นักลงทุนจีนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้น ปี 67 แห่ลงทุนเพิ่ม หนุนเป็นฮับผลิตอีวีในอาเซียน

เปิดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน Q 1/2567 มั่นใจสัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น แนวโน้มการลงทุนของจีนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ชี้ไทยเหมาะเป็นศูนย์กลางฐานผลิตอีวี

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน ได้สำรวจจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร และกรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีนจำนวน 430 คน

ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม 2566 พบว่านักธุรกิจจีนร้อยละ 60.5 มีความมั่นในว่าการบริโภคและการลงทุนในไตรมาสที่สามปี 2566 มีสัญญาณการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น และจะดีอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี

การสอบถามถึงโอกาสและอุปสรรคต่อเศรษฐกิจไทย พิจารณาจากการส่งออกและปัญหาของหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าและบริการเติบโตเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทที่มีความผันผวน

การสำรวจความมั่นใจในการส่งออกปี 2567 พบว่าร้อยละ 74.4 คิดว่ามีความเป็นไปได้ และร้อยละ 11.7 ลงความเห็นว่าเป็นไปได้มากที่การส่งออกจะขยายตัวตามเป้าร้อยละ 3.6 แต่เมื่อพิจารณาถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 67.3 เห็นด้วย และยังมีร้อยละ 16.7 เห็นด้วยเป็นอย่างมาก ที่หนี้ครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

การลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ร้อยละ 55.0 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ให้ความเห็นว่าการลงทุนโครงสร้างระบบคมมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) นั้น มีความสำคัญมาก และร้อยละ 21.9 ให้ความเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีความสำคัญมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 3.7 ให้ความสำคัญต่อโครงการน้อย

ADVERTISMENT

หากพิจารณาการลงทุนของจีนในประเทศไทยแล้ว สองปีที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด เป็นการลงทุนใน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยสถานการณ์โลกที่มีความขัดแย้ง อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามรบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

นักลงทุนจีนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้น ปี 67 แห่ลงทุนเพิ่ม หนุนเป็นฮับผลิตอีวีในอาเซียน

ADVERTISMENT

การสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามถึงผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนของจีนในประเทศไทยในปี 2567 พบว่าร้อยละ 63.5 คิดว่าการลงทุนจากจีนนั้นยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 16.7 คิดว่าการลงทุนยิ่งเพิ่มขึ้นมากในปี 2567 มีเพียงส่วนน้อยที่คิดว่าการลงทุนจากจีนจะชะลอตัวลง

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากในปี 2566 ผู้ตอบแบบสอบถามมีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนใช้อยู่แล้วร้อยละ 11.8 และร้อยละ 18.8 กำลังวางแผนที่จะซื้อรถไฟฟ้าของจีน ขณะที่มีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ของจีนมากถึงร้อยละ 27.3 ส่วนร้อยละ 5.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีทั้งรถไฟฟ้าจีนและไม่ใช่ของจีนอยู่ในครอบครอง ส่วนร้อยละ 31.1 ยังคงใช้รถยนต์เครื่องสันดาปต่อไป โดยที่ยังไม่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

คำถามต่อเนื่องคือ จีนจะเลือกประเทศใดเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าในอาเซียน ร้อยละ 81.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความมั่นใจว่าจีนจะเลือกไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้า ร้อยละ 6.3 คิดว่าน่าจะเป็นเวียดนาม สำหรับมาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้นเป็นร้อยละ 5.9 และ 5.4 ตามลำดับ

นักธุรกิจหอการค้าไทยจีนจะมีการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจอย่างไร จากสถานการณ์การรบกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ร้อยละ 40.2 มีการเตรียมพร้อมเพื่อลดต้นทุนทางด้านพลังงานและพึ่งพาพลังงานทดแทนมากขึ้น ร้อยละ 35.5 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะจบลงเร็ววัน ดังนั้น จึงยังไม่ได้เตรียมตัวในการปรับแผนธุรกิจ ร้อยละ 12.7 ได้มีการวางแผนเพื่อเร่งหาคู่ค้ารายใหม่ ๆ และร้อยละ 8.2 มีการวางแผนเตรียมพร้อมที่จะลดต้นทุนบุคลากร

นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์กล่าวเสริมว่า จากรายงานของศุลกากรจีน พบว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนกับไทย ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤศจิกายน 2566) มีมูลค่าการค้ารวม 114,792.1 ล้าน เหรียสหรัฐ หดตัว 6.1% (-6.1%)

โดยแบ่งเป็นการส่งออกมายังประเทศไทย มูลค่า 68,951.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.5% (-1.5%) และจีนนำเข้าสินค้าจากไทย มูลค่า 45,840.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 12.3% (-12.3%) ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ที่มูลค่าการค้ารวมหดตัว 5.6% (-5.6%) การส่งออกลดลง 5.2% (-5.2%) และการนำเข้าลดลง 6% (-6%)