ชาวสวนปาล์มยื่นค้าน “กบง.” ปั๊มร่วมโวยลดค่าการตลาด

ยื่นค้าน “กบง.” ปั๊มร่วมโวยลดค่าการตลาด
ภาพจาก Pixabay

ป่วนนโยบายพลังงานรัฐ หลัง กบง.ปรับสูตรลดใช้ไบโอดีเซลเหลือ บี7 ทุบชาวสวนปาล์ม 5 จังหวัดออกโรงโวยแหลก ด้านผู้ค้าปลีกน้ำมัน “พีทีจี” โอดปีนี้โดน 3 เด้ง โควิดทุบดีมานด์ ความไม่ชัดเจนนโยบายหลังตรึงราคาดีเซลลิตรละ 28 บาท 4 เดือน ลดค่าการตลาด 1.40 บาท ทำราคาขายปลีกทุกปั๊มไม่เท่ากัน

หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 มีมติรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ร่วมกับการดูแลค่าการตลาดน้ำมันไว้ที่ระดับ 1.40 บาทต่อลิตร จากที่ กบง.เคยปรับลดไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา จากระดับ 1.80 บาท

และการปรับสูตรลดส่วนผสมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากเดิมที่มี 3 ชนิด คือ บี 7 บี 10 และบี 20 ให้เหลือเพียง บี 7 เป็นเวลา 4 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค. 64-31 มี.ค. 65 จากที่เคยปรับให้เหลือ บี 6 เมื่อการประชุม กบง.ครั้งก่อน มีผล 11-31 ต.ค. 64 ทั้งหมดนี้เพื่อจะช่วยให้ราคาดีเซลปรับลดลงจาก 30 บาทต่อลิตร เหลือ 28 บาทต่อลิตร

อีกด้านหนึ่งถือเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ขอให้ตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร ให้ปรับลดการใช้ไบโอดีเซล เพราะราคาปาล์มปรับสูงขึ้น กก.ละ 9 บาท ทำให้ต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ซึ่งจะนำมาเป็นส่วนผสมในดีเซลหมุนเร็วปรับสูงขึ้นตาม

หากมีการลดสัดส่วนการใช้ เช่น จากบี 20 ไปเป็นบี 7 จะทำให้ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันลดลง เพื่อช่วยผู้ประกอบการขนส่งให้ตรึงค่าบริการขนส่งไว้ ตามที่กลุ่มได้เคลื่อนขบวน truck power ยื่นหนังสือกดดันรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยขีดเส้นว่าหากไม่ได้รับการพิจารณาตามข้อเรียกร้องจะปรับราคาค่าขนส่ง 10% ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งฯเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการขนส่งจะตรึงค่าบริการขนส่งไว้ในอัตราเดิม ยังไม่ปรับขึ้นราคาในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพราะจะมีการเจรจาต่อรองกับกระทรวงพลังงาน ภายหลังจากที่ กบง.ได้พิจารณาลดสูตรการใช้น้ำมันบี 7 แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์

ผู้ปลูกปาล์มยื่นค้านมติ กบง.

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม 5 จังหวัด ได้ประชุมหารือและมีข้อสรุปให้ทำหนังสือคัดค้านมติ กบง. ที่ปรับลดสเป็กเหลือบี 7 โดยส่งเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และขอความชัดเจนใน 15 วัน หากไม่มีคำตอบใด ๆ ออกมาก็พร้อมที่จะยกระดับเข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ จากการร่วมหารือกันของเกษตรกรมีข้อสรุปว่า มติของ กบง.ไม่เห็นชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจที่จะประกาศใช้นโยบายให้ปรับสเป็กน้ำมันเหลือบี 7 ชนิดเดียว และไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนนโยบาย การปรับลดบี 20 บี 10 ให้เหลือบี 7 โดยยังต้องการให้คงการใช้เหมือนเดิม

ที่สำคัญคือ มติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตปาล์มน้ำมัน ทั้งอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลและแปรรูป ทั้งนี้ รัฐบาลควรพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบให้เกิดความเป็นธรรม เร่งวางพื้นฐาน ปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ

“การออกมติดังกล่าวไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่ผลปาล์มน้ำมันกำลังจะออก และส่งผลกระทบกับราคาผลปาล์มที่จะเริ่มออกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และออกมากสุดช่วง มี.ค.-เม.ย. 2565 ส่วนราคาปาล์มตอนนี้อยู่ที่ 7-9 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันปาล์มดิบ 44 บาทต่อกิโลกรัม สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 2.5 แสนตัน หากส่งออกไม่ได้ก็ยิ่งกระทบหนัก”

ลดค่าการตลาดทุบผู้ค้าน้ำมัน

อีกด้านหนึ่ง ฝั่งผู้ค้าปลีกน้ำมันก็ได้รับผลกระทบจากการกำหนดนโยบายพลังงาน หลังจากที่ กบง.เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 มีมติให้ลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซล จาก 1.80 บาท เหลือ 1.40 บาท

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ผู้ให้บริการน้ำมันแบรนด์พีที เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ผู้ค้าประสบกับปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่อง จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับจาก 60-65 เป็น 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสถานการณ์โควิดที่หนัก และนโยบายภาครัฐโดยเฉพาะนโยบายการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ชัดเจนส่งผลต่อผู้ประกอบการค้าน้ำมัน โดยบริษัทประเมินในช่วงต้นปีว่าสถานการณ์แนวโน้มจะดีขึ้น

กระทั่งเข้าเดือนกันยายนที่พบการติดเชื้อทะลุหลักหมื่น น้ำท่วมฝนตก ประชาชนลดการเดินทาง ธุรกิจต่าง ๆ เอสเอ็มอี ท่องเที่ยว ภัตตาคาร การบินต่างได้รับผลกระทบ และธุรกิจน้ำมันของบริษัทก็ติดลบเป็น 10% สิ่งที่สำคัญคือ ดีมานด์ในไตรมาส 3 ที่ลดลงมา บวกกับการปรับลดค่าการตลาดที่อ่อนตัวลง และสุดท้ายไตรมาส 4 เดือนตุลาคมนี้ ในประเทศกลับมีดีมานด์เพิ่มขึ้นหลัง 1 พ.ย. แต่ก็มีนโยบายพลังงานที่สับสนออกมาอีกว่าจะเอาอย่างไร

“เพราะตอนสมัยคุณศิริ อดีตรัฐมนตรีพลังงานเร่งผลักดันไบโอดีเซล บี 20 เราก็เป็นเด็กดีขยายเร็วที่สุดในบรรดาบริษัทน้ำมัน ทำปาล์มคอมเพล็กซ์ และพอทำ ๆ มาตอนนี้บอกไม่เอาแล้ว มติวันที่ 11 ต.ค. 2564 สับสนที่สุด เจอไป 3 บาท หลักการง่าย ๆ คือ น้ำมันใต้ดินในถังเหลือเท่าไร หายไปคูณ 3 เลย สมมุติน้ำมันดีเซลถือไว้ 40 ล้านลิตร หายไป คูณ 3

ส่วนเรื่องการดูแลค่าการตลาด 1.40 บาทต่อลิตร บริษัทได้เข้าพบ รมว.พลังงาน พร้อมรายงานว่า ลึก ๆ อยู่ไม่ได้หรอก แต่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ปักหมุด 1.40 บาทต่อลิตร โดยไม่ได้ถามว่าจะอยู่ได้ไม่ได้ และแม้จะใช้เฉพาะดีเซล แต่จริง ๆ แล้วเบนซินก็ไปหมด”

ทั้งนี้ การลดค่าการตลาด 1.40 บาท ก็ส่งผลต่อผู้ค้าปลีกรายอื่น (ปตท. บางจาก) ก็เหนื่อยเช่นกัน แต่ละบริษัทมีต้นทุนและความจำเป็นไม่เหมือนกัน แต่ด้วยเหตุที่เขามีโรงกลั่น ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นไรเพราะราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นปีนี้ ต่างจากบริษัทเราที่ซื้อมาขายไปอย่างเดียว

มติ 1 ธ.ค. ฉุดยอดไฮซีซั่น Q4

นายพิทักษ์กล่าวว่า บริษัทต้องพิจารณาทบทวนเป้าหมายที่วางไว้ 1-2% อีกครั้ง หลังจากที่ผ่านพ้นวันที่ 1 ธ.ค. นี้ไปแล้ว ว่าจะมีผลเป็นอย่างไร โดยต้องพิจารณาจาก 1) รัฐจะยังคงตรึง 28 บาทต่อลิตร 2) ผลจากค่าการตลาด 1.40 บาท และ 3) ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

“ปัญหาของเราจริง ๆ ก็งงว่าสุดท้ายจะพยายามให้อยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึง 4 เดือนหรือไม่ หากต้นทุนน้ำมันปรับสูงขึ้น หรือต่ำกว่า 28 บาทต่อลิตร แล้วค่าการตลาดจะปรับอย่างไร ถ้าน้ำมันลดลงไปต่ำกว่า 28 บาทต่อลิตร เช่น เหลือ 26 บาท แล้วค่าการตลาดจะยังควรคงไว้ที่ 1.40 บาทหรือไม่ หากดูจากประวัติ สนพ.เคยบอกว่า ค่าการตลาดที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1.80-1.90 บาท เราก็บอกว่าจุดนี้ คือจุดที่เราอยู่ได้ แต่ละบริษัทก็คนละต้นทุนต่างกัน เขาอาจจะอยู่ได้ และวันนี้เราจะเห็นว่าตอนนี้ระดับราคาน้ำมันแต่ละแบรนด์ไม่เท่ากัน ต่างจากเมื่อ 13 ปีก่อน เดือน 6 ปี 2551 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขึ้นไป 100 กว่าเหรียญสหรัฐ”

“ส่วนคำถามว่าราคาที่ไม่เท่ากันแต่ละปั๊มมีผลต่อปริมาณการขายหรือไม่ ต้องรอดูหลังจากนั้น ตอนนี้ต้องประคองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและพนักงานที่ต้องดูแล 18,000 ชีวิต ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการสนองนโยบายภาครัฐ”

ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาดูสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือน ธ.ค.ว่าจะมีทิศทางอย่างไร หากราคาลดลงจะช่วยลดแรงกดดันได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้การที่สหรัฐประกาศเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงพันธมิตรช่วยดึงให้ราคาลดลงไปได้ 1-2 วัน เหลือ 79 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันนี้น้ำมันดิบในตลาดเบรนต์ 81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนแนวโน้มปีหน้า หลายค่ายคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 71-75 เหรียญสหรัฐ แต่บริษัทมองว่าสถานการณ์ยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่ชัดเจนว่าทางสหรัฐจะดำเนินมาตรการอย่างไรต่อ เข้าใจว่าเศรษฐกิจอเมริกาก็มีปัญหา

“ในส่วนปาล์มคอมเพล็กซ์ที่ผลิตไบโอดีเซลบี 100 ขณะนี้ผลิตวันละ 15 ล้านลิตร เต็มกำลังการผลิต 100% แต่ความต้องการใช้มากถึง 20 ล้านลิตร ดีมานด์เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่หายไปในไตรมาส 3 ซึ่งผลจากการปรับสูตรอาจจะไปลดปริมาณการใช้ (ดีมานด์) หาย ซัพพลายเท่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจเกษตรกร เพราะในอดีตราคาผลปาล์ม กก.ละ 3-4 บาท แต่ปัจจุบันนี้ กก.ละ 8-9 บาท ทำให้ไบโอดีเซล 40 กว่าบาท”