดขึ้นในวโรกาสที่สำคัญ และเป็นมงคล