ชัยธวัช วิเคราะห์ 3 อุบัติเหตุการเมือง แจกเงินหมื่น ทักษิณพ้นคุก ตำแหน่งเศรษฐา

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ การัณยโสภณ 
        อิศรินทร์ หนูเมือง

พรรคก้าวไกล ชนะลือกตั้งสูงสุด 14 ล้านเสียง ได้ สส.ในสภากว่า 150 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐาล เกือบ 100 วัน แต่ฝ่าแนวต้านการเมืองใน MOU และเสียงในวุฒิสภาไม่ไหว เพื่อไทยพลิกเกมขึ้นเป็นรัฐบาล ดันก้าวไกลพลิกผันเป็นฝ่ายค้าน

พรรคก้าวไกล ขึ้นบทใหม่ ภายใต้การนำของ “ชัยธวัช ตุลาธน” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ชัยธวัช” ฉายภาพอุบัติเหตุการเมืองใหม่ในปี 2567 จังหวะก้าวของพรรคก้าวไกล และบทบาทใหญ่ของ พิธา-ธนาธร

อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพื่อไทย

ชัยธวัช ฉายภาพภารกิจใหญ่ ๆ ของพรรคก้าวไกล ที่คนคาดหวังสูงมีอะไรบ้างว่า เรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ถือว่าเป็นไฮไลต์ด้วย เพราะพรรคฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ว่ากระบวนการจัดการงบประมาณเพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลใหม่ มีปัญหาอย่างไร

นอกจากนั้น มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ จะมาทำดิจิทัลวอลเลตถ้ามีการเสนอเข้าสู่สภาจริง รวมถึงร่างกฎหมายสำคัญของฝ่ายค้านและรัฐบาลในอีกหลายประเด็น

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรายึดเอาข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง ถ้าพบว่าฝ่ายบริหารใช้อำนาจโดยมิชอบหรือการมีคอร์รัปชั่น สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับบ้านเมือง ก็จะนำมาตัดสินใจว่าเราจะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่

พรรคก้าวไกลเคยฝากฝีมืออภิปราย ตั๋วตำรวจ-งบฯทหาร เมื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านจะมีไฮไลต์เหล่านี้หรือไม่ “ชัยธวัช” ตอบว่า ยังบอกไม่ได้ แต่เรื่องตำรวจมีปัญหาที่เราติดตามอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อาจจะเข้าข่ายการ กระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ เรื่องตั๋วผู้กำกับก็ติดตามอยู่ อาจจะมีไฮไลต์มากกว่านั้นก็ได้

 แจกเงินหมื่น-ทักษิณและสถานะเศรษฐา

“ชัยธวัช” กล่าวว่า อุบัติเหตุการเมืองปี 2567 มีอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะไปต่อได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ ก็ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง

ไม่อาจไปถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่กระทบต่อความรู้สึกและความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน

หรือแม้ ถ้าผลักดันได้สำเร็จ ผลของนโยบายไม่ได้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลประเมินไว้ ก็ส่งผลกระทบต่อการต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ก็อาจส่งผลกระทบเหมือนกัน

ประเด็นที่สอง กรณีคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ว่ากฎหมายและระเบียบของราชทัณฑ์ที่จะออกมาเพื่อที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ไปคุมขังที่อื่นได้ เช่น สถานที่อื่น ๆ ที่จัดไว้ โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย

ทุกคนกำลังจับตาว่า สิ่งที่ออกมาจะไปเอื้อให้กับการเกิด 2 มาตรฐานแบบอภิสิทธิ์ชน ในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ดังนั้น เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะถ้าเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเกิดกระบวนการยุติธรรมแบบอภิสิทธิ์ชนขึ้นมา ความไม่พอใจทางการเมืองต่อรัฐบาลสูงแน่นอน

“รัฐบาลจะบอกว่าเรื่องกรณีคุณทักษิณ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องคุณทักษิณ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพรรคแกนนำรัฐบาล และการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกลับบ้านของคุณทักษิณด้วย”

ผลกระทบทางการเมืองจะขนาดไหนเราตอบไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายเรื่อง อาจจะไม่คาดคิดว่าจะส่งผลกระทบทางการเมืองรุนแรงและกว้างขวาง แต่ก็เกิดขึ้นได้

ประเด็นที่ 3 ที่คิดว่าถ้ามันเกิดขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ก็คือ เรื่องสถานะของนายกรัฐมนตรี ตอนนี้มีคนประเมินกันเยอะว่านายกฯอาจจะดำรงตำแหน่งไม่ครบ เพื่อเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นได้ยังไง

สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีการร้องเรื่องของนายกรัฐมนตรีไปยัง ป.ป.ช. เช่น ประเด็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยร้องนายกฯใช้อำนาจโดยมิชอบ ขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจ ซึ่งมีการร้องไปนานแล้ว

แน่นอนถ้าองค์กรอิสระมีการวินิจฉัยว่านายกฯกระทำผิด อันนี้ก็แน่นอนต้องหลุดออกจากตำแหน่ง ก็จะนำไปสู่การปรับรัฐบาลชุดใหม่

ปรับคณะรัฐมนตรี-ปรับดุลอำนาจ สว.

“ชัยธวัช” มองการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ว่า ต้องดูว่าการปรับ ครม.เกิดขึ้นจากอะไร

การปรับ ครม.อาจเกิดขึ้นจากรัฐบาลประเมินตัวรัฐมนตรี เช่น ให้โอกาสการทำงานครบ 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วไม่สามารถทำงานได้ตามเป้า ดังนั้น จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังขึ้นกับฝ่ายรัฐบาลตั้งเป้าประเมินผลงานไว้อย่างไร

ที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย หมุนเวียนเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย ไม่ได้เกิดจากปัญหาภายนอก แต่เกิดจากระบบภายใน

ถ้าการปรับ ครม.เกิดขึ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แน่นอนก็เกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขึ้นอยู่กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ถ้าการปรับ ครม.เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของรัฐมนตรีรายใดรายหนึ่งก็คงบอกไม่ได้

แต่ตอนนี้มีคนจับจ้องการปรับ ครม. หรือเปลี่ยนตัวนายกฯ ว่าจะปรับกันก่อนหรือหลังการที่ สว.หมดอำนาจในการเลือกนายกฯ

ขึ้นอยู่กับว่าการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือ ครม.เกิดขึ้นโดยฝ่ายไหน ถ้าเกิดขึ้นจากพรรคฝั่งแกนนำรัฐบาลเอง ก็ต้องเกิดขึ้นหลังเดือนพฤษภาคม

เพราะหลังจาก สว.หมดอำนาจเลือกนายกฯ อำนาจต่อรองในการควบคุม รัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ที่พรรคแกนนำรัฐบาล แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากการผลักดันของพรรคแกนนำรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นก่อนเดือนพฤษภาคม 2567

ตัวแปร ทักษิณ ในความขัดแย้ง

ถาม “ชัยธวัช” ว่า “ทักษิณ” จะกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งหรือไม่ เขาตอบว่า “ถ้าก่อนคุณทักษิณพ้นโทษ ไม่เกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าคุณทักษิณได้อภิสิทธิ์ ก็คงไม่เกิดปัญหาอะไร และขึ้นกับบทบาทของคุณทักษิณว่าหลังพ้นโทษมาแล้ว เข้าไปมีบทบาทในการบริหารมากน้อยแค่ไหน”

แต่ก้าวไกลไม่ได้มองว่า ศูนย์กลางความขัดแย้งอยู่ที่คุณทักษิณ คิดว่าโจทย์ของการเมืองไทยตอนนี้คือ เราจะสามารถเปลี่ยนผ่านการเมืองจากยุครัฐประหารมาสู่ระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร จะเกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นได้หรือไม่

ตอนนี้สิ่งที่เราเห็นคือคู่ขัดแย้งในทางการเมืองที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันรอบ 10 กว่าปี มาเป็นพันธมิตรกันชั่วคราว เพื่อสู้กับพลังทางสังคมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ความขัดแย้งครั้งใหม่ หรือปัญหาการเมืองหลังจากนี้ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้โดยราบรื่นหรือไม่ เช่น เรื่องนิรโทษกรรมทางการเมือง หรือกระบวนการการจัดการความเห็นต่างทางการเมืองที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จะมีกระบวนการอย่างนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีการเปิดประตูให้คนที่ขัดแย้งทางความคิด ทางการเมือง คลี่คลายความขัดแย้ง ก็อาจจะซุกระเบิดเวลาไว้ในอนาคตได้

เพราะความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุบัน และอนาคตคือ เราจะสามารถเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา และมรดกการรัฐประหาร 2 ครั้ง ไปสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้หรือไม่

จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสของสังคมไทย แสวงหาฉันทามติร่วมกันอีกครั้งหลังปี 2540 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือถ้าทำไม่ดี ก็จะเป็น กระบวนการที่บางกลุ่มบางฝ่ายไม่ยอมรับ แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่สามารถสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทยได้

ก้าวไกล รุกเลือกตั้งท้องถิ่น

ชัยธวัชเล่าว่า พรรคก้าวไกลเตรียมการจะส่งคนลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรคก้าวไกลเอง เพราะในอดีตยังไม่มีความพร้อม เพราะเกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่

เพราะเรามีเรื่องการกระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ดังนั้น เราต้องลงไปเป็นผู้เล่นเพื่อเข้าใจระบบของมันจริง ๆ การทำการเมืองท้องถิ่นด้วยตัวเอง จะเป็นวิธีการที่เราเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าในสภาเสียอีก

ส่วนบทบาทในสภา ต้องทำงานในสภามากกว่าสมัยที่แล้ว และหลังจากนี้พรรคก้าวไกลต้องทำงานนอกสภามากขึ้น ในสภาก็ต้องมีมาตรฐานไม่น้อยกว่าเดิม ควรจะดีกว่าเดิม แต่นอกสภาจะทำงานให้หนักกว่านี้

การขับเคลื่อนเอาวาระนโยบาย ทั้งร่างกฎหมาย วาระสำคัญที่พรรคก้าวไกลอยากจะผลักดันต้องนำมาขับเคลื่อนกับคนนอกสภามากขึ้นไม่ใช่จำกัดอยู่ที่สภา เรียกว่าฝ่ายค้านเชิงรุก

ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายและผลักดันนโยบายมากกว่านี้ หลาย ๆ เรื่องที่พรรคก้าวไกลอยากผลักดัน ที่เป็นวาระใหญ่ ๆ ไม่ใช่นโยบายหาเสียงแบบฉาบฉวย เพื่อดึงคะแนนเฉพาะหน้า ไม่ใช่พูดในระยะเวลาแค่ 6 เดือน ในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น ต้องอาศัยความเข้าใจกับสังคมมากกว่านี้

“และพรรคก้าวไกลมีความท้าทายที่จะพิสูจน์ นอกจากคนเข้าใจแล้ว คนต้องมองเห็นว่า ต้องปฏิบัติได้ บริหารได้ ในความเป็นจริง ต้องทำงานกับคนนอกสภา ไม่ใช่ทำในสภาเท่านั้น”

บารมี ธนาธร-พิธา ในก้าวไกล

แล้ว “พิธา” กับ “ธนาธร” มีบารมี-อิทธิพลมากน้อยแค่ไหนในพรรคก้าวไกล “ชัยธวัช” กล่าวว่า คุณพิธา ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล มีอิทธิพลแน่นอน และมีความสำคัญในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค แม้ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรค แต่อยู่ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เราก็ทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่

คุณธนาธร เป็นผู้นำทางความคิดคนหนึ่ง คนที่เลือกพรรคก้าวไกลไม่น้อยให้การยอมรับ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นคนหนึ่งที่ริเริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ผ่านพรรคการเมืองที่ทำงานในแบบใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้กลายมาเป็นพรรคก้าวไกล

เราก็ยังเป็นเพื่อนกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์กันบ่อย ๆ อาจนาน ๆ เจอกันทีแต่ ทุกครั้งที่เจอกันก็ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพราะคุณธนาธรไปเจอคนนั้น คนนี้

ก้าวไกล ไม่ใช่พรรคล้มเจ้า

พรรคก้าวไกลถูกแปะป้าย “พรรคล้มเจ้า” ชัยธวัช กล่าวว่า ฉายานี้พยายามถูกสร้างโดยอีกฝ่ายการเมืองหนึ่ง ที่คิดว่าอาศัยเรื่องนี้มาโจมตีพรรคคู่แข่งได้ หรือคิดว่าตัวเองได้ประโยชน์หรือสวมเสื้อคลุมความจงรักภักดี

พรรคก้าวไกลพูดในสภาหลายครั้ง เราอยากเห็นการปรับปรุงพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ในสังคมสมัยใหม่ ภายใต้พลวัตสังคม สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

เป็นโจทย์ให้ฝ่ายที่ตัวเองรู้สึกว่าจงรักภักดี เคารพรักสถาบัน ควรจะต้องคิดให้หนัก มีสติ และใช้ปัญญา ข้อเสนอเรานำไปสู่ตรงนั้น

แต่ต้องยอมรับว่ามีหลายคน หลายฝ่าย ที่พยายามหาประโยชน์หรือสวมเสื้อความจงรักภักดี แม้กระทั่งข้อเสนอนิรโทษกรรมทางการเมือง ก็ออกมาพูดว่าต้องคัดค้าน ยอมรับไม่ได้ กับการนิรโทษกรรม คดี 112 บอกว่า การนิรโทษกรรม ม.112 เป็นการไม่จงรักภักดี ล้มล้างการปกครอง ซึ่งไปกันใหญ่

ผมคิดว่าวันนี้คนที่ออกมาโจมตี กล่าวหาว่าคนนั้นคนนี้ไม่จงรักภักดี ล้มเจ้า คนที่พูดแบบนี้ ปกป้องตัวเองไม่ให้ถูกโจมตีทางการเมือง ปกป้องตนเองเพราะการแสดงบทบาทแบบนี้จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ตัวเองมีอำนาจทางการเมือง ในปัจจุบันหรืออนาคต บางคนอาจได้ผลประโยชน์ คิดถึงการเติบโตหน้าที่การงานของตัวเองในอนาคต บางคนอาจได้ผลประโยชน์ในทางธุรกิจ คนที่สวมเสื้อคลุมแบบนี้กลายเป็นนักต้มตุ๋นในภายหลัง หรือหาคอนเน็กชั่นเครือข่าย จากงบประมาณของรัฐ สุดท้ายหนีคดีไปก็หลายคน

และคนที่คิดปกป้องสถาบัน จริง ๆ โดยบริสุทธิ์ใจ ต้องตระหนักว่าการเที่ยวเอาข้อหาความไม่จงรักภักดีไปแปะป้ายคนอื่น เป็นเงื่อนไขสำคัญมาก ๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และดึงสถาบันเข้ามาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายคนไม่สบายใจ นำไปสู่การฟ้องร้อง มาตรา 112

สุดท้ายพวกคุณกำลังปกป้องตัวเองและแสวงหาประโยชน์จากคำว่าจงรักภักดี จากคำว่าปกป้องสถาบัน และทุกครั้งที่ทำแบบนี้ ถ้าได้ประโยชน์คนที่พูดได้ แต่ถ้าเสียต้นทุนที่ต้องจ่ายไม่ใช่ตนเองแต่เป็นสถาบัน

เช่นการใช้สถาบันมาหาเสียงให้กับพรรคการเมือง โจมตีพรรคอื่นจากการเลือกตั้ง บางพรรคไม่ได้ สส.แม้แต่เก้าอี้เดียว บางพรรคได้ สส.น้อยลงอย่างน่าใจหาย ใครรับผิดชอบกับเรื่องแบบนี้ มีแต่คนเอากำไร จากการสวมเสื้อจงรักภักดี แต่ผลักต้นทุนไปให้สถาบัน